ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยผลการศึกษาผลกระทบวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลงบการเงินบริษัทจดทะเบียนในไทยช่วงปี 2017-2021 กว่า 1.1 แสนราย โดยพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิดได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งมิติความสามารถในการทำกำไรและปัญหาสภาพคล่องที่แย่ลง มีรายละเอียดดังนี้
1. ธุรกิจกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารมีความสามารถในการทำกำไรลดลง และมีปัญหาสภาพคล่องมากที่สุด
ในปี 2021 แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจในภาพรวมจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องมากขึ้น หากพิจารณาแยกตามประเภทธุรกิจจะพบว่าแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการมีทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างจากภาพรวมของภาคธุรกิจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงในปี 2020 ต่อเนื่องมา ซึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองและเข้มงวดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรในปี 2021 ลดลงจากปี 2020 อย่างเห็นได้ชัด
ภาพดังกล่าวสะท้อนจากค่าเฉลี่ย ROE กลุ่มธุรกิจโรงแรมในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง -16.5% จาก -12.7% ในปี 2020 รวมถึงกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่หดตัว -1.6% ในปี 2021 จาก 0.28% ในปี 2020 สะท้อนการฟื้นตัวที่อาจเริ่มต้นช้ากว่าธุรกิจประเภทอื่นและใช้เวลามากกว่า สอดคล้องกับข้อมูล Zombie Firm ที่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องสูงและเพิ่มขึ้นมากกว่าธุรกิจกลุ่มอื่น โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสัดส่วน Zombie Firm ณ ปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงสุด 8pp (Percentage point) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด
2. ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดรุนแรงมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
ผลกระทบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่มีความสามารถในการทำกำไรลดลงต่อเนื่องชัดเจน สะท้อนจาก ROE ในปี 2021 ที่ลดลงมากถึง 3pp เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด ขณะที่ ROE ปี 2021 ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2020 โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ ROE ฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วง Pre-COVID แล้ว สอดคล้องกับการวิเคราะห์สัดส่วนบริษัท Zombie ที่ในปี 2021 บริษัทขนาดเล็กมีสัดส่วน Zombie Firm เพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 1.5pp เทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนโควิด
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะพิจารณาด้านกำไรหรือสภาพคล่อง บริษัทขนาดเล็กในภาพรวมได้รับผลกระทบที่หนักกว่าจากวิกฤตโควิด ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดในการหาเงินทุนหมุนเวียนกิจการและการเข้าถึงสินเชื่อ แม้จะได้รับการผ่อนผันหรือช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐหรือสถาบันการเงินก็ตาม ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทขนาดใหญ่อาจทำได้มากกว่า และยังมีการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดที่หลากหลาย ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยกว่า
3. บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดและยังน่าห่วง
การใช้มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด ทั้งการปิดเมืองและปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคบริการมากที่สุด และขนาดของธุรกิจมีผลต่อการฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไรอย่างชัดเจน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรลดลง พร้อมทั้งยังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่องมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ หากมองธุรกิจ 3 กลุ่มดังกล่าวลึกลงไปแยกตามขนาดของธุรกิจพบว่า ในภาพรวมบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ประเภทนี้มี ROE ลดลงมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่
ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบสูงสุด สะท้อนจาก ROE ลดลงในทุกขนาดธุรกิจ จากที่เคยมี ROE เป็นบวกในช่วงก่อนการระบาดโควิด กลับลดลงจนติดลบในปี 2020 และลดลงต่อเนื่องในปี 2021 โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ ROE ลดลงมากถึงระดับเกือบ -20% ในปี 2021 สาเหตุที่ทำให้โรงแรมขนาดเล็กได้รับผลกระทบที่สูงกว่าโรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่อาจมาจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสุขอนามัยอยู่ค่อนข้างมาก และโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA+ ยังมีสัดส่วนน้อย
อีกทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ จึงทำให้อานิสงส์ตกไปสู่โรงแรม 4-5 ดาวที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาการจัดโปรโมชันลดราคาห้องพักตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ หรือตามกลยุทธ์การตลาดของโรงแรม 4-5 ดาว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัดเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2022 คาดว่าธุรกิจโรงแรมในทุกขนาดธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี 2021 ด้วยสถานการณ์โควิดทั้งในประเทศและทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย ประเทศส่วนมากประกาศเปิดประเทศและทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนนักท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นและธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ
ผลการศึกษาของ SCB EIC ยังพบด้วยว่า บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มร้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เช่นกัน สอดคล้องกับภาพธุรกิจโรงแรม สะท้อนจาก ROE ที่ลดลงจนติดลบในปี 2021 โดยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2021 สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงมาก โดยบริษัทขนาดเล็กนอกจากต้องเผชิญกับปัญหาด้านความสามารถที่ลดต่ำลงอีกจากทั้งที่ต้องชะลอการเปิดโครงการเกือบทั้งหมดแล้ว ยังไม่สามารถทำโปรโมชันลดราคาเพื่อระบายสินค้าคงเหลือ (ระบายสต๊อก) สู้กับบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดกลางได้ เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนที่เป็นรอง
อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าร้านอาหารขนาดกลางกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการปรับตัวของร้านอาหารขนาดกลางทำได้ดีกว่า จากการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น และเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ที่ต้นทุนไม่สูงเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่
4. มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ทั่วถึง (Uneven) การช่วยเหลือที่ตรงจุดและการปรับตัวของผู้ประกอบการมีความจำเป็น
มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยยังคงมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังสูงและไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของการบริโภค หรือสอดรับเทรนด์โลก หรือเกี่ยวข้องกับการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ขณะที่บางธุรกิจมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรือได้รับผลกระทบจากเมกะเทรนด์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความช่วยเหลือพิเศษจากภาครัฐ และการปรับตัวอย่างเหมาะสมยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการประคองบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้ นโยบายภาครัฐควรมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่าย พร้อมเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในภาคบริการ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ได้แก่
4.1 มาตรการช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการ ในระยะสั้นภาครัฐควรมีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานและค่าจ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่รอดได้ ในระยะยาวควรให้ความรู้ในการวางแผนจัดการต้นทุนของธุรกิจ และส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency)
4.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แทนมาตรการแบบหน้ากระดาน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟสต่อไป ที่อาจให้การอุดหนุนโรงแรมขนาดเล็กมากกว่า หรือมาตรการช้อปดีมีคืน ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้บริโภคมากกว่าสำหรับการใช้จ่ายจากสินค้าและบริการธุรกิจขนาดเล็ก
นอกจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการควรจะเข้าใจถึงปัญหาและให้ความสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปเช่นกัน โดยควรคำนึงถึงปัจจัยดังนี้
- รักษาเสถียรภาพของธุรกิจควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง (Maintain Viability & Risk Management) โดยเน้นดูแลงบการเงินผ่านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็น และลดผลกระทบจากความผันผวนของต้นทุน
- เน้นตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอาจใช้ Data Analytics เพื่อติดตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
- ปรับโมเดลในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Business Transformation) ตามพฤติกรรมผู้บริโภคและสภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพารายได้ทางเดียว และเพิ่มโอกาสเติบโตระยะยาว
- ลงทุนเพื่ออนาคต (Invest for the Future) ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลงทุนแผน Retrain และ Reskill พนักงาน เพื่อเพิ่ม Productivity เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนปรับลดลงได้ในระยะยาว และให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เปิดสถิติ 9 เดือนแรกปี 65 ธนาคาร ไหนครองแชมป์แอปล่มมากที่สุด
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%