SCBS Wealth Research บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเติบโตจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่การบริโภคภายในประเทศกลับไม่สดใสนัก เนื่องจากเม็ดเงินยังไม่กระจายลงไปถึงทุกระดับ จนเมื่อไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ที่ผ่านมา ตัวเลขการบริโภคเอกชนขยายตัวดีกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจเป็นไตรมาสแรกในรอบ 4 ปี และสำนักวิจัยเศรษฐกิจของภาครัฐก็ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างทั่วถึงแล้ว และทิศทางจะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562
เมื่อพิจารณารายละเอียดจะพบว่าการบริโภคที่ฟื้นตัวนั้นเป็นผลจากสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งเป็นการบริโภคของประชาชนในระดับกลางถึงสูง แต่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทนซึ่งสะท้อนเรื่องการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปของประชาชนอย่างเครื่องนุ่งห่ม และสินค้าไม่คงทนอย่างอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รวมถึงการบริการ ยังขยายตัวในระดับต่ำและมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แสดงว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึงอย่่างที่เข้าใจ
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ประเมินทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 ว่าจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงอีกจากปี 2561 ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ยอดขายรถยนต์ที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ และกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทน 2.ภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะขยายตัวลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และ 3.รายได้ของเกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัว ขณะเดียวกันเสถียรภาพด้านการเมืองก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการบริโภคระยะต่อไปด้วย
จึงคาดว่าการเติบโตของยอดขายสาขาในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Same Store Sales) ที่นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ติดตามในปี 2562 อาจขยายตัวที่ประมาณ 1.9% ต่อปี ชะลอลงจากปี 2018 ที่ขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี แม้การประมาณการดังกล่าวจะคำนวณจากปัจจัยเชิงมหภาคลงมา ไม่ใช่จากแนวโน้มการดำเนินงานของแต่ละบริษัท แต่การประมาณการดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่าแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของไทยในปี 2562 จะชะลอจากปี 2561 ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์