×
SCB Omnibus Fund 2024

SCB Wealth ประเมิน ศก.ไทยครึ่งปีหลังขยายตัวไม่มาก ทั้งปี GDP โตแค่ 3% แนะลงทุนหุ้นกลุ่มยั่งยืน พลังงานสะอาดและเฮลท์แคร์

12.09.2022
  • LOADING...

SCB Wealth ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3-4 ขยายตัวไม่มาก GDP ปีนี้อยู่ที่ประมาณ 3% แนะกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มที่รับอานิสงส์เปิดเมืองดอกเบี้ย และเงินเฟ้อปรับขึ้น ขณะที่ BlackRock และ Schroders ชูธีมลงทุนด้านพลังงานสะอาด หุ้นกลุ่มยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และเฮลท์แคร์

 

ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา ‘SCB First Investment Outlook 2022: Navigating Through the Recession & Inflation Risks’ ให้แก่กลุ่มลูกค้า First ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากประชาชนเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้ภาคบริการและการผลิตประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงทำให้ค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น และราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น แม้ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวลง จากปัจจัยราคาอาหารและพลังงานที่ลดลง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดย SCB CIO คาดว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ซึ่งพิจารณาจาก Core Inflation ประกอบด้วย ราคาที่อยู่อาศัย ค่าเช่าบ้าน  ค่าขนส่ง หรือราคารถยนต์ เริ่มปรับตัวลดลงจากการที่สหรัฐฯ ใช้ยาแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้อุปสงค์ลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงช้าๆ จนกลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2024 ส่วนยุโรป ทิศทางเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป หากขาดแคลนพลังงาน จะส่งผลให้โรงงานต่างๆ ผลิตสินค้าได้น้อยลง ภาคบริการก็อาจจะลดลง ดังนั้นประเทศแถบยุโรปมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า  

 

สำหรับเงินเฟ้อในประเทศไทยยังไม่ผ่านจุดสูงสุด และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจนพีคที่ไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น แต่ในปีนี้มีทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออก และบริการที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยว ประมาณ 10 ล้านคน และในปี 2024 จะมีประมาณ 40 ล้านคน เท่ากับช่วงก่อนโควิด ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินเฟ้อไทยอาจจะปรับตัวลดลงเร็ว หากราคาอาหารและพลังงานลงมาสู่ระดับที่เหมาะสม    

 

ปัจจุบันรายได้ของคนไทยติดลบเมื่อหักด้วยเงินเฟ้อ เพราะรายได้เพิ่มขึ้นช้ามาก ประชากรไทยประมาณ 15 ล้านครัวเรือน มีรายได้เมื่อหักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพียงพอต่อรายจ่าย รายได้มากกว่ารายจ่าย แต่อีก 8 ล้านครัวเรือนที่หักลบด้วยเงินเฟ้อ มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ประชาชนต้องนำเงินออมมาใช้ หนี้ภาคครัวเรือนของกลุ่ม 15 ล้านครัวเรือนมีหนี้ประมาณ  2.4 ล้านล้านบาท ส่วนกลุ่ม 8 ล้านครัวเรือนที่รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้ 2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ความเปราะบางของหนี้จะเพิ่มมากขึ้นเพราะรายได้ลดลง ซึ่งอาจจะกระทบต่อสถาบันการเงิน เพราะมีโอกาสเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้   

 

ทั้งนี้ จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเหมือนสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ปรับขึ้น 0.25% เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ดังนั้นจึงคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % ไปอีก 3 ครั้งในปีนี้ และหากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ปีหน้าอาจจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง 

 

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (Innovest X) เปิดเผยว่า การลงทุนในหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่มีสภาพคล่องสูง สามารถเลือกบริษัทหรือเซ็กเตอร์ได้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกหรือภาวะตลาดอาจจะไม่ดี แต่ทุกครั้งที่มีหุ้นลงก็จะมีหุ้นบางกลุ่มที่ปรับตัวขึ้น จึงเหมาะสำหรับการนำเงินบางส่วนมาลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง 

 

โดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวมากนัก จากตัวเลข GDP ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์มองว่าอยู่ที่ประมาณ 1,650 จุด และกรอบการเคลื่อนไหวสามารถไปได้ถึง 1,750 จุด ซึ่งตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์ของเม็ดเงินจากต่างประเทศ  ตั้งแต่ต้นปีเงินไหลเข้ามาลงทุนประมาณ 150,000 ล้านบาท ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้น 

 

สุกิจกล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสิ่งแวดล้อมจากภัยแล้ง ซึ่งราคาหุ้นได้สะท้อนไปในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ที่มีการปรับตัวลงค่อนข้างลึกอยู่ในระดับ 1,500 จุด อาจเป็นช่วงที่ต่ำสุดของดัชนีหุ้นไทยในปีนี้ แม้ปัจจัยเสี่ยงยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม  

 

ทั้งนี้ เซ็กเตอร์ที่ราคาหุ้นปรับตัวเป็นบวก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว การแพทย์ และขนส่ง และคาดว่าผลประกอบการน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดเมือง ส่วนเซ็กเตอร์ที่ได้รับปัจจัยเชิงบวกจากภาวะเงินเฟ้อ ได้แก่ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาหาร และพลังงาน เซ็กเตอร์ที่ได้รับผลทางบวกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มธนาคาร และประกัน  

 

“ทีมงานนักวิเคราะห์ของ InnovestX ได้ทำการวิเคราะห์หุ้น จาก SET50 และ SET100 พบว่าแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มท่องเที่ยว ประกัน อิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร สื่อสาร ไฟแนนซ์ และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะมีทิศทางของผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังเป็นบวก กลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ดี” สุกิจกล่าว 

 

ด้าน ธณาพล อิทธินิธิภัค Director and Head of Thai Business, BlackRock  เปิดเผยว่า นักลงทุนอาจจะต้องอยู่กับความผันผวนด้านการลงทุนอีกพักใหญ่ ทั้งจากปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั่วโลก และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ จึงแนะนำนักลงทุนปรับพอร์ตให้แอ็กทีฟมากขึ้นตามความผันผวน โดยลงทุนทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว เนื่องจากไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีได้ตลอดทุกปี จึงควรที่จะกระจายการลงทุนให้เหมาะสมกับสินทรัพย์ที่หลากหลาย และต้องมีระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์ที่ไม่สั้นเกินไป เพื่อให้สินทรัพย์เหล่านั้นมีเวลาในการสร้างผลตอบแทนได้ 

 

ทั้งนี้ BlackRock แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ กลยุทธ์การลงทุน 1  ปีขึ้นไป (Strategy View) และกลยุทธ์การลงทุนประมาณ 3-6 เดือน (Tactical View) มองว่าการลงทุนในระยะยาวยัง Bull Risk อยู่มาก ส่วนระยะสั้นและระยะกลางยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้ต้นทุนบริษัทจดทะเบียนต่างๆ สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท การลงทุนในระยะยาวคงแนะนำลงทุนในหุ้น เพราะเป็นตราสารที่ชนะเงินเฟ้อ และเติบโตได้ในระยะยาว ตราสารหนี้ โดยรวมได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond) บางบริษัทมีกระแสเงินสดดี จ่ายผลตอบแทนสูง โดยมีกว่า 50% ให้ผลตอบแทนมากกว่า 4% ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของตลาดในช่วงระยะสั้นถึงกลางได้  

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น เพราะสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว พันธบัตรรัฐบาล ลดน้ำหนักการลงทุนลง (Underweight) ทั้งในส่วนของ Strategy View และ Tactical View แต่ให้น้ำหนักกับ Corporate Bond ประเภทกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) ส่วนสินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ให้เป็นน้ำหนักเป็นกลาง (Neutral) นักลงทุนส่วนใหญ่ยังลงทุนน้อย (Under Invest) เราเน้นให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและลดความผันผวนของพอร์ตลงได้    

 

ทั้งนี้ การจัดพอร์ตของ BlackRock จะมองไป 5 ปีข้างหน้า นำตัวเลขความเสี่ยง 6 ปีย้อนหลังมาประกอบรวมกัน แล้วสร้างเป็นโมเดลการจัดพอร์ตแบบเดิม คือในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% แต่ได้ปรับโมเดลใหม่ โดยลดหุ้น ลดตราสารหนี้ แล้วเพิ่มสินทรัพย์ทางเลือก 30% ส่งผลให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงลดลง 

 

ส่วนธีมการลงทุนจะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ 

 

  1. กลุ่ม ESG การก้าวสู่สังคมพลังงานสะอาดเช่น รถยนต์ EV, Circular  Economy การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่จำเป็น หรือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ 

 

  1. กลุ่ม Digital Transformation การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่ ประเทศต่างๆ แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก เช่น การพัฒนาระบบขนส่งในอนาคตที่เชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าด้วยกัน   

 

  1. Strong Pricing Power การลงทุนในบริษัทที่ขายสินค้าที่จำเป็น บริษัทที่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้โดยที่ไม่กระทบกับยอดขาย เช่น อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ มีการปรับตัวลดลงน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ช่วยลดความผันผวนในพอร์ตลงทุนได้ และยังมีนโยบายต่างๆ ออกมาสนับสนุน  

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่มงบลงทุนในเฮลท์แคร์จาก 3 ล้านล้านดอลลาร์  เป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นเพิ่มจาก 4 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 6 แสนล้านดอลลาร์ ยูโรเพิ่มจาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยรวมปีที่แล้วงบที่ลงทุนในเฮลท์แคร์สูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนุนให้อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์มีการเติบโต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรโลกประมาณ 7,000 ล้านคน ปัจจุบัน 1 ใน 6 ของประชากรโลกอายุเกิน 60 ปี หรือประมาณกว่า 1,000 ล้านคน กลุ่มนี้จะเพิ่มฐานคนใช้บริการในกลุ่มเฮลท์แคร์มากขึ้น   

 

ขณะที่ อาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business, Schroders  Investment Management (Singapore) เปิดเผยว่า มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลังไปจนถึงปีหน้า มีความกังวลคือเรื่องเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกรกฎาคมค่อนข้างที่จะชะลอลง ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความคลายความกังวล แต่ไปดูตัวเลขเชิงลึก เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงานที่ลดลง ในขณะที่ราคาอาหาร ต้นทุนสินค้า และบริการ ยังชะลอตัวลงไม่มากนัก  

 

หากตัดราคาพลังงานออก พบว่าเงินเฟ้อของเดือนกรกฎาคมยังสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน ประมาณ 0.4% ดังนั้นเงินเฟ้ออาจจะยังไม่ได้ชะลอตัวลง และปัจจัยที่สำคัญของต้นทุนเงินเฟ้อคือราคาสินค้าและบริการ ส่วนค่าแรงยังไม่ได้ปรับลดลงมากนัก จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และน่าจะยังสูงต่อเนื่อง จึงยังคงมีความเสี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

พอร์ตการลงทุนของ Schroders จะเป็นการจัดพอร์ตแบบตั้งรับ ในกรณีที่มีความเสี่ยงเข้ามา พอร์ตลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในขณะเดียวกันหากไม่เกิด Recession ก็ยังสามารถที่จะปรับพอร์ตให้ตอบสนองกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ปัจจุบันนี้ ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น (Underweight) เพราะกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แม้ไตรมาสที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะออกมาค่อนข้างดี แต่เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3-4 น่าจะเริ่มชะลอตัวลง    

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น หุ้นสหรัฐฯ และจีนยังคงมีความน่าสนใจมาก ส่วนตราสารหนี้ภาครัฐมีการปรับลดน้ำหนักการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากราคาสูง และมีอายุตราสารที่ยาว เมื่อดอกเบี้ยขึ้นจะได้รับผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ประเภท Investment Grade และตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ เพราะเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ภาครัฐของต่างประเทศแล้ว ระดับราคาของตราสารหนี้เอกชนยังคงอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์ให้น้ำหนักทองคำ สามารถป้องกันความเสี่ยงในภาวะที่เกิด Recession ได้  

 

นอกจากนี้ ควรพิจารณาเลือกสินทรัพย์ประเภท Private Asset เพราะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตได้ โดยเน้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และเฮลท์แคร์ ส่วน Private Debt หรือหุ้นเอกชนนอกตลาด เลือกกลุ่มที่ได้รับดอกเบี้ยในระดับที่เป็นอัตราลอยตัว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดดี 

 

สำหรับธีมการลงทุน Schroders ให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตอบสนอง และใส่ใจต่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และการทำความดี โดยเลือกลงทุนในกองทุนที่ยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งระยะยาวมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง โดยมองข้ามความผันผวนระยะสั้น ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ 5 แบบประกอบด้วย  

 

  1. Clean Energy หรือพลังงานสะอาด จะได้รับความสนใจเนื่องจากทุกคน รวมถึงภาครัฐให้ความใส่ใจเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามา และส่งผลในเชิงบวกระยะยาวมากขึ้น 

 

  1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแบบมีประสิทธิภาพ เช่น วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างที่ช่วยลดการใช้พลังงาน หรือหลอดประหยัดพลังงาน แผงพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น 

 

  1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดของเสีย  ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Waste Management ของรีไซเคิลต่างๆ น่าจะได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวได้มากขึ้น 

 

  1. Low Carbon Leaders เป็นกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ  

 

  1. Sustainable Transport ระบบการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถไฟไฟฟ้า เป็นต้น กลุ่มนี้จะไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะเน้นลงทุนในองค์ประกอบที่ใช้เป็นวัตถุในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แผงวงจรสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising