SCB CIO มองเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัวตามค่าเช่าบ้านที่เริ่มลง พร้อมคาดว่าประชุม Fed วันที่ 19-20 กันยายนนี้ จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มชะลอตัว แนะทยอยสะสมพันธบัตร เน้นลงทุนในกลุ่ม Investment Grade
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2023 เพิ่มขึ้น 3.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ถือว่าไม่ได้แตกต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้มากนัก ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2023 ที่เพิ่มขึ้น 3.2% เนื่องจากมีผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีฐานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2022 อยู่ในระดับที่ต่ำ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญกับปัจจัยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐานมากกว่า ในการนำมาพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนสิงหาคม 2023 เริ่มปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงมาเหลือ 4.3% จากเดือนกรกฎาคม 2023 อยู่ที่ 4.7% เป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมปีนี้คือภาคบริการ ส่งผลให้ตัวเลขยังสามารถลดลงได้ค่อนข้างช้า
โดยก่อนหน้า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เคยส่งสัญญาณในการประชุม Fed ที่ Jackson Hole รัฐไวโอมิง ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า เริ่มเห็นตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงแล้ว แต่ยังปรับตัวลดลงได้ช้า ซึ่งยังห่างจากตัวเลขเป้าหมายที่ 2% ของ Fed โดยพยายามชี้แจงถึงปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงช้าว่ามาจากปัจจัยหลักของภาคบริการ โดยเฉพาะค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าที่พักอาศัยที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณราคาบ้านในสหรัฐฯ ลดลง แต่ยังต้องรอสัญญาเช่าบ้านเดิมให้ครบอายุก่อนในระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี จากนั้นสัญญาเช่าใหม่ที่จะทำก็จะลดลงตามราคาบ้านที่ปรับลง ซึ่งขณะนี้เห็นสัญญาณค่าเช่าบ้านเริ่มชะลอลงตั้งแต่กลางปี 2023
ดังนั้น SCB CIO ประเมินว่า ดอกเบี้ยของ Fed มีโอกาสจะผ่านจุดสูงสุด ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะเริ่มเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่ยังคงมุมมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) มีผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดและส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวได้ช้า และมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทในช่วงปลายปี 2023 ให้อ่อนค่าในช่วง 33.5-34.5 บาท
อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ มองว่ายังไม่ได้เป็นภาวะ Goldilocks แบบชัดเจน ยังจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง และต้อง Selective โดยเฉพาะในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจากประเด็น Balance Sheet Recession โดยเฉพาะหากมีหนี้สูง เพราะจะถูกผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่จะยังทรงตัวสูงไปถึงกลางปี 2024
สำหรับการลงทุนในพันธบัตร SCB CIO ยังคงคำแนะนำให้ทยอยสะสมพันธบัตร เพราะสามารถให้ผลตอบแทน (Yield) ได้ในระดับสูง เน้นลงทุนในกลุ่ม Investment Grade และหลีกเลี่ยงการลงทุนใน High Yield Bond เพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ทยอยเกิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมุมมองเป็นคงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) เนื่องจากมีมูลค่า (Valuation) ที่ถือว่ายังสูง เพราะมีอัตราราคาปิดกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่สูงอยู่ที่ระดับประมาณ 19-20 เท่า ดังนั้น แนะนำให้รอจังหวะเข้าซื้อในช่วงที่ราคาปรับตัวลง