×

Satang เสนอตั้ง Sandbox ศึกษาการนำคริปโตมาใช้งานในชีวิตประจำวัน

26.03.2022
  • LOADING...
Satang

สรัล ศิริพันธ์โนน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ ‘เกณฑ์กำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MoP)’ ว่า Satang Pro ไม่ได้เปิดให้บริการรับชำระค่าสินค้าและด้วยคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้ว จึงไม่กระทบต่อธุรกิจที่ให้บริการกระดานเทรดเพื่อการลงทุน และไม่กระทบกับกิจกรรมการเทรด นักลงทุนก็สามารถเทรดไปตามปกติ  

 

ส่วนกรณีลูกค้าที่เคยระบุว่าเปิดกระเป๋ากับ Satang เพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการนั้น หากลูกค้าจะใช้ Satang Pro เพื่อแลกเปลี่ยนคริปโตก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าพบว่ามีการกระทำเข้าข่ายการรับชำระด้วยคริปโต Satang ก็จะต้องแจ้งเตือนลูกค้าไปจนถึงระงับการใช้งานชั่วคราว และลูกค้าจะต้องยืนยันตัวตน หรือ KYC ใหม่อีกครั้ง 

 

อย่างไรก็ตามเกณฑ์นี้ใช้กำกับเฉพาะ ‘ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต.’ คือ ไม่ให้ Exchange และ Broker ไปอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าในการใช้คริปโตเพื่อรับแลกสินค้าเท่านั้น ถ้าร้านค้าจะรับโอนกันเองกับผู้ซื้อระหว่างกระเป๋าส่วนตัว (Private Wallet) คือทำกันเองโดยไม่ได้มีตัวกลางอย่าง Exchange และ Broker มาอำนวยความสะดวก ก็สามารถทำได้ แต่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องรับความเสี่ยงเอง ซึ่งก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ก.ล.ต. ไม่มีอำนาจเข้าไปห้ามการทำธุรกรรม เพราะอยู่นอกเหนือการกำกับ ขอบเขตการกำกับนั้นอยู่แค่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จดทะเบียนธุรกิจในประเทศ 

 

“มองว่าการที่ ก.ล.ต. และ ธปท. เร่งออกมาตรการนี้ เพื่อ ‘หยุด’ ความร้อนแรงของกระแสการชำระด้วยคริปโต เพราะมีหลายภาคธุรกิจที่ประกาศจับมือกับ Exchange รับบริการชำระด้วยคริปโต ทั้งอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์รถหรู ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ซึ่งจะทำให้การใช้งานแพร่หลายเร็วขึ้น แม้ธุรกรรมขณะนี้ยังไม่มากนัก แต่อนาคตก็น่าจะมากขึ้น” สรัลกล่าว

 

เรื่องนี้เป็นความกังวลของธนาคารกลางเกือบทั่วโลกที่มีระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BoE (Bank of England) ก็ออกมาจี้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกให้เร่งกำหนดกรอบการใช้กฎระเบียบควบคุมสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโต เพื่อป้องกันผลกระทบกับเสถียรภาพด้านการเงินเป็นวงกว้าง 

 

“จริงๆ แล้ว การชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโตก็เป็นหนึ่งในรูปแบบของ Digital Payment ซึ่งน่าจะเดินควบคู่ไปกับการชำระด้วยเงินบาทแบบปกติได้ แทนที่จะแบนไปเลย Satang พร้อมที่จะให้ข้อมูลและความคิดเห็น ผลดี-ผลเสียจากมุมของผู้ประกอบการ เพื่อใช้พิจารณาส่งเสริมอุตสาหกรรมคริปโตในประเทศไทย ถ้าผู้กำกับดูแลมองว่าจะเกิดความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจการเงิน ก็อาจตั้งเป็น Sandbox โดยให้ผู้ประกอบการเข้าร่วม เพื่อศึกษาหรือพัฒนาวิธีการในการนำคริปโตมาใช้งานในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้ดียิ่งขึ้น และทำให้ประเทศไทยไม่พลาดโอกาสในการเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโตของเอเชีย เพราะเราไม่ได้มองแค่การชำระค่าใช้จ่ายจากภายในประเทศอย่างเดียว เรามองไปถึงการเคลื่อนย้าย Capital Inflow จากต่างประเทศด้วย” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising