ในยุคที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย ‘ความยั่งยืน’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ แต่ถูกยกระดับเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
กฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดเผยวิสัยทัศน์และบทบาทของธนาคารในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ภายใต้งาน SCB Live Sustainably in Phuket โดยย้ำว่า “เป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นมากกว่านโยบาย เป็นหนึ่งใน DNA ของ SCB”
ทั้งนี้ ธนาคารไม่เพียงตีความความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกัน โดยมีเป้าหมาย Net Zero ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารเองภายในปี 2030 และครอบคลุมทั้งพอร์ตสินเชื่อภายในปี 2050
SCB ผู้นำสินเชื่อสีเขียวและพันธมิตรยั่งยืนอันดับหนึ่ง
กฤษณ์กล่าวถึงความสำเร็จของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนว่า “สำหรับตัวเลขสินเชื่อการเงินยั่งยืน 1.8 แสนล้านบาท ถือว่าพอใจ และถ้าเทียบกับแบงก์อื่น เราเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรม” พร้อมเน้นย้ำถึงปณิธานในการเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ประกาศจะทำตาม Science Based Target (SBT) ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากแต่ SCB มุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ
โดยธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะอยู่เคียงข้างลูกค้าในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต และพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแนวทางความยั่งยืน
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ Chief Economist and Sustainability Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เสริมว่า SCB มีกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Sustainable Linked Loan หรือ Green Loan ที่มาพร้อมดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนลูกค้าที่มุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน
กฤษณ์ย้ำว่า การขับเคลื่อนความยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องพูดคุยกันมากกว่าตามวาระ ควรจะเป็นการพูดคุยกันในรายละเอียดเชิงลึกว่าประเทศไทยตอนนี้อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ มีองคาพยพอยู่ประมาณนี้ ควรจะช่วยกันอย่างไรเพื่อทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น
สำหรับบทบาทของธนาคาร ธนาคารพร้อมเป็นฟันเฟืองหลักในการเชื่อมโยงและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เข้าสู่ Value Chain ของทุนใหญ่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในภาพรวม
3 กรอบการทำงาน ดันท่องเที่ยวภูเก็ตเติบโตสู่โมเดลต้นแบบความยั่งยืน
สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อว่าการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป สะท้อนจากการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวหลายๆ จังหวัดเริ่มชะลอตัว หรือปรับตัวลดลง แต่ภูเก็ตยังสามารถยืนระยะสร้างการเติบโตได้ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องมาร่วมวางแผนร่วมกันหาทางออกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยกฤษณ์เสนอ กรอบการวางแผนและการร่วมมือกันดังนี้
- การกระจายงบประมาณในการพัฒนาภูเก็ต ต้องมีการตั้งสมมติฐานใหม่ การที่ภูเก็ตยังเติบโตอยู่ บนวิธีการบริหารจังหวัดภูเก็ตที่ยังได้รับแบบงบประมาณต่อหัวของประชากร ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และงบลงทุนจากภาครัฐที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นอันดับแรก ต้องปรับวิธีคิดตรงนี้ก่อนว่า ถ้าเราเชื่อว่าภูเก็ตเป็นเศรษฐกิจพิเศษและเป็นเครื่องจักรในการสร้างรายได้ไปสู่อนาคต การกระจายงบประมาณในการพัฒนาภูเก็ต ต้องมีการตั้งสมมติฐานใหม่
- วางแผนงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากระยะการเดินทางจากสนามบินมาถึงจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมค่อนข้างไกล อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวมาก เส้นทางค่อนข้างแคบทำให้รถติด ดังนั้นการที่ภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องของการขนส่งมวลชน การเดินทาง ระบบน้ำ ระบบการบริหารจัดการขยะทั้งหมด หรือการบริหารทรัพยากรทั้งหมดจะต้องมีการวางแผนอย่างดี เพื่อลดปัญหา Overtourism หรือ การท่องเที่ยวที่สุดท้ายแล้วกลับกลายมาทำลายเมืองภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองสำคัญของประเทศในท้ายที่สุด
- ออกแบบภูเก็ตแห่งอนาคต ต้องจับทิศทางการมองภูเก็ตในอนาคตให้ชัดเจนว่าต้องการเป็นแบบใด โดยต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจอันดามัน ซึ่งภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสองตลาด ได้แก่ ตลาดแมสซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีอยู่แล้ว และตลาดอัลตราลักชัวรีหรือไฮเอนด์
“เปรียบเทียบกับบาหลี ทํายังไงให้มันเกิด เพราะทุกวันนี้เที่ยวบินพานักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้วก็ลงตรงมาที่ภูเก็ตมากมาย แต่เราจะแยกการบริหารจัดการหรือมีแผนอย่างไร ภูเก็ตจำเป็นจะต้องมี man-made destination หรือเปล่า ที่เป็น top destination ที่ยิ่งใหญ่ใครมาถึงก็ต้องแวะ ให้ตอบโจทย์ภาพใหญ่การเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อทำให้อันดามันเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้จงได้ ผมเชื่อว่าวิธีการมองอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เหตุและผล และชวนทั้งรัฐและเอกชนมาพูดคุยกันให้เป็นวาระแห่งชาติ จะทำให้ภูเก็ตเข้มแข็ง ประเทศไทยเข้มแข็ง และเราสามารถปักหมุด เป็นหนึ่งในผู้นําด้านการท่องเที่ยวแห่งภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง” กฤษณ์กล่าว
เปลี่ยนมายาคติ ความยั่งยืนไม่ใช่ต้นทุน แต่คือการ ‘อยู่รอด’
หนึ่งในภารกิจสำคัญของ SCB คือ การลบมายาคติว่า ‘ความยั่งยืน = ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น’ กฤษณ์ อธิบายว่า ขั้นแรกเลยของความยั่งยืน ต้องเข้าใจก่อนว่าความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องกู้แบงก์ เพียงแค่บริหารสิ่งที่มีอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ประหยัดต้นทุนและช่วยโลกได้แล้ว
นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่เป็นลูกค้าเข้ามารับคำปรึกษาได้ฟรี เพื่อให้สามารถวางแผนและวัดผลด้าน Sustainability อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมต่อยอดเข้าสู่ระบบสินเชื่อในอนาคตหากจำเป็น
ธนาคารเชื่อว่า การขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน ต้องเกิดจากความร่วมมืออย่างจริงใจระหว่างรัฐ เอกชน และภาคการเงิน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ SMEs เข้าสู่ Value Chain ของทุนใหญ่ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรงทั้งแนวลึกและแนวกว้าง
“ธนาคารจะไม่มีวันเข้มแข็ง หากประเทศไม่เข้มแข็ง” กฤษณ์ กล่าว
3 ความท้าทายหลักของ SCB ใน 2 ปีข้างหน้า
- คุณภาพสินทรัพย์: รับมือกับเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ
- Digital Disruption: เตรียมพร้อมรับการแข่งขันจาก Virtual Bank
- New S-Curve: เร่งสร้างรายได้ใหม่และขยายขีดความสามารถขององค์กร
กฤษณ์ย้ำว่า ธนาคารจะไม่รอโลกเปลี่ยน แต่จะ ‘บุก’ ด้วยนวัตกรรม กลยุทธ์ใหม่ และการขับเคลื่อนจากภายในองค์กร โดยเฉพาะผ่านพลังของ SCB Wealth ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญในฐานะ Digital Bank with Human Touch
“ความยั่งยืนมันอยู่ใน DNA ของเรา ไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เพื่ออนาคตของประเทศ คนไทย และธนาคารไทยแห่งแรกที่อยากอยู่คู่สังคมไปอีก 100 ปี”
กฤษณ์ กล่าวส่งท้าย