×

สแกนเศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัม ‘เดินหน้าต่อ’ หลังเลือกตั้ง

17.04.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

นับถอยหลังก้าวสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 และคาดว่ารัฐบาลใหม่จะจัดตั้งได้ราวเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่บ้าง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐในส่วนงบลงทุนที่เป็นโครงการใหญ่ แต่ในภาพรวมมองเศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปต่อได้ไม่สะดุดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยว อีกทั้งคาดว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

เม็ดเงินเลือกตั้งราว 6 พันล้านบาทกระจายเข้าสู่ระบบ หนุนเศรษฐกิจในไตรมาส 2 กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกหนุนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยงบประมาณสำหรับการจัดเลือกตั้งในปีนี้มีวงเงินอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากการเลือกตั้งครั้งก่อนปี 2562 โดยข้อมูลย้อนหลังในปี 2540-2562 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป (ไม่นับปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งและปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่) พบว่าภาพรวมการบริโภคขยายตัวดี โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนโตเฉลี่ย 5-6% ในไตรมาสที่มีการเลือกตั้งและในปีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 

 

ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมเติบโตดีต่อเนื่อง ปัจจัยหลักๆ มาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศเป้าหมายอันดับต้นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนหลังทางการจีนปลดล็อกให้เดินทางระหว่างประเทศได้ในรอบ 3 ปี ทำให้กระแสการท่องเที่ยวของชาวจีนจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกมากที่สุดกว่า 150 ล้านคน และในปี 2566 มีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะปักหมุดที่ไทยแตะ 5-6 ล้านคน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมปีนี้จะอยู่ที่ 29.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 หรือคิดเป็น 74% ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นค่อนข้างเร็ว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวและระดับการจ้างงานในตลาดแรงงานไทยที่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว และการบริโภคสินค้าคงทนที่เร่งตัวจากกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตลอดจนการเข้ามาทำตลาดรถ EV ของผู้ผลิต ควบคู่กับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ โดยประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.9% 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะได้อานิสงส์การเปิดประเทศของจีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าหลัก รวมทั้งเป็นนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคกลุ่มหลักของโลก แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จะอยู่ในทิศทางที่ไม่สดใสนัก ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เป็นตลาดสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่แนวโน้มราคาลดลง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เม็ดพลาสติก แต่คาดว่าสถานการณ์ส่งออกจะปรับดีขึ้นฟื้นตัวเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ภาพรวมยอดส่งออกสินค้าในปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.5% เทียบกับที่ขยายตัว 5.5% ในปี 2565 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และความมั่งคั่งของผู้บริโภค (Wealth Effect) มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่มีอยู่สูงจากกรณีปัญหาของธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงตาม

 

สำหรับเครื่องยนต์ด้านการลงทุนยังไม่โดดเด่นมากในปีนี้ เริ่มจากการลงทุนภาครัฐที่รอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ที่มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาท อาทิ รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ระบบขนส่งมวลชนภูมิภาค 4 จังหวัด สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ตั้งแต่ต้นปี 2566 เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ตลอดจนการลงทุนมีแนวโน้มเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละราว 4-5 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการอนุมัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ในช่วงปี 2563-2565 และหากย้อนดูข้อมูลสำหรับในปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป พบว่าภาคเอกชนชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังจากได้รัฐบาลใหม่แล้วบรรยากาศการลงทุนเอกชนก็จะค่อนข้างปรับสู่โหมดปกติ สำหรับในปีนี้ คาดว่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และชัดเจนมากขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จ ที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทยอยมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น จากแนวโน้มนักลงทุนในต่างประเทศจะทยอยย้ายฐานผลิตจากจีนสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตในจีนเพื่อส่งออก เนื่องจากหากผลิตที่อาเซียนและส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะไม่ถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ที่ตั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

 

จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว รวมทั้งบรรยากาศการลงทุนที่ปรับดีขึ้น แม้การส่งออกจะไม่สดใสนัก แต่โดยรวมแล้วคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 3.4% อย่างไรก็ดี มองในระยะยาวความท้าทายของเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีอยู่ ตราบใดที่เรายังพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งพอ การลงทุนภาครัฐยังไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี การส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือสินค้าใหม่ที่จะเป็นฐานรายได้ให้กับประเทศในอนาคต เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และอยู่บนเส้นทางเติบโตได้ต่อเนื่อง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising