เพราะคนไทยมีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดนี้มีรายใหญ่แค่ 2 รายหลัก ทำให้ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ตัดสินใจทุ่ม 4 พันล้านบาท ต่อยอดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงออกมาเป็น ‘เบียร์ขวด’ ที่จะเข้ามาสะเทือนตลาด 2.6 แสนล้านบาท พร้อมท้าชนช้างกับสิงห์ไตรมาส 4 นี้!
เสถียรเล่าว่า การตัดสินใจมาปั้นเบียร์ขายเป็นเพราะมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ซึ่งมั่นใจว่ามีรสชาติที่ดี แต่ความท้าทายคือจะเคาะราคาขายออกมาอยู่ที่เท่าไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หวั่นต้นทุน-ภาษีทำตลาดสะดุด ‘ไฮเนเก้น’ ค้านรัฐรีดภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เพิ่ม เผยต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด อาจเล็งปรับราคาเพิ่มอีกรอบ
- ‘ไทยเบฟ’ เปิดศึกชิงเบอร์ 1 ตลาดเบียร์ ส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอไรซ์’ ขายในเชียงใหม่-เชียงรายเป็นแห่งแรก เขย่าตลาดเบียร์พรีเมียมครั้งแรกในไทย
- ‘ไทยเบฟ’ แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ รื้อแผน IPO ‘ธุรกิจเบียร์’ ครั้งที่ 3 คาดระดมทุน 2.7-3.5 หมื่นล้านบาท ลดลงครึ่งหนึ่งจากเป้าเดิม
- ปิดฉาก 3 ปี ‘U BEER’ สิงห์ยกเลิกผลิต-ทำตลาดแล้ว
ไม่แปลกที่เสถียรจะมองเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะแม้ข้อมูลจาก Euromonitor จะระบุว่า ตลาดเบียร์ในบ้านเรามีมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีผู้เล่นหลัก 3 ราย ได้แก่ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ มีส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามด้วย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มีส่วนแบ่ง 34.3% และ บจก.ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7% (ข้อมูลวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565)
หากพิจารณาเป็นรายแบรนด์ พบว่า ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมาคือ ช้าง 31.2%, สิงห์ 11.2%, ไฮเนเก้น 3.8% และอาชา 2.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าเบียร์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มแมส ในขณะที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงจับฐานลูกค้าระดับบน ดังนั้นการเคาะราคาจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อทำให้สามารถเจาะตลาดที่ ‘ช้างและสิงห์’ กำลังครองตลาดอยู่
แต่กระนั้นเสถียรก็เชื่อมั่นว่า เบียร์ที่กำลังจะออกมาในไตรมาส 4 นี้จะสามารถเจาะตลาดได้ เพราะเคยมีประสบการณ์จากการปั้นสินค้าใหม่เพื่อเจาะกลุ่มที่มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกเครื่องดื่มชูกำลังภายใต้แบรนด์คาราบาวแดง หรือการทำเหล้าขาวและเหล้าสีผ่าน ‘บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด’ ซึ่งสร้างกำไรปีละหลักพันล้าน แถมยังมียอดขายที่เติบโตปีละ 50% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
“การทำเบียร์จะทำให้เราสามารถเจาะกลุ่ม On Premise (ช่องทางขายผ่านร้านอาหาร ผับ บาร์) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมียอดขายเป็นเบียร์ ซึ่งเราวางแผนที่จะออก 2-3 ตัวด้วยกัน”
ขณะเดียวกันนอกจากช่องทาง On Premise เสถียรก็มีช่องทางค้าปลีกเป็นของตัวเองอย่าง ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ซึ่งมีแล้ว 5,000 สาขา และกำลังจะขยายเป็น 8,000 สาขา ก่อนจะขยับเป็น 20,000 สาขาในอนาคต
สำหรับการบุกตลาดเบียร์ในครั้งนี้ เสถียรได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท สำหรับสร้างโรงงานผลิตที่จังหวัดชัยนาท อันเป็นทำเลเดียวกับโรงงานที่ผลิตเหล้าอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งที่เสถียรแย้มออกมาถึงธุรกิจใหม่ที่กำลังจะทำ ซึ่งเชื่อว่าจะสะเทือนเจ้าตลาดเดิมได้ไม่มากก็น้อย เพราะตัวเสถียรก็ไม่ใช่รายเล็กๆ ส่วนจะสะเทือนได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูในวันที่เบียร์ของเสถียรออกวางขายจริงๆ!