×

สาธิต ชวนประชาชนฉีดวัคซีน ชี้ทุกสูตรไขว้เป็นที่ยอมรับ แจงเหตุ Moderna ล่าช้า ยืนยันปีหน้าไม่มี Sinovac แล้ว

24.11.2021
  • LOADING...
สาธิต ปิตุเตชะ

หลังยอดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนในประเทศไทยช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้ทาง ศบค. รวมถึง สธ. ต้องออกมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนในประชาชนให้มากที่สุด 

 

สาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสัมภาษณ์กับ THE STANDARD NOW ว่า สถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่จะพบคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ซึ่งในส่วนของผู้ที่ไม่สมัครใจฉีด รัฐบาลคงบังคับไม่ได้ เพียงแต่อาจจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือความเข้าใจเชิงบวก ให้เห็นว่าช่องว่างที่ยังพบคนไม่ไปฉีดวัคซีนอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบนี้ ดังนั้น เรื่องเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงในการดำเนินการหาวิธีใดก็ตาม เพื่อพาประชาชนที่ยังตกค้างมาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่ไม่ค่อยเจอเคสกลุ่ม Anti-Vaccine เยอะเหมือนในต่างประเทศ และที่สำคัญจากหน้าสื่อจะเห็นว่า กลุ่มคน Anti-Vaccine จะออกมารณรงค์ไม่ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน ซึ่งนับว่าโชคดีที่ไทยยังไม่มีเหตุการณ์ทำนองนั้น

 

ส่วนอีกกลุ่มที่พบมากคือกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน อาจจะเป็นการได้รับข้อมูลจากการเสพข่าวที่มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ก็อาจจะเป็นภาพจำที่สร้างความกังวลให้ประชาชนได้ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มคนที่ยังรอคอยวัคซีนที่ตนเองต้องการ หรือกลุ่มคนที่พรีออร์เดอร์วัคซีนจากโรงพยาบาลต่างๆ กลุ่มเหล่านี้ก็คือส่วนหนึ่ง

 

ขณะที่เรื่องของตัวเลขยอดฉีดวัคซีนบางพื้นที่ที่ยังน้อยอยู่ มีเหตุผลหลายปัจจัย อย่างแรกคือตอนบันทึกข้อมูลจะเป็นการบันทึก ณ จุดบริการวัคซีน ด้วยเหตุนี้บางพื้นที่ ยกตัวอย่าง ภาคอีสานที่หลายจังหวัดดูเหมือนมีคนฉีดน้อย แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านั้นอาจย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพียงแต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน และรับวัคซีนที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว จึงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ยอดในจังหวัดภาคอีสานดูน้อยผิดปกติ ขณะที่ยอดในเขต กทม. และหลายจังหวัดในปริมณฑลมียอดฉีดทะลุเกิน 100% ไปแล้ว 

 

ส่วนตัวเลขที่แท้จริงยังอยู่ระหว่างเช็กจากบันทึก ณ จุดบริการ กับตัวเลขประชาชนตามภูมิลำเนาว่าเหลื่อมกันขนาดไหน จะได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดวัคซีนประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงให้มากที่สุด

 

ส่วนเป้าหมายที่ สธ. เคยวางไว้อยากให้ยอดฉีดวัคซีนทะลุ 100% ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน แต่ ณ วันนี้ (24 พฤศจิกายน) เมื่อเทียบกับเป้าหมายถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่นั้น สาธิตยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่หวังไว้ แต่เนื่องด้วยเหตุผลที่ทำให้ยอดฉีดลดลงที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น อาจทำให้ยอดเดือนพฤศจิกายนเป็นไปตามเป้าหมายค่อนข้างยาก ซึ่งอาจต้องใช้กลยุทธ์และการจัดการที่เข้มแข็ง เพื่อพากลุ่มคนที่ไม่เต็มใจฉีดเข้าระบบฉีดให้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการชวนเชิญชวน สาธิตระบุว่า สธ. ทำมาแล้วหลายวิธี ทั้งลงพื้นที่ฉีดแบบเชิงรุก รวมถึงให้คำแนะนำแก่สถานประกอบที่ตั้งอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ไปจนถึงการสร้างแรงจูงใจต่างๆ อาทิ ฉีดแล้วสามารถรับส่วนลดค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือแม้แต่ลุ้นรับของรางวัลต่างๆ ก็เป็นมาตรการที่ได้ผลในพื้นที่ต่างจังหวัด 

 

ขณะเดียวกันยังเกิดกระแสของการปฏิเสธรับวัคซีนสูตรไขว้หรือวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา เพราะไม่เชื่อมั่นในผลลัพธ์ ในประเด็นนี้สาธิตกล่าวว่า เรื่องนี้คือสิ่งที่กระทรวงพยายามอธิบายมาตลอดว่า วัคซีนสูตรไขว้ชนิดต่างๆ ไม่ได้คิดโดยรัฐบาลเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการที่หาข้อมูลว่า เป็นสูตรที่ฉีดได้และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ และองค์การอนามัยก็ยอมรับ รวมถึงสูตรที่กำลังจะใช้เร็วๆ นี้คือ AstraZeneca + Pfizer สูตรนี้อังกฤษคือประเทศที่ใช้มาก่อน และเวลาเดินทางข้ามประเทศ หลายประเทศก็ยอมรับในสูตรนี้เช่นกัน

 

“ในข้อมูลเหล่านี้เราก็ต้องบอกตามความเป็นจริง ส่วนใครไม่เชื่อมั่นในส่วนของรัฐบาลก็เป็นสิทธิ์ ซึ่งทาง สธ. ต้องให้ข้อมูลมากที่สุด ที่จะกลายเป็นเหมือนกับรณรงค์ทางอ้อมว่า ถ้าเขาไม่ฉีดวัคซีน การเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าสถานประกอบการต่างๆ ก็จะมีความยุ่งยาก ฉะนั้นในส่วนนี้เราคิดว่าเราพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดในกรอบเท่าที่รัฐบาลจะทำได้” สาธิตกล่าว

 

ส่วนกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชวนให้ประชาชนที่ยังรอวัคซีนที่จองผ่านภาคเอกชน เช่น Moderna ให้เข้ารับวัคซีนของรัฐบาลก่อน จนเกิดเป็นกระแสตีกลับจากประชาชนว่าทำไมถึงไม่เร่งรัดวัคซีนอย่าง Pfizer หรือ Moderna ให้รีบเข้ามา เพราะทุกคนก็ได้ชำระค่าใช้จ่ายแล้ว 

 

สาธิตบอกว่า ในส่วนนี้อาจต้องให้ความเป็นธรรมกับอนุทิน เพราะเรื่องระยะเวลาการผลิตหรือจัดส่งขึ้นอยู่กับบริษัท อีกทั้งในสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าต้นทางส่งช้าเราก็ปรับไม่ได้ ในส่วนนี้ยังถูกสำนักอัยการติงอยู่ ส่วนระยะเวลาในการส่งก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตฝ่ายเดียว ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้อำนาจต่อรองขึ้นอยู่กับบริษัทต้นทาง ที่แม้แต่ภาคเอกชนสั่งซื้อเองยังไม่สามารถกำหนดในรายละเอียดได้ โดยสรุปคือขึ้นอยู่กับผู้ผลิตวัคซีน

 

เช่นเดียวกันกับ Pfizer 30 ล้านโดสที่รัฐบาลอนุมัติซื้อในวันนี้ว่า มีระยะเวลาที่อาจจะได้รับตั้งแต่มกราคมถึงกันยายน 2565 คือสิ่งที่ไทยกำหนดไม่ได้ และต้องยอม แต่ในแง่ดีคือสถานการณ์ปีหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นเข็มบูสเตอร์กันแล้ว เพราะกว่าจะถึงตรงนั้นคนไทยน่าจะได้ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ได้รับปีนี้กันไปเยอะแล้ว

 

เมื่อถูกถามว่าปีหน้าจะยังมี Sinovac หรือไม่ สาธิตกล่าวว่า “หมดแล้ว” แต่ 5 ล้านโดสที่ยังอยู่ก็ต้องจัดสรรไปฉีดในกลุ่มที่เหมาะสม เช่น แรงงานต่างด้าว ที่ใช้ฉีดเป็นสูตรไขว้ พร้อมย้ำว่าสูตร Sinovac + AstraZeneca ให้ผลลัพธ์เกือบเท่าสูตร AstraZeneca + Pfizer เพียงแต่ภูมิคุ้มกันจะอยู่น้อยกว่าสูตรหลังเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X