×

SCB EIC เตือนเศรษฐกิจไทยเตรียมเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการจัดทำงบประมาณปี 2024 พร้อมเผย 5 ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาล

04.05.2023
  • LOADING...
SCB EIC

HIGHLIGHTS

1 min read
  • SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณปี 2567
  • การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 แต่ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เนื่องจากมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567
  • ไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใดที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% ต่างจากบริบทเลือกตั้งในปี 2562 ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน

SCB EIC ประเมินว่า หลังการประกาศยุบสภา ซึ่งส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และเป็นรัฐบาลรักษาการ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 (หรือ 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2566) ‘อย่างจำกัด’ เนื่องจากเหตุผลดังนี้

 

ประการแรก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ รวมถึงความพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงต้นปีงบประมาณ 2566 ไว้ ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 37.5% สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา 

 

ประการที่ 2 แม้รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือนโยบายพยุงค่าครองชีพใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่ได้เตรียมการที่ดีไว้ก่อนยุบสภา โดยเร่งอนุมัติหลายเรื่องสำคัญ เช่น 1. กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และรายละเอียด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดความเสี่ยงที่ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 จะออกได้ล่าช้าเกินสมควรจนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารราชการแผ่นดิน และ 2. โครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรอบวงเงินลงทุน 61,628 ล้านบาท โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) มูลค่าการลงทุน 24,060 ล้านบาท และ 3. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรวม 15,481 ล้านบาท

 

ประการที่ 3 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินที่นำมาใช้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 โดยหากพิจารณากรอบการใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยราว 12,032 ล้านบาท หรือ 0.07% ของ Nominal GDP ซึ่งในความเป็นจริงเม็ดเงินที่ใช้อาจสูงกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้หลายเท่าตัว โดยเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในหลายธุรกิจ และกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจป้ายโฆษณา ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจงานอีเวนต์ ช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น

 

จับตาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้จ่อรุนแรงขึ้น

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 จะได้รับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่จำกัด แต่ผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากโดยปกติแล้ว พ.ร.บ.งบประมาณจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในช่วงเดือนกันยายน และเริ่มประกาศใช้ต้นปีงบประมาณในเดือนตุลาคม แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้กระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้ากว่าปกติ 

 

ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินว่ากระบวนการพิจารณาจะล่าช้าราว 3-4 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐจะสามารถใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 141 แต่การดำเนินงานต่างๆ ก็จะไม่สามารถทำได้เต็มที่ดังปกติ อย่างไรก็ดีหน่วยงานภาครัฐจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณจนครบได้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 หรืออาจสรุปได้ว่าเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐจะเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 ไม่มาก แต่จะเร่งเบิกจ่ายได้ภายหลังในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2567 สะท้อนจากข้อมูลสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่มักจะลดลงเป็นอย่างมากในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน) ที่มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่

 

ในกรณีเลวร้าย การจัดตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่นอาจทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้าถึง 6 เดือน ในกรณีนี้หน่วยงานภาครัฐจะไม่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย ในกรณีนี้จะส่งผลลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567

 

สำหรับผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มีไม่มากนัก เนื่องจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ หากเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วในช่วงสิ้นปีจะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มที่ภายหลังปี 2566 นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานภาครัฐเตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและดำเนินการเป็นระยะเวลานาน

 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจของการเลือกตั้งจะชัดเจนขึ้นในปี 2567 หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทุกพรรคได้มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากมาใช้ในการหาเสียง อีกทั้ง มีนโยบายจำนวนมากที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคการเมืองให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการภายใน 3-4 เดือนหลังจากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน (เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า) และนโยบายให้เงินประชาชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น อาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

 

SCB EIC ประเมินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มี 5 ฉากทัศน์ แต่ไม่มีฉากทัศน์ไหนมีโอกาสเกิดเกิน 50%

หากพิจารณาผลสำรวจแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2566 ของหลายหน่วยงาน SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% แตกต่างจากบริบทการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนสูง อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างท่วมท้น

 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ฉากทัศน์กรณี 1. ฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล 2. กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และ 3. กรณีรัฐบาลอนุรักษนิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นใน ‘ระดับปานกลาง’ และใกล้เคียงกันมาก

 

สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์คือ กรณีฝ่ายอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง

 

นอกจากนี้ นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาระการคลัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนโยบายมหภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย SCB EIC จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ตอนต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising