ความท้าทายยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของผู้นำในยุคนี้คือการทำให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น One Culture
สมัยก่อนดีเอ็นเอของ SC ASSET เรามักพูดเรื่อง Care หรือความห่วงใยใส่ใจลูกค้า แต่ในยุค Digital Transformation แค่ใส่ใจอาจไม่พออีกต่อไป เราต้องหาส่วนผสมของวัฒนธรรมบางอย่างเพิ่มเข้ามา ผมจึงนึกถึงคำว่า Living Solution Provider ที่ตอบโจทย์ในโลกปัจจุบันมากกว่า
การเป็น Living Solutions Provider ประกอบไปด้วย 4C คือ
Care ห่วงใยเข้าใจลูกค้าเหมือนเดิม
Courage กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำสิ่งที่ดีกับลูกค้า
Collaboration โลกยุคนี้เราต้องร่วมมือกับคนอื่น
Continuous Improvement ต้องไม่หยุดเรียนรู้
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ กล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy as breakfast.” หมายความว่า ต่อให้คิดกลยุทธ์มากเท่าไร ถ้าวัฒนธรรมไม่ไปด้วยกันก็ไม่มีทางเกิด ผมจึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เข้าใจง่าย พนักงานไม่ต้องท่องจำ เน้นให้เห็นเป็นภาพมากกว่าตัวหนังสือ จึงได้ออกมาเป็นภาพกีฬากระโดดร่มที่เล่นเป็นทีม ต้องดูแลช่วยเหลือกัน และการกระโดดลงไปข้างล่างต้องใช้ความกล้า เมื่อลงไปถึงพื้นแล้วยังทำได้ไม่ดีพอก็ต้องปรับปรุงใหม่ ภาพคนกระโดดร่มที่ทุกคนเห็นตรงกันจึงกลายเป็นชื่อเรียกว่า #SKYDIVE Culture
ผมเชื่อว่าการสร้างวัฒนธรรมให้ประสบความสำเร็จต้องมีการมาเจอหน้าและพูดคุยบนโต๊ะเดียวกัน ที่ SC ASSET เรามี Monday Commitment มาเจอหน้ากันโดยใช้เวลาไม่มาก เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงความคิดเห็นเต็มที่ สร้างเอ็นเกจเมนต์ให้เกิดขึ้น เรามี Co-Lab เป็น Open Space มีไวต์บอร์ดให้คนมาเขียน มาแชร์ไอเดีย จุดประกายให้เกิดการพูดคุยที่มีคุณภาพมากขึ้น เมื่อถกเถียงก็จะต่อยอดกันบนข้อเท็จจริง ทำให้เป็นการพูดคุยที่สร้างสรรค์
ทุกวันจันทร์ที่ SC ASSET จะเขียนตัวเลขวัดผลต่างๆ ขึ้นบนไวต์บอร์ด โดยให้ OKRs เป็นตัวสร้างหัวข้อให้ทีมงานได้พูดคุยกัน ทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างทีมขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ “คุณลำบากเรื่องนี้ ผมช่วยคุณอย่างไรได้บ้าง” ประโยคนี้ลดความเป็นไซโลลงมาได้มาก มันจะไม่ใช่ทีมคุณหรือทีมผม จริงๆ ในองค์กรมันเหมือนอวัยวะของมนุษย์ ซึ่งทุกส่วนล้วนมีผลต่อกันหมด มีความเกี่ยวเนื่องกันหมด เมื่อเกิดความสำเร็จบางอย่างเราจึงมี Mini Celebration เพื่อไปฉลองความสำเร็จด้วยกันเดือนละ 1-2 ครั้ง
ถ้าถามว่าสิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดนั้นดีอย่างไร ผมอยากยกตัวอย่างจากหนังสือ The Speed of Trust ซึ่งกล่าวว่าถ้าองค์กรจะวิ่งไปได้เร็วต้องสร้างความเชื่อใจให้เกิดก่อน เพราะถ้าไม่มีความเชื่อใจ เวลาเสนอไอเดียอะไร เราจะไม่เชื่อกัน ต้องไปตรวจสอบกัน เช็กกัน พนักงานหลายคนขอบคุณที่ทำให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นมา เพราะทำให้มีบรรยากาศของการกล้าเสนอกันมากขึ้น และรู้สึกสนุกขึ้นในการทำงาน นอกจากความรู้สึกของพนักงานที่ดีขึ้นแล้ว ปริมาณของโซลูชันที่เกิดในแต่ละปีก็มากขึ้น
ไม่นานมานี้ผมเพิ่งเห็นสรุปสถิติจำนวนการหัวเราะในที่ประชุมของทีมงาน SC ASSET เป็นข้อมูลที่อาจดูตลก แต่ผมเชื่อว่ามันก็บอกอะไรได้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับองค์กรของเรา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์