รายงานชิ้นใหม่จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) คาด วงแหวนดาวเสาร์อาจหายไปในเวลาไม่เกิน 100 ล้านปี นับเป็นช่วงเวลาอันแสนสั้นหากเทียบอายุ 4,000 ล้านปีของดาวเสาร์เอง
ดร.เจมส์ โอโดโนฮิว ผู้นำคณะวิจัย เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า วงแหวนดาวเสาร์อันเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แสนสวยงามบนระบบสุริยจักรวาลที่มีอายุประมาณ 4,500 ล้านปีนี้ “ไม่ได้มีมาตั้งแต่ต้น …และพวกมันจะต้องหายไปสักวันหนึ่ง”
วงแหวนที่ทอดยาวนับ 175,000 ไมล์รอบดาวเสาร์นี้ มีอนุภาคส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง และยังมีบางส่วนที่เป็นฝุ่นและสสารอื่นๆ อีก โดยงานชิ้นนี้ระบุว่า น้ำแข็งในวงแหวนถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ดึงให้ตกลงมาบนพื้นผิวของดาวจนเป็นเหมือนฝน ซึ่งโอโดโนฮิวระบุว่า ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา มี ‘ฝนวงแหวน’ ปริมาณเท่าสระโอลิมปิกตกลงมา
เพียงข้อมูลส่วนนี้อย่างเดียวทำให้คาดการณ์ได้ว่า ระบบวงแหวนทั้งหมดอาจหายไปภายในเวลา 300 ล้านปี ทว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา ข้อมูลจากยานอวกาศคาสซินีตรวจวัดอนุภาคต่างๆ ของวงแหวนที่ร่วงลงบนดาวเสาร์ ทำให้เอามาเสริมได้ว่า วงแหวนดาวเสาร์อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ถึง 100 ล้านปี
ภายในระยะเวลาที่เกินอายุขัยมนุษย์ไปหลายเท่าตัว โอโดโนฮิวและผู้ร่วมวิจัยมองว่า การหายไปของวงแหวนนั้นจะมีขึ้นใน ‘อนาคตอันใกล้’ ในเชิงสัมพัทธ์กับปรากฏการณ์ต่างๆ บนระบบสุริยจักรวาล
นักวิทยาศาสตร์จาก NASA รายนี้กล่าวอีกว่า “พวกเราโชคดีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงที่สามารถเห็นระบบวงแหวนของดาวเสาร์ที่ดูเหมือนว่าอยู่ในช่วงวัยกลางคนของอายุขัยมันได้ อย่างไรก็ตาม หากวงแหวนเหล่านี้เป็นเพียงของชั่วคราว บางทีพวกเราคงพลาดโอกาสที่จะเห็นระบบวงแหวนขนาดใหญ่ของดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส หรือดาวเนปจูนไปแล้วก็ได้ เพราะในตอนนี้มันเหลือเพียงวงแหวนบางๆ เท่านั้นเอง”
ในวงการวิทยาศาสตร์ ประเด็นเรื่องอายุและอายุขัยของระบบวงแหวนดาวเสาร์มีมาอย่างช้านาน เมื่อปีที่ผ่านมา งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า วงแหวนพวกนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่เริ่มระบบสุริยจักรวาล แต่ว่าเริ่มมีขึ้นในช่วงไม่ถึงร้อยล้านปีก่อน
ลินดา สปิลเกอร์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของ NASA ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานศึกษาชิ้นนี้ให้ความเห็นว่า “วงแหวนของดาวเสาร์ดูเหมือนจะยังอายุไม่มาก” พร้อมทั้งระบุไปในทางเดียวกันกับ ดร.โอโดโนฮิว อีกว่า “บางทีพวกเราอาจอยู่ในช่วงเวลาที่โชคดีและมีความน่าสนใจ เพราะเราสามารถเห็นบรรดาวงแหวนดาวเสาร์ในระดับที่เราเห็นในตอนนี้”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: