×

SCB EIC คาด ปัญหาภัยแล้งไทยรุนแรงหนักสุดรอบ 41 ปี ภาคเกษตรขาดน้ำไม่พอ เพาะปลูกฉุดผลิตทรุด เสียหาย 6.9 หมื่นล้านบาท

11.09.2023
  • LOADING...
ภัยแล้ง ไทย

SCB EIC ประเมินภาคเกษตรกรรมไทยเสี่ยงโดนภัยแล้งกระทบหนักจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ-IOD ขั้วบวก หลังปริมาณน้ำฝนลดฮวบแตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปี ฉุดผลผลิตภาคเกษตรหาย อ้อยเสียหนักสุด 3.2 หมื่นล้านบาท

 

ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยในรายการ Morning Wealth ว่าสถานการณ์ภัยแล้งกับปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนของไทยปัจจุบันถือว่ามีความน่ากังวลค่อนข้างมาก

 

โดยปริมาณน้ำฝนในรอบ 8 เดือนของปี 2566 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปี ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยขณะนี้มีปริมาณน้ำที่จะใช้ในเขื่อนทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำสุดในรอบประมาณ 10 ปี

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยประเมินว่าสถานการณ์ภัยแล้งของไทยในปี 2566 มีความเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงมาก เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำฝนจะตกลงมาน้อยกว่าเฉลี่ยปกติจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญและปรากฏการณ์ IOD ขั้วบวก ขณะที่ปรากฏการณ์สภาพอากาศของโลกในปีนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ร้อนสูงขึ้นกว่าปกตินั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคพื้นดินที่มีคนอาศัยอยู่เท่านั้น

 

ขณะที่น้ำทะเลในมหาสมุทรก็มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ร้อนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ มหาสมุทรแปซิฟิกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสจากระดับปกติ ถือเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในระดับอ่อน พร้อมคาดการณ์ว่าในระยะต่อไปมีโอกาสที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นต่อเนื่องเพิ่มเป็น 2 องศาเซลเซียสจากระดับปกติ ถือเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในระดับที่มีความรุนแรงมาก เป็นปัจจัยกดดันปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยให้ลดลง

 

รวมถึงอุณหภูมิน้ำทะเลในฝั่งมหาสมุทรอินเดียในเดือนสิงหาคมปีนี้ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 0.4 องศาเซลเซียสจากระดับปกติ และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้ต่อเนื่องจนเข้าสู่ปรากฏการณ์ IOD ขั้วบวก ซึ่งมีผลกระทบควบคู่กับปรากฏการณ์เอลนีโญและส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยน้อยลงจากปกติ

 

ทั้งนี้ SCB EIC ได้ประเมินปริมาณน้ำฝนที่จะตกในประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 โดยในกรณีฐานหรือกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด ประเมินว่าในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกของไทยจะเผชิญกับภาวะฝนแล้งหนักที่สุดในรอบ 41 ปี ซึ่งถือว่ามีความน่ากังวลมาก

 

ภัยแล้งฉุดภาคเกษตรเสียหาย 6.9 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเกษตรกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง มูลค่าความเสียหายในช่วงปี 2566-2567 มากถึงประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินค้าผลผลิตอ้อยในปี 2566 ของไทยจะลดลงมากที่สุดประมาณ 15.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นกลุ่มพืชที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท เพราะอ้อยถือเป็นพืชที่มีความจำเป็นต้องใช้ปริมาณน้ำที่สูงมากในการเพาะปลูก

 

ขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังของไทยในปี 2566 จะลดลงประมาณ 2.7 ล้านต้น เพราะเป็นการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในเขื่อนสำหรับการเพาะปลูก ส่วนมันสำปะหลังจะมีผลผลิตลดลงประมาณ 2.1 ล้านตัน ซึ่งถือว่าลดลงน้อย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถทนทานกับภัยแล้งได้ ส่วนปริมาณผลผลิตข้าวนาปีคาดว่าจะลดลงประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งถือว่าไม่มาก เพราะปกติการเพาะปลูกข้าวนาปีจะทำในพื้นที่ลุ่มซึ่งมีน้ำปริมาณสูง


“จากการคำนวณของ SCB EIC ที่ได้คำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งต่อภาคเกษตรกรรมรวมประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2566 จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท”

 

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้นกว่ากรณีฐาน มีความเสี่ยงที่ภัยแล้งจะสร้างความเสียหายรวมเพิ่มขึ้นได้ถึงประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรายได้ของเกษตรกรในปี 2566-2567 พบว่า จากผลกระทบจากภัยแล้งในกรณีฐานมีแนวโน้มที่เกษตรกรจะมีรายได้ที่ทรงตัว เพราะแม้ผลผลิตเกษตรกรรมจะลดลงแต่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สามารถช่วยชดเชยผลกระทบได้ในบางส่วน ขณะที่ในปี 2567 ผลผลิตภาคเกษตรของไทยจะลดลงประมาณ 2.4% ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.3% โดยเฉพาะข้าวกับอ้อยจะเป็นกลุ่มที่มีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดจากผลกระทบที่ประเทศอินเดียมีนโยบายในการควบคุมสินค้าเกษตรกลุ่มดังกล่าว

 

นอกจากนี้ประเมินว่าปัญหาภัยแล้งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคอื่นๆ ด้วยในระบบเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตร เช่น อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล โรงสีข้าว รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตให้ภาคเกษตรกรรมหรือกลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงการบริโภคจากเกษตรกรก็จะถูกผลกระทบไปด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising