‘SCB EIC – Krungthai COMPASS’ ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.4% ในปีนี้ โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญ หลังสภาพัฒน์เผย GDP ไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ขยายตัว ‘ต่ำกว่าคาด’ อย่างมาก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ลดลงเป็นหลัก
วานนี้ (17 กุมภาพันธ์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ขยายตัว 1.4%YoY แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งหมายความว่า หาก GDP ในไตรมาส 1 ปี 2566 หดตัวอีก เศรษฐกิจไทยก็จะเข้าสู่ภาวะ ‘ถดถอยเชิงเทคนิค’ หรือ Technical Recession
สมประวิณ มันประเสริฐ ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ระบุว่า รู้สึกเซอร์ไพรส์กับตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ที่โตต่ำกว่าคาดเยอะมาก ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจากการส่งออก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลังจากจีนเปิดเมืองได้เร็ว และส่งผลต่อดีการฟื้นตัวของภาคบริการต่อเนื่องกัน
“ตัวเลขที่เกิดขึ้นอาจจะสะท้อนถึงเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา โดย ณ ปลายปีที่แล้วพบว่า เศรษฐกิจชะลอตัวจริง และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังไม่พอที่จะชดเชย แต่ผมเชื่อว่าในไตรมาสที่ 1 และระยะต่อไปเรื่อยๆ การชะลอตัวจะไม่ได้รุนแรง และการท่องเที่ยวจะกลับมาช่วยชดเชยได้” สมประวิณกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession? หลังสภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 65 ติดลบจากไตรมาสก่อน
- ‘ไทยรั้งท้าย’ GDP ปี 2022 โตต่ำสุด! เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน
- ‘พาณิชย์’ เผยส่งออกปี 65 โต 5.5% คาดปีนี้ยังเป็นบวกได้ 1-2% แม้ปัจจัยลบรุมเร้า
อย่างไรก็ตาม สมประวิณยังมองว่า เศรษฐกิจไทยไม่น่าเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ลดลง 1.5% เมื่อเปรียบเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) โดยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เศรษฐกิจโลกก็ไม่ได้ชะลอตัวลงอย่างที่คาด เนื่องจากยุโรปได้รับผลกระทบจากปัญหาพลังงานน้อยกว่าที่คาด ตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาก็ยังแข็งแกร่งอยู่ เศรษฐกิจอังกฤษก็ยังโอเค เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมอาจยังไม่ได้ติดลบ นอกจากนี้ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ช่วงกลางปีและปลายปี โทนจะเป็นบวกมากขึ้นด้วยซ้ำไป
สำหรับประมาณการตัวเลขในปีนี้ สมประวิณระบุว่า SCB EIC มีมุมมองที่เป็นบวกกว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยประมาณการว่า GDP ไทยน่าจะขยายตัว 3.4% ในปีนี้ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนเห็นว่าจีนเปิดประเทศได้เร็ว และจะรับรู้ว่า เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ได้ชะลอตัวอย่างที่เราคาดไว้
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัว 2.7-3.7% ในปีนี้ ปรับลดประมาณการลงจากเดิมที่ 3.0-4.0%
ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ Krungthai COMPASS ซึ่งคาดเศรษฐกิจปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 3.4% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญ
“ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากที่ไทยมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากอัตราการเข้าพักแรม และจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยในปี 2565 ที่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด และคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2566” รายงานระบุ
อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังมีปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่องหลังจากที่จีนเปิดประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่อาจชะลอตัวกว่าที่เคยประเมิน