SCB EIC จับผลกระทบหลายนโยบายว่าที่รัฐบาลใหม่ว่ามีผลกระทบต่อหลายธุรกิจ ทั้งขึ้นค่าแรงกระทบหนักกลุ่มธุรกิจเกษตร-รับเหมาฯ ส่วนนโยบายปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าเสี่ยงกระทบรายได้โรงไฟฟ้า IPP-SPP พร้อมให้จับตาการออกกฎหมายคุมเข้มด้านสิ่งแวดล้อม
ปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำของไทยประเมินว่า กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ค่อนข้างมากคือ กลุ่มธุรกิจการเกษตร เพราะปัจจุบันมีการการพึ่งพาแรงงานขั้นพื้นฐานมากถึงสัดส่วนประมาณ 90% ของแรงงานทั้งหมดจากการจ้างงานกลุ่มแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 450 บาท อีกทั้งยังมีกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก และภาคการผลิตต่างๆ เช่น อาหาร และสิ่งทอ ที่จะได้รับผลกระทบด้วย
อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวข้างต้นจะพึ่งพาแรงงานขั้นพื้นฐานเป็นสัดส่วนที่สูง แต่ผลกระทบในเชิงของผลกระทบต่อผลประกอบการยังคงต้องดูสัดส่วนของต้นทุนแรงต่อต้นทุนรวมของธุรกิจด้วย โดยกลุ่มธุรกิจอาหารมีต้นทุนแรงงานอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 5-10% ของต้นทุนรวม ซึ่งจะมีผลกระทบที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ ถ้ามาดูในด้านความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นสัดส่วนที่สูงคือกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกผลกระทบที่มีความรุนแรงมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหากยังต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย จะส่งผลให้มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อดึงดูดแรงงานให้มาทำงาน โดยปัจจุบันธุรกิจกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวสัดส่วนประมาณ 40% ส่งผลให้อาจต้องปรับค่าจ้างในกลุ่มนี้ขึ้น อีกทั้งยังมีประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มเติม เพราะอาจมีผลกระทบผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานกลุ่มอื่นๆ ปรับตัวขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งจะเป็นผลบวกกับในบางธุรกิจ เพราะจะเป็นโอกาสในการปรับขึ้นราคาขาย และยังมีผลบวกต่อกำลังซื้อสินค้าให้ปรับดีขึ้นได้ด้วย ประกอบกับรัฐบาลจะออกมาตรการอื่นๆ เพื่อมาช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การลดหย่อนภาษี ช่วยลดค่าไฟฟ้า ดังนั้นคงต้องรอติดตามผลกระทบจริงที่จะเกิดขึ้น
สำหรับกรณีที่ว่าที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายในการทลายทุนผูกขาด ซึ่งประเมินว่ามี 2 นโยบายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ค่อนข้างมาก คือ
1. การปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งประเด็นการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงให้ทบทวนสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดต้องมาพิจารณาจากรายละเอียดของนโยบาย โดยเบื้องต้นคาดว่าคือกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่มีโครงสร้างรายได้ที่มีค่าจากค่าความพร้อมจ่าย
ทั้งนี้ ในส่วนโรงไฟฟ้าที่มีการทำสัญญาไปแล้ว คาดว่ารัฐบาลจะไม่ยกเลิกสัญญา แต่อาจมีการปรับแก้ไขสัญญา อาทิ ขอเลื่อนการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย เพื่อแลกกับการขยายสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าที่นานขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบให้มีรายได้หรือมาร์จิ้นปรับลดลง
ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ อาทิ พลังงานทดแทน คาดว่าจะไม่มีผลกระทบ เพราะมีสัญญาโครงสร้างซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบ Feed-In Tariff ซึ่งจะมีการคำนวณจากหน่วยในการผลิตไฟฟ้า
2. สุราก้าวหน้า จะเป็นการปลดล็อกผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสเข้าผลิตและจำหน่ายสุราได้มากขึ้น ดังนั้นมีมุมมองบวกเป็นผู้ต่อผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคงต้องติดตามรายละเอียดอีกครั้ง เพราะผู้ประกอบการรายย่อยอาจมีข้อจำกัดในการเข้ามาทำธุรกิจทั้งด้านเงินลงทุนและการบริหารจัดการ ขณะที่ผู้ประกอบการสุรารายใหญ่มองว่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะมีขีดความสามารถที่สูงอยู่แล้ว
“หากนโยบายสุราก้าวหน้าเกิดขึ้นจริง ไม่น่าจะมีผลทำให้ราคาสุราแพงขึ้น เพราะการมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ยิ่งจะเป็นปัจจัยทำให้การแข่งขันทางธุรกิจรุนแรงขึ้น ก็จะมีผลต่อการแข่งด้านราคาเกิดขึ้นด้วย”
อีกทั้งยังมีนโยบายของว่าที่รัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อมที่จะออกมาเป็นวาระเร่งด่วน เพราะต้องการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรกๆ คือ การควบคุมฝุ่น PM2.5 และการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมา โดยจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้มีการทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและปรับตัวในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจพลังงาน จำเป็นต้องปรับให้รวดเร็ว
ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ มีการปรับตัวไปแล้วในระดับหนึ่ง ขณะที่ธุรกิจขนส่งอาจจำเป็นต้องเร่งลงทุนปรับมาใช้รถ EV แทนให้เร็วขึ้น รวมถึงธุรกิจเกษตรที่มีการเผาทำลายจำนวนมาก เช่น ธุรกิจผลิตน้ำตาล หรืออาหารสัตว์
ดังนั้นกลุ่มธุรกิจดังกล่าวข้างต้นจำเป็นต้องติดตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่กำลังจะออกมาเข้มงวดมากขึ้นในอนาคต