×

สวัสดีวันเสาร์! กล้องเจมส์ เว็บบ์ เผยภาพดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารในย่านอินฟราเรด

01.07.2023
  • LOADING...

คืนวันที่ 30 มิถุนายน NASA และ ESA ได้เปิดเผยภาพถ่ายของดาวเสาร์ในย่านอินฟราเรดใกล้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่แสดงให้เห็นรายละเอียดของชั้นบรรยากาศดาว วงแหวน และดวงจันทร์บริวารบางดวง

 

ภาพดังกล่าวถูกถ่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ด้วยอุปกรณ์ NIRCam ที่ถ่ายภาพในย่านอินฟราเรดใกล้ ช่วงคลื่น 3.23 ไมครอน โดยภาพนี้จะเห็นวงแหวนมีความสว่างกว่าตัวดาวเสาร์ เนื่องจากก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศของดาวได้ดูดซับแสงอาทิตย์ที่ส่องลงไป เมื่อเทียบกับฝุ่นก๊าซและน้ำแข็งในวงแหวนที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในย่านอินฟราเรด

 

นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้เห็นรายละเอียดชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์อย่างคมชัดในช่วงคลื่น 3.23 ไมครอน และได้ต่อยอดการศึกษาจากภารกิจในอดีต ทั้งไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, และยานแคสสินี ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการในชั้นบรรยากาศ และฤดูกาลที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้

 

นอกจากนั้น ภาพถ่ายขนาดเต็มยังเผยให้เห็นชั้นวงแหวน C, B, A, และ F แบ่งกันอย่างชัดเจน พร้อมกับดวงจันทร์บริวาร Dione, Enceladus และ Tethys รวมอยู่ในเฟรมภาพที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ โดยมีความเป็นไปได้ว่ากล้องเจมส์ เว็บบ์ อาจบันทึกภาพที่มีการเปิดหน้ากล้องนานกว่านี้ เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการตรวจหาดวงจันทร์เพิ่มเติมรอบดาวเสาร์ที่ในปัจจุบันมีการยืนยันจำนวนอยู่ที่ 146 ดวงด้วยกัน

 

ก่อนหน้านี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้บันทึกภาพดวงจันทร์ Enceladus ของดาวเสาร์ และมีส่วนในการค้นพบว่าดวงจันทร์ดังกล่าวมีการปะทุไอน้ำจากใต้ผิวดาว ปกคลุมพื้นที่มากกว่า 9,600 กิโลเมตร หรือมากถึง 40 เท่าของขนาดดาว และอาจมีส่วนสำคัญในการปูทางพื้นฐานข้อมูลให้กับภารกิจสำรวจดาวเสาร์กับดวงจันทร์บริวารในอนาคตได้

 

สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เป็นหนึ่งในภารกิจระดับเรือธงของ NASA, ESA และ CSA ออกสำรวจท้องฟ้าในย่านอินฟราเรดใกล้ที่มีความยาวคลื่นมากกว่าช่วงที่ตามองเห็น เพื่อทำงานร่วมกันกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และมีเป้าหมายสำคัญเพื่อไขคำตอบการกำเนิดของดาราจักรแห่งแรกในเอกภพ พร้อมกับส่องทะลุฝุ่นเมฆในจักรวาลเพื่อดูการก่อตัวของระบบดาวต่างๆ ในจักรวาล

 

ภาพ: https://esawebb.org

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X