×

ข้อมูลดาวเทียมชี้ ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มกว่า 2 ฟุตภายในปี 2100 โอซากา-เซี่ยงไฮ้เสี่ยงจมน้ำ

14.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผลวิจัยจากข้อมูลดาวเทียมล่าสุดบ่งชี้ว่าระดับน้ำในมหาสมุทรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 60 เซนติเมตรในอีก 82 ปีข้างหน้า
  • ปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว
  • หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส อาจทำให้หลายเมืองเสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ ตั้งแต่ไมอามี เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงโอซากา

ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลกทำให้ธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

 

วารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS เผยผลการศึกษาของคณะนักวิจัย นำโดย ศาสตราจารย์สตีฟ เนเรม แห่งภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากดาวเทียม TOPEX ย้อนหลังไปจนถึงปี 1993 เพื่อวิเคราะห์ระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลก โดยพบว่าระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตรในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ย 3 มิลลิเมตรต่อปี

 

 

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยระบุว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่อัตราคงที่ โดยระดับน้ำอาจเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยหลังจากนี้ หรือเพิ่มขึ้นอีก 0.08 มิลลิเมตรทุกๆ 1 ปี ด้วยปัจจัยเร่งจากก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนทั่วโลก ซึ่งทำให้ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ตัวเลขดังกล่าวมาจากการปรับค่าข้อมูลดาวเทียมโดยมีการตัดปัจจัยระยะสั้นออก เช่น ปรากฏการณ์เอลนินโญและลานินญา ตลอดจนเหตุการณ์ปะทุของภูเขาไฟปินาตูโบในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1991 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำทะเลลดลง ก่อนที่จะมีการส่งดาวเทียม TOPEX ขึ้นไปสำรวจและทำแผนที่ลักษณะภูมิประเทศของทะเลและมหาสมุทร

 

 

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เนเรมยังดูข้อมูลจากดาวเทียม Gravity Recovery and Climate Experiment (GRACE) ขององค์การนาซาและศูนย์อวกาศเยอรมนี ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสนามโน้มถ่วงเพื่อวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยคณะวิจัยพบว่าการละลายของธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.02 และ 0.03 มิลลิเมตรตามลำดับในทุกๆ ปี

 

ศาสตราจารย์เนเรมเตือนว่า วิกฤตธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาละลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลให้ระดับน้ำโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 65 เซนติเมตรภายในปี 2100 หากคำนวณจากฐานตัวเลขคงที่ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายแล้ว ปัจจุบันระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งยังเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เพราะเมื่อน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นก็จะทำให้ปริมาตรน้ำขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตามมา

 

ผลการวิจัยของทีมเนเรมยังสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ โดยองค์กร Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) เคยคาดคะเนไว้ว่าระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 52-98 เซนติเมตรภายในปี 2100 หากยังไม่มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก


ศาสตราจารย์จอห์น เชิร์ช แห่งศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานของ IPCC กล่าวว่า ผลการศึกษาชิ้นใหม่นี้มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นเครื่องยืนยันว่าระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

ศาสตราจารย์เชิร์ชยังเตือนด้วยว่า การละลายของน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีการประมาณการไว้ก่อนหน้านี้อีกด้วย

 

ขณะที่ ไมเคิล แมนน์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ระบุว่าผลการศึกษาล่าสุดได้ยืนยันในสิ่งที่พวกเราวิตกกังวลกันมานาน เนื่องจากธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ที่ละลายเร็วกว่าที่คาดจะเป็นตัวเร่งให้ระดับน้ำในทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าคิด


ศาสตราจารย์เนเรมระบุว่าตัวเลขที่ได้มานี้มีประโยชน์มาก เพราะเราจะสามารถคำนวณและทำนายระดับน้ำและอัตราเร่งในอนาคต และดูว่ามันสอดคล้องกับโมเดลสภาพอากาศอย่างไร

 

 

เมืองใหญ่ทั่วโลกเสี่ยงจมน้ำ  

รายงานระบุว่า หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ฟุตจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองท่าสำคัญในเอเชีย เพราะเมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น หรือสตอร์มเซิร์จจากอิทธิพลของพายุจะทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมเมืองรุนแรงยิ่งขึ้น

 

IPCC เคยออกรายงานเตือนว่า ชายหาดเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ อาจจมอยู่ใต้น้ำหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 50 เซนติเมตร โดยประชากร 8 ล้านคนที่อาศัยในอเล็กซานเดรียและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์จะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีภัยน้ำท่วม

 

เช่นเดียวกับนครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส อาจทำให้พื้นที่ชายฝั่งโอซากาจมอยู่ใต้บาดาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวน 5.2 ล้านคน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ว่าความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกิดจากน้ำท่วมอาจมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2070

 

ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีและมีแม่น้ำหวงผู่ไหลผ่ากลาง หากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเกือบทั้งเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรมากถึง 17.5 ล้านคน

 

 

สำหรับสหรัฐอเมริกา เมืองที่เสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำคือไมอามี รัฐฟลอริดา โดยก่อนหน้านี้มีรายงานเตือนว่าสินทรัพย์บริเวณริมชายฝั่งไมอามีคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอาจถูกน้ำท่วมภายใน 15 ปีข้างหน้า

 

ที่ผ่านมา สหประชาชาติพยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน โดยหนึ่งในความร่วมมือคือความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ ได้สะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศยังคงร่วมมือแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X