×

กูรูเสียงแตก SCB EIC มอง Terminal Rate ขึ้นต่อแตะ 2.5% ส่วนแบงก์กรุงศรีมองประชุมรอบหน้า ‘คงดอกเบี้ย’

30.03.2023
  • LOADING...
ขึ้นดอกเบี้ย

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีระยะ 1 วัน ขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน สู่ระดับ 1.75% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ทางสำนักวิจัยต่างๆ ได้ออกมาประเมินท่าทีและแนวโน้มการกำหนดนโยบายของ กนง. ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งมีมุมมองที่ต่างกัน โดย SCB EIC มองว่า Terminal Rate จะปรับขึ้นต่อจนถึงระดับ 2.5% ขณะที่แบงก์กรุงศรีมองว่าประชุมรอบหน้า กนง. น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย

 

SCB EIC มอง Terminal Rate ไทยขึ้นต่อแตะ 2.5%


ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ระบุว่า SCB EIC ประเมินว่า Neutral Rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.5% โดย กนง. จะสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว บนเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

 

  1. เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
  2. แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจะช่วยดูแลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ในปีนี้ตามที่ กนง. ประเมินไว้

 

SCB EIC ได้ประเมิน Neutral Rate หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีระดับผลผลิต ณ ระดับศักยภาพ และระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปมีเสถียรภาพในระยะยาวตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สะท้อนบทบาทของนโยบายการเงินที่เป็นกลาง (ไม่ได้ตึงตัวหรือผ่อนคลาย) ในการประเมินครั้งนี้ได้นำสมการ Taylor Rule มาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกับการพิจารณาผ่าน Central Bank’s Loss Function เพื่อหา Path ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ Neutral Rate ที่เหมาะสม สามารถลด Inflation Gap และ Output Gap Paths ที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุดได้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยประเมินว่า Neutral Rate ล่าสุดของไทยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ ณ ระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3% บทบาทของนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้น โดยสะท้อนจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นลบน้อยลงและใกล้ค่าศูนย์มากขึ้น

 

ดังนั้น SCB EIC จึงคาดว่า กนง. อาจจะปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยมี Path การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปสู่ระดับ Terminal Rate ที่ 2.5% ได้ใน 2 กรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ดังนี้

 

  1. Base Case: กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2% ในเดือนพฤษภาคม และคงไว้ตลอดปีนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงได้จาก Downside Risks เช่น ผลของนโยบายการเงินโลกตึงตัว (Lag Effect) และความไม่แน่นอนของปัญหาสถาบันการเงินในบางประเทศหลักขาดสภาพคล่อง รวมถึงเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั่วถึงมากขึ้นท่ามกลางภาวะการเงินตึงตัว สะท้อนจากการฟื้นตัวของรายได้ภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ก่อนจะเริ่มตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ Terminal Rate ที่ 2.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024

 

  1. Better Case: หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 25 BPS ไปสู่ระดับ Terminal Rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ของปีนี้และคงไว้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

 

แบงก์กรุงศรีมองประชุม กนง. รอบหน้าคงดอกเบี้ย

 

รุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า หลังการประชุม กนง. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดย กนง. ย้ำว่าค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน โดยมีปัจจัยจากการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และแนวโน้มเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (Advanced Economies: AEs)

 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ขณะที่ กนง. ระบุว่ายังคงมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยที่อาจจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงอาจทำให้ กนง. คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%

 

อย่างไรก็ดี ท่าทีและสัญญาณในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมานั้น บ่งชี้ว่า กนง. เปิดโอกาสไว้สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้าได้เช่นกันหากสถานการณ์ยังเอื้อให้ปรับนโยบายต่ออีกเล็กน้อย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X