ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ปี 2563 ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หลังเจอผลกระทบหนักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป และได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้เริ่มมีการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด ทำให้การวางแผนและการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ จากกรณีสมุทรสาครส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวช่วงปลายปี และกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการควบคุมโรคของภาครัฐเริ่มลดลง ซึ่งหลายส่วนประกาศงดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปลายปี ขณะที่การพบผู้ติดเชื้อที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนตัดสินใจเลื่อนทริปท่องเที่ยวช่วงปลายปี จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดในสถานที่ต่างๆ และการขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบินและการขนส่งสาธารณะภาคพื้นดิน
ในภาพรวมมองว่า จากปัจจัยต่างๆ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ยังฟื้นตัว แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนอย่างมาตรการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จะได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2563 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยลดลง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลง 49.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้หดตัวมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวแสดงว่า คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลง และยังใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศยังไม่ทั่วถึง โดยจังหวัดที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมักเป็นจังหวัดยอดนิยม เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ฯลฯ โดยมองว่า ต้นไตรมาสที่ 4 เห็นทิศทางการฟื้นตัวของจังหวัดท่องเที่ยวที่ไกลจากกรุงเทพฯ เริ่มปรับดีขึ้น
ขณะที่ปี 2564 มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยวมี 4 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่
- ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 จนกว่าการได้รับวัคซีนจะเกิดขึ้น โดยประเมินว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างและเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ประเด็นนี้จะมีผลต่อการเดินทางเข้ามายังไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการตัดสินใจเปิดประเทศของไทย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน ซึ่งจะเดินทางเข้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง
- กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่ซบเซา ซึ่งเป็นผลเกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐยังจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการประคับประคองการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปอีกระยะหนึ่ง
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยเห็นการระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยที่มากขึ้น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด และการมองหาโปรโมชันที่จูงใจ คุ้มค่ากับราคาในภาวะที่กำลังซื้อมีจำกัด
- ภาวะการแข่งขันระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งการลดราคาและการนำเสนอโปรโมชันจูงใจต่างๆ และจะมีจนกว่าจะเริ่มเห็นปัจจัยสนับสนุนว่าความต้องการเข้าพักจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาฟื้นตัว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล