×

SCB WEALTH คาดรายได้ธุรกิจ Wealth ปีนี้โตกว่า 20% หลัง AUM ขยายตัว 7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด ลุ้นปีหน้าโตต่อเนื่องด้วยตัวเลข 2 หลัก

29.11.2023
  • LOADING...

SCB WEALTH เผย AUM ปีนี้โต 7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 4% ดันรายได้ธุรกิจ Wealth เพิ่มขึ้นกว่า 20% ด้าน SCB CIO แนะแบ่งเงินบางส่วนลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ รับผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย ขณะที่ InnovestX ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัว 3-4% ลุ้น SET Index ปิดที่ 1,750 จุด

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ WEALTH ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่มีความท้าทายด้านการลงทุนจากภาวะตลาดโลกที่มีความผันผวนตลอดปี ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะลุกลามหรือยืดเยื้อนานเท่าใด อย่างไรก็ดี SCB WEATH ได้มีการปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ตามสภาวะตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ ในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้น หรือกองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) และผลิตภัณฑ์ Capped Floored Floater Note หรือ Callable Note 

 

ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ (Term Fund) สำหรับผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ และสามารถรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ผันผวนจนเกินไป และให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจในภาวะดอกเบี้ยสูง จึงทำให้สินทรัพย์การลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของ SCB WEALTH ในปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 4% โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้า Wealth และลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกัน และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง (Wealth Lending ประเภท Property Backed Loan และ Lombard Loan) ที่มียอดสินเชื่อเติบโตขึ้นกว่า 70% เทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน Regular Unit-Linked ยังครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปีนี้ เมื่อรวมกับการบริหารต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คาดว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth ในปี 2566 นี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

สำหรับเป้าหมายในปีหน้าเรามุ่งหวังว่า AUM จะยังเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลัก เช่นเดียวกับรายได้ที่น่าจะยังคงเติบโตดี และเป็นตัวเลขสองหลักด้วยเช่นกัน” ยรรยงระบุ

 

ศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีแห่งความผันผวน เริ่มต้นปีด้วยความกังวล เศรษฐกิจถดถอย มาสู่ปลายปีด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวแบบจัดการได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและค้างนาน (Higher for Longer) กำลังนำไปสู่ความคาดหวังว่าธนาคารกลางหลักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย (Rate Pause Expectation) ส่วนประเด็นสงคราม ก็ยังมีทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ขณะที่การไหลออกของเงินทุนจากตลาดไทยไปต่างประเทศยังคงมีอยู่ และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งส่ง ผลให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ชัดเจนและล่าช้าออกไป

 

ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่เศรษฐกิจปี 2567 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ (Uneven slowdown) ทำให้นักลงทุนคาดหวังเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ภาวะ Stagflation หรือเศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง ธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงที่ต้องกู้ยืมใหม่ (Rollover) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศหลักๆ ที่จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน และสภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening: QT)

 

ด้วยเหตุผลนี้ จึงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุน แบ่งเงินลงทุนในต่างประเทศ ที่มีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าไทย โดยควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็น การทยอยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ควรทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบดุลที่แข็งแกร่ง มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอ สามารถรองรับธุรกิจชะลอตัว และรักษาอัตรากำไรได้ดี เช่น 7 บริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

ส่วนตลาดหุ้นอื่นที่แนะนำ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ ท่ามกลาง Valuation ที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม 

 

ทั้งนี้ พอร์ตลงทุนที่แนะนำเพื่อคาดหวังผลตอบแทน 7-10% กรณีเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealth) รับความเสี่ยงได้สูง เข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน คือ แบ่งเงิน 15% ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเลือกรับผลตอบแทนระหว่างรอแลกอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการ ด้วยผลิตภัณฑ์ Dual Currency Note Pricing (DCI) ที่ให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าต้องการ เลือกลงทุนตราสารหนี้ 15% เน้นตราสารหนี้ระยะยาว ลงทุนในหุ้น 30% ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่เป็นกลุ่มคุณภาพ เติบโตสูง โดยควรมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสร้างผลบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในพอร์ตด้วย

 

พร้อมกันนี้ควรลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted ที่จำกัดผลตอบแทนต่ำสุด แลกกับการจำกัดผลตอบแทนสูงสุด 10% หุ้นกู้อนุพันธ์อื่นๆ 10% สินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) 10% และสินค้าโภคภัณฑ์อีก 10% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ 

 

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์  เอกซ์ จำกัด (INVX) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2024 ยังคงมีความผันผวน แต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปี 2023 เนื่องจากระดับ SET Index ในปัจจุบัน ถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Undervalue) โดยคาดว่า ตลาดยังมีความผันผวนสูงในช่วงครึ่งปีแรก และปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 1,750 จุด 

 

ปัจจัยที่คาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปี 2024 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก และปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทยมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม 

 

ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย เป็นปัจจัยที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบไม่รุนแรงมาก เป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2024 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า  

   

ส่วนปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทย มาจากปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital Wallet อยู่บ้างก็ตาม เนื่องจากโดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 2023 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ในขณะเดียวกัน คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวได้ 10-15% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2023 ที่ชะลอตัว 10% 

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 2024 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 2. กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 3. หุ้นที่ได้ ESG Score สูง ระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก   

 

อิษฎา หิรัญวิวัฒน์กุล กรรมการและหุ้นส่วนอาวุโส บริษัท บอสตันคอนซัลติ้ง กรุ๊ป  (BCG) กล่าวว่า จากการศึกษาของ BCG พบว่า ตลาด Wealth Management ของประเทศไทยทั้ง Onshore และ Offshore จะมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 4.5% ต่อปี ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า โดยมี 4 เทรนด์หลักในธุรกิจ  Wealth Management ที่พบในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย ได้แก่ 

 

  1. ลูกค้ากลุ่ม High Net Worth (HNW) มีความต้องการที่จะได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนส่งต่อมรดกให้ทายาทรุ่นถัดไป และการวางแผนเพื่อเตรียมการเกษียณ 

 

  1. สถาบันการเงินข้ามชาติ ทั้ง ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และบริษัท FinTech ต่างๆ เข้ามาประกอบการในธุรกิจนี้ ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ร้อนแรงขึ้นมาก 

 

  1. ลูกค้าต้องการคำแนะนำที่ครบถ้วนและหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ที่เมื่อก่อนเข้าถึงได้แต่เฉพาะกลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth (UHNW) เท่านั้น 

 

  1. ลูกค้าต้องการประสบการณ์ในการใช้บริการการบริหารความมั่งคั่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Experience) เช่น การจัดพอร์ตการลงทุน การค้นหาข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับการตลาดและผลิตภัณฑ์ หรือการทำรายการซื้อขายและมอนิเตอร์พอร์ตการลงทุน

 

ด้าน สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เทรนด์กฎหมายในปีหน้า ยังคงต้องติดตามกฎหมายต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเก็บภาษีการรับมรดกที่อาจมีการปรับปรุงกฎหมาย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ส่วนกฎหมายภาษีการลงทุนต่างประเทศ ตามที่กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เมื่อเดือนกันยายน 2566 และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.162/2566 ซึ่งมีผลให้นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป หากมีเงินได้จากต่างประเทศ เช่น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย และได้นำเงินเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีใดก็ตาม จะต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทยในปีนั้น ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องเสียภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะใช้สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้ อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ  

 

ทั้งนี้ Wealth Planning and Family Office จึงขอแนะนำนักลงทุนไทยที่ลงทุนต่างประเทศ อาจพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ หรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ข้อดีคือผู้ลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากได้กำไรจากการลงทุน แต่หากมีปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X