“SCG ไม่ได้สร้างแค่องค์กรต้นแบบ แต่สร้างคนต้นแบบให้ออกไปขยายผล”
ก่อนที่ ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefin and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จะเอ่ยประโยคข้างต้น THE STANDARD ชวนคุยถึงประเด็นที่ว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของแนวคิด Circular Economy และการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ นำไปสู่บางซื่อ โมเดล ตั้งเป้าใหญ่ที่จะบริหารจัดการขยะ (Waste Management) เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Zero Landfill และเป็นองค์กรต้นแบบที่พนักงานดำเนินชีวิตในวิถี SCG Circular Way
ศักดิ์ชัยเชื่อมั่นว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยการจัดการความคิด ก็จัดการขยะได้ เมื่อมองกลับมาที่แนวคิดของ SCG ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ “จะเห็นว่า SCG ทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันเราดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน นี่เป็นนโยบายหลัก ถ้าทำธุรกิจแล้วมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ไม่เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิกฤตทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกเป็นวิกฤตเร่งด่วน SCG จึงนำแนวคิด Circular Economy มาปฏิบัติ”
อธิบายแบบรวบรัด Circular Economy คือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คีย์หลักคือ Make-Use-Return ผลิต ใช้ และหมุนเวียนนำกลับเข้าระบบอีกครั้ง โดยผู้ผลิตจะต้องสร้างนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด และต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย เพื่อนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม
ถ้ายังมองการปฏิบัติในรูปแบบเดิม องค์กรใหญ่ขนาดนี้หากจะปรับโครงสร้างองค์กรให้ดำรงวิถี Circular Economy ‘กฎระเบียบ’ เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด แต่ SCG เชื่อในพลังจิตสำนึกของพนักงาน จึงเลือกสร้างองค์กรต้นแบบจากการสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน “ต้องเริ่มจากระดับ Top Management ก่อน สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นถึงความจำเป็นในการนำแนวคิด Circular Economy มาปฏิบัติ และถ้าแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จจะส่งผลดีต่อตัวเขา องค์กร และโลกเราอย่างไร เมื่อระดับ Top Management เห็นภาพเดียวกัน ก็ค่อยๆ สร้างความเข้าใจภายในองค์กร เมื่อทุกคนเข้าใจตรงกัน มันก็เกิดความมุ่งมั่นและร่วมกันผลักดันให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริง”
SCG ไม่มีข้อบังคับกฎระเบียบใดๆ ในการลงโทษพนักงานหากไม่ปฏิบัติตามแนวคิด Circular Economy มีเพียงพลังของกฎหมู่… ที่จู่ๆ คุณจะกลายเป็นคนประหลาดในสังคมถ้าไม่แยกขยะ ในขณะที่คนอื่นๆ แยกขยะกัน “เปลี่ยนพฤติกรรมคนยากกว่าการเปลี่ยนถังขยะนะ” ศักดิ์ชัยอธิบาย “ผมนำถังขยะประเภทต่างๆ มาวาง มันก็คือถัง แต่หลังจากนั้นการจะให้คนเห็นด้วยและเปลี่ยนพฤติกรรมแยกขยะให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่เราพยายามทำต่อเนื่องมา แต่ถ้าถามว่าเรามาถึงจุดที่เราประกาศว่าเราสำเร็จทั้งหมดหรือยัง ผมคิดว่ายังต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าดีขึ้นไหม มันดีขึ้นมาก
“ตอนเริ่มต้นเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหารือว่าจะสร้างโมเดลอย่างไร แค่จะสรุปว่าต้องใช้ถังขยะกี่ใบยังใช้เวลาเป็นเดือนเลย และคำถามต่อมาคือ เราจะทิ้งขยะอย่างไร ต้องแยกออกมากี่ประเภท จริงๆ ถ้าแยกขยะเปียกกับขยะแห้งเราประสบความสำเร็จไปแล้ว 70% แค่ไม่เอาขยะเปียกไปผสมกับขยะแห้ง ขยะแห้งจะมีมูลค่าทันที และการแยกแยะของขยะแห้งจะง่าย แต่ถ้าทิ้งรวมกันก็จะทำให้กลายเป็นขยะไม่มีคุณภาพ
“เราบินไปถึงโยโกฮาม่า ไปดูกระบวนตั้งแต่ A-Z ว่าทำไมประเทศเขาถึงพัฒนาได้ขนาดนี้ จุดเริ่มต้นเกิดจากอะไร มีเตาเผาขยะชั้นดี สิ่งแวดล้อมดีเยี่ยมไปหมด กลับมาเพื่อจะตอบว่าเราจะแยกกี่ถัง สุดท้ายตกลงกันที่ 6 ถัง พอ D-Day ปุ๊บ เราเก็บถังขยะเดี่ยวหมด บางซื่อจะไม่มีถังขยะเดี่ยวอีกต่อไป แรกๆ ชุลมุน คนยังไม่เข้าใจว่าขยะแบบนี้จะทิ้งลงถังไหน แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เกิดการเรียนรู้ กลายเป็นพฤติกรรม พอยิ่งคนทำเยอะ ก็เกิดเป็นกฎหมู่ คุณอยู่ในสังคมนี้แล้วไม่ทำตาม คนข้างๆ ก็จะประณามเอง”
ศักดิ์ชัยยังบอกอีกว่า สิ่งที่ทำถือว่าประสบความสำเร็จเพียงเริ่มต้น เพราะ Circular Economy ต้องทำอย่างต่อเนื่องและหาแนวทางพัฒนาไปเรื่อยๆ “เราให้คณะกรรมการลงพื้นที่จริง จะได้เห็นปัญหาจริง เดินไปชั้นไหนเจอแม่บ้านก็ให้เขาพรีเซนต์เลยว่าเป็นอย่างไร เจอปัญหาอะไร หรือมีอะไรแนะนำ ส่วนใหญ่แม่บ้านจะชมว่าโครงการนี้ทำให้เขาเก็บขยะง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีบางจุดที่ต้องปรับ เช่น แรกๆ ได้คอมเมนต์มาว่าถังเศษอาหารทิ้งยาก เวลาเปิดต้องใช้มือ มันสกปรก ก็กลายมาเป็นดีไซน์ถังใหม่ หรือเจอเศษไม้ลูกชิ้นใน Food Waste ทีมคอมมูนิเคชันก็เสนอแคมเปญเลย รณรงค์ให้คนสงสารหมูนะ ทำภาพหมูมีไม้ติดคอ เพราะ Food Waste ต้องเอาไปให้สัตว์กิน ถ้าทิ้งแบบนี้คุณกำลังทำร้ายสัตว์”
SCG มีเครื่องทำปุ๋ย เพราะต้องการนำ Food Waste ไปทำปุ๋ย และนำปุ๋ยที่ได้มาปลูกต้นไม้ภายในบางซื่อ “เราปักป้ายให้พนักงานรู้เลยว่าต้นไม้ที่เติบโตนี้เกิดจากพวกเราที่ร่วมไม้ร่วมมือทำให้เรามีปุ๋ยใช้ และสร้างความสวยงามให้เกิดขึ้น”
นำปุ๋ยที่ได้จากเศษอาหารออกจากเครื่อง และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
“ล่าสุดเราจัดกิจกรรมภายในองค์กร เพื่อประกาศและสร้าง Commitment ร่วมกัน ว่าเราอยากเป็น Zero Landfill ที่บางซื่อ ไม่ให้เหลือขยะไปฝังกลบเลย
“มีพนักงานหลายคนเริ่มเอาขยะที่บ้านมาทิ้งที่ทำงาน เนื่องจากที่ SCG มีที่แยกขยะชัดเจน ผมบอกเอามาเยอะๆ เลย เพราะคุณยิ่งแยก เรายิ่งได้สตางค์ แล้วเราก็เอาเงินไปพัฒนาให้ส่วนรวม ทำไปเรื่อยๆ ยิ่งเห็นประโยชน์จากการทำ ยิ่งเห็นว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องคน แต่มันเป็นเรื่อง Mindset และพฤติกรรมนั้นมันส่งผ่านไปที่บ้านและครอบครัวของพนักงานด้วย มันเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคน”
สิ่งที่ศักดิ์ชัยย้ำตลอดการพูดคุยในประเด็นที่ SCG เป็น ‘องค์กรต้นแบบ’ ได้อย่างที่เห็นคือ ต้องสร้างจิตสำนึก ไม่ใช่สร้างกฎระเบียบ และยังให้อิสระกับพนักงานที่จะเสนอไอเดียเพื่อช่วยผลักดันแนวคิด Circular Economy “ใครมีไอเดียอะไรที่จะช่วยให้เกิดการรีไซเคิล การแยกขยะ ทำเลย เพราะเราสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติ อันไหนทำแล้วไม่ดีก็แก้ไขและเรียนรู้จากมันเพื่อไปพัฒนาต่อ ย้อนกลับไปวันที่ SCG เริ่มต้นทำบางซื่อ โมเดล ถ้าเรายังมัวแต่คิดหาวิธีที่เพอร์เฟกต์ที่สุดก็คงไม่ได้เริ่ม ทุกอย่างมันเริ่มจากการลองผิดลองถูก ลงพื้นที่และช่วยกันปรับปรุงไป มันจึงค่อยๆ เกิดขึ้นมา และอีกหลายโครงการมันจึงเกิดขึ้นตามมา เพราะฉะนั้น ปฏิบัติและปฏิบัติ”
อย่าลืมว่า Circular Economy ไม่ได้พูดถึงเรื่องปลายน้ำอย่างการแยกขยะหรือลดการใช้เท่านั้น แต่เริ่มต้นกันตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นคือ ‘ผลิตภัณฑ์’ ศักดิ์ชัยอธิบายว่า การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ของ SCG ต้องคิดว่านอกเหนือจากแค่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค แต่สินค้าที่ผลิตต้องคงทนมากขึ้น ยืดอายุการใช้งาน นำกลับมาซ่อมได้ และเมื่อหมดอายุการใช้งานจะมีวิธีบริหารจัดการสิ่งนั้นอย่างไร “ยกตัวอย่างแนวคิดเรื่องการดีไซน์สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างของ SCG ในโมเดลธุรกิจเดิม ช่างหรือสถาปนิกเวลาออกแบบหรือซื้อวัสดุก็มักจะเผื่อการใช้งาน คิดเผื่อ ซื้อเผื่อ สุดท้ายมันก็เกิดขยะหรือกากอุตสาหกรรมที่ต้องไปกำจัด ยิ่งถ้าจัดการไม่ถูกต้องจะกลายเป็นขยะ ทางกลุ่มธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเราจึงมีแนวคิดที่ว่า จะทำงานร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างทั้งหมด ตั้งแต่ออกแบบ คำนวณปริมาณวัสดุที่จะใช้หน้างานจริง เช่น ท่อน้ำ ต้องดีไซน์ว่าห้องไซส์นี้ใช้ขนาดเท่าไร แล้ว Pre-built เพื่อให้ท่อนั้นนำไปใช้ในพื้นที่ที่เหมาะสมในปริมาณที่ถูกต้อง เพื่อลดขยะในไซต์งานก่อสร้าง”
การสร้างความร่วมมือระหว่าง SCG และหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ SCG ผลักดันมาตลอด ดูอย่างการจัดงานสัมมนา SD Symposium 10 Years: Circular Economy – Collaboration for Action เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็มุ่งเน้นประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิด Circular Economy อย่างยั่งยืน ศักดิ์ชัยเล่าเสริมว่า ไม่แต่เฉพาะการจัดงาน SD Symposium เท่านั้น แต่ SCG ยังลงไปทำงานกับภาคส่วนต่างๆ อย่างจริงจัง
“SCG มีทีมงานเข้าไปร่วมผลักดันเรื่องเหล่านี้กับทุกภาคส่วน เช่น PPP Plastic (Thailand Public Private Partnership for Plastic and Waste Management) เราก็ส่งคนเข้าไปช่วยกันขับเคลื่อน ผลักดันเรื่องกฎหมายก็ดี หรือการทำให้เป็นต้นแบบทางภาคราชการที่ทำงานร่วมกับเอกชน หรือแม้แต่ในภาคเอกชนล้วนๆ ที่มีความคิดแบบนี้ ไม่ว่าหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรม เรามีคนเข้าไปร่วม จัดตั้งวง Circular Economy เพราะเราเชื่อว่าหอการค้าเป็นองค์กรที่มีพลังมาก มีสมาชิกเป็นแสนทั่วประเทศไทย ถ้าผู้ประกอบการจะช่วยกันสร้างจิตสำนึกโดยนำกระบวนการบางอย่างให้เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด และผลักดันการขับเคลื่อนโดยสมาชิกทั้งหลาย ถ้าช่วยกันทำแบบนี้ มันจะออกมาได้เร็วและอิมแพ็กมาก”
ภาพกว้างๆ ที่เห็นชัดๆ เลยก็เช่น การร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย นำพลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้วและถุงใส่อาหารมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย โดยได้สร้างต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิลขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ต่อยอดให้เกิดความร่วมมือกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท SC Asset และ CP All นำไปสู่โครงการ 7 Go Green ทำถนนพลาสติกรีไซเคิล หน้าร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven
หรือความร่วมมือกับ เทสโก้ โลตัส นำกล่องบรรจุสินค้าที่ใช้แล้วจากเทสโก้ โลตัส กลับสู่โรงงานเพื่อรีไซเคิลเป็นกระดาษใหม่ จัดตั้ง Green Corner จำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้แบรนด์เฟสท์ (Fest) และติดตั้งเครื่องรีไซเคิล Reverse Vending Machine เพื่อให้ลูกค้านำขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมมารีไซเคิลได้ที่ตู้ เพื่อนำกลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วผลิตเป็นถุงช้อปปิ้งให้ลูกค้านำกลับมาใช้แทนถุงพลาสติกตามแนวคิด Circular Economy
สุดท้ายแล้วต่อให้องค์กรทุกภาคส่วนนำวิธีการทำงานของ SCG ไปใช้ในองค์กร จัดวางถังขยะ 6 ถังตามจุดต่างๆ รณรงค์ให้พนักงานใช้ถุงผ้าหรือนำเสนอไอเดียใดๆ ก็ตาม แต่หากตัวบุคคลเองไม่มีความตระหนักรู้อย่างแท้จริง ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณการใช้ และรู้จักแยกขยะ แนวคิดดังกล่าวก็อาจไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ที่สำคัญหากองค์กรไหนที่เห็นความสำคัญและอยากจะลงมาอยู่ในลูป Circular Economy สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือ ‘ทัศนคติของผู้นำองค์กร’
“ผู้นำองค์กรต้องมีความสนใจอย่างแรงกล้า ถ้าผู้นำองค์กรสูงสุดไม่ว่าผู้ใหญ่บ้านหรือซีอีโอของบริษัทไม่อินในเรื่องนี้แล้วไปเริ่มทำ มันก็จะกลายเป็นการทำเอาหน้า แต่ถ้าจะคิดทำจริงจัง ผมว่าการเข้าใจในคอนเซปต์ว่าทำไปเพื่ออะไร นี่คือจุดเริ่มที่จะนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน”
ศักดิ์ชัยมีทัศนะว่า ถึงอย่างไรในภาพรวมระดับประเทศอาจจะต้องเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายร่วมด้วย ถ้าประชาชนทั่วไปยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องและความเชื่อมั่นในโครงการการจัดการขยะ “เวลาคุยภาคประชาชน เราจะเห็นคำตอบออกมา 2 แบบคือ บางคนก็ไม่ตระหนักเลย เขาไม่ได้สนใจอะไร แต่เชื่อว่าถ้าเขาได้มานั่งฟัง ได้ความรู้ ไม่มีใครที่ปฏิเสธว่าการแยกขยะเป็นสิ่งไม่ดี กับอีกกลุ่มที่เชื่อแล้วว่ามันดี แต่ไม่เชื่อในโครงสร้างการบริหารจัดการขยะของบ้านเรา เขาทิ้งแยกเดี๋ยวก็เอาไปรวม ไม่รู้จะแยกไปทำไม แล้วหลุมฝังกลบบ้านเราก็มากขึ้น ขยะเมืองมากขึ้น มันยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม
“ดังนั้นการให้ความรู้ภาคประชาชน หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาช่วย คนอีกกลุ่มที่บอกว่ารู้และไม่ปฏิบัติเลย สุดท้ายก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย หลังจากทำโครงสร้างให้ดี มีการบังคับใช้กฎหมาย ก็ไม่เป็นการยากเลยถ้าเราปฏิบัติตามนั้น เพราะสุดท้ายปลายทางมันคือการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น”
SCG Circular Way – โลกหมุนด้วยมือเราทุกคน
เรียนรู้และค้นหาวิธีปฏิบัติตามวิถี SCG Circular Way เพื่อช่วยโลกของเราไปด้วยกัน คลิก bit.ly/31UNgin
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า