ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่ของไทยคือ การลงนามตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่มีต่อสินค้านำเข้าจากไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคมนี้
โดยแถลงการณ์ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า สหรัฐฯ จะระงับสิทธิ GSP สินค้านำเข้าจากไทย เช่น มะม่วง สับปะรด อุปกรณ์ทำเล็บ ท่อเหล็ก และอัญมณี มูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการเจรจาเพื่อให้สินค้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดไทยไม่มีความก้าวหน้า
ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ ออกมาเพื่อลดการขาดดุลการค้าของไทย เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 19.7% ในเดือนกันยายน แต่การนำเข้าหดตัวต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ไม่ยอมรับ และพยายามใช้มาตรการตัดสิทธิ GSP มาโดยตลอด และเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการนี้มากขึ้น หากประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง
จากการประเมินเบื้องต้น มูลค่าการส่งออกที่อยู่ภายใต้สิทธิ GSP นั้นคิดเป็นประมาณ 0.4% ของมูลค่าการส่งออกต่อปีทั้งหมดของไทย จึงคาดว่ามีผลกระทบค่อนข้างจำกัด และสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP นั้นอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมที่คิดเป็นมูลค่าทางการตลาดทั้งหมดไม่เกิน 5% ของมูลค่าตลาดรวม ทำให้เรามองว่าประเด็นนี้เป็นผลกระทบเชิง Sentiment กับตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นที่ไม่มีข่าวดีสนับสนุน
ในรายบริษัทตามเอกสารที่เผยแพร่ กล่าวโดยย่อคือมีประมาณ 200 รายการที่อยู่ในอุตสาหกรรม เช่น
– ผลผลิตทางการเกษตรบางชนิด
– ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์
– สินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท
– เครื่องครัวที่ทำมาจากอะลูมิเนียม
– อาหารอบแห้งบางชนิด
– วัสดุสิ่งทอบางชนิด
ฝ่ายวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นกลุ่มที่โดนเยอะ ผลิตภัณฑ์ยาง แต่ไม่มีเน้นถุงมือยาง
โดยกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์น่าจะกระทบช่วงสั้นแต่ปรับตัวได้ ซึ่ง บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) มีโรงงานในสหรัฐฯ Delta เป็นผู้ผลิตและส่งออก AC Converter ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการส่งออกจากที่อื่นได้
แต่จากการเช็กกับทางบริษัท พบว่าหลายบริษัท เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF), บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL), บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH), บมจ.ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY), บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ไม่ได้ใช้สิทธิ GSP ทำให้ผลกระทบลดน้อยลงจากเดิมอีก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์