แสงไฟสีส้มเข้มของกองเพลิงลุกโชนอยู่ตรงหน้า เสียงเปรี๊ยะๆ ของไม้จากบ้านไม้กลายเป็นกองฟืนโหมไฟให้กระหน่ำหนักขึ้นเรื่อยๆ
เด็กน้อยคนหนึ่งในวัย 14 ปี น้ำตาคลออุ้มน้องชายอายุ 7 เดือนอยู่ในมือ แบกหนังสือเรียนไว้ที่กระเป๋าหลัง วิ่งไปสู่สวนลุมพินีซึ่งเป็นจุดนัดหมาย หลังทราบก่อนหน้าอยู่แล้วว่าจะมีการวางเพลิงไล่ที่
วิ่งไปข้างหน้า แต่ก็ยังหยุดเป็นระยะๆ เพื่อหันหลังกลับมามองควันไฟโหมกระหน่ำเผาบ้านของตัวเอง เจ็บช้ำ ปวดร้าว กัดฟันแน่น เด็กน้อยหันหลังกลับอีกครั้งเพื่อวิ่งไปหาพ่อแม่ของตัวเองจนพบ และเห็นน้องๆ อีก 5 คนอยู่กับพ่อแม่ครบหมดแล้ว
ทั้งครอบครัว ณ เวลานั้น 9 ชีวิตหนีพ้นอัคคีภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต ครั้งที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดสิ้น มองแม่ มองน้องที่ร่ำร้องไห้ มองพ่อที่ยืนน้ำตาคลอ กัดฟันมองควันไฟ ความคั่งแค้นแสนสาหัส ตัดสินใจฉวยหนังสือที่แบกไว้ด้านหลังแล้วขี่จักรยานของพ่อกลับไปยังกองเพลิงอีกครั้งโดยไม่ฟังคำทัดทานจากใคร
เมื่อกลับไปถึงกองเพลิงส่วนที่เริ่มลดกระแสความรุนแรงลง เด็กน้อยวิ่งไปใกล้เพลิงน้อยๆ ที่ยังโหมอยู่ แล้วโยนหนังสือเรียนทั้งหมดทิ้งลงไปกลางกองเพลิงนั้น พร้อมกับตัดสินใจว่าจะไม่เรียนหนังสืออีกแล้ว ชีวิตนี้เขาจะมุ่งเข้าสู่การทำงานหาเงินช่วยพ่อช่วยแม่เลี้ยงน้องทุกคน ฟื้นฟูทุกอย่างกลับคืนมา
นี่คือชีวิตเริ่มต้นของพ่อของฉันเอง
ป๋าไม่ได้เล่าเรื่องราวของท่านแค่ครั้งเดียว ตลอด 40 กว่าปีที่ฉันอยู่เคียงข้างป๋า ป๋าจะเล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้บ่อยครั้งมาก บ่อยจนฉันเก็บมาใส่ใจและเป็นแรงกระตุ้นให้ตั้งใจเรียน กระตุ้นให้ตัวเองเรียนสูงๆ เพื่อทดแทนและทำหน้าที่แทนป๋า ป๋าผู้ที่อยากเรียนหนังสือ แต่ต้องโดนพรากการศึกษาไปเพราะกองเพลิงไล่ที่ในครั้งที่ท่านยังเยาว์วัย
บางคนบอกว่าไฟไหม้ก็ยังเหลือที่ดิน ยังมีอะไรเหลือติดตัว แต่บังเอิญว่าเป็นที่เช่า ซึ่งก็คือที่ดินที่ทุกวันนี้คือบริเวณจามจุรีสแควร์ สมัยนั้นบ้านของอากงและอาม่า (ปู่ย่าของฉันเอง) พร้อมลูกอีก 7 คน เป็นบ้านเช่าอยู่ตรงสามย่านแถวจุฬาฯ สภาพแถวจามจุรีสแควร์ในสมัยนั้นเรียกได้ว่าเป็นแถบสลัมคนจีนก็ว่าได้ บ้านที่ป๋าอยู่ก็เป็นเรือนไม้หลังย่อยๆ ที่มีพื้นที่แบ่งส่วนเป็นโรงงานทอผ้าด้วย
ที่นี่เรามีเครื่องทอผ้า 6 เครื่อง ผ้าที่ทอจะเป็นผ้าทำตุ๊กตาจีน ซึ่งในสมัยนั้นจะไม่ค่อยมีการผลิตผ้าแบบนี้เท่าไรนัก อาม่าถือว่าเป็นเถ้าแก่เนี้ยที่ไม่ได้ยากจนแล้ว เพราะแถบนั้นเรียกได้ว่าเป็นสลัมคนจีน แต่อาม่าของฉันอยู่ในระดับสร้างเนื้อสร้างตัวได้อยู่ คุณแม่ของเพื่อนฉันเคยอยู่แถวนั้นเหมือนกัน ก็เคยเล่าให้ฟังว่ารู้จักอากงอาม่าของฉัน แล้วเท้าความหลังให้ฟังว่า “โอ๊ย รวย อาม่าของเธอมีทองใส่แล้ว”
หลังไฟไหม้ หมดไปทุกอย่าง ฐานะที่กำลังก่อร่างสร้างตัว เครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากิน อากง จากเถ้าแก่โรงงานทอผ้าก็กลายเป็นพ่อค้าหาบน้ำเต้าหู้ อาม่าก็กลายเป็นแม่ค้าในตลาด ความเป็นเถ้าแก่และเถ้าแก่เนี้ยก็สูญสลาย
อากงพาครอบครัวทั้งหมดไปเช่าบ้านอยู่แถวเย็นอากาศ ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ในปัจจุบัน ตอนเช้าตีสามก็จะตื่นมาช่วยกันทำน้ำเต้าหู้ไปขาย จะเป็นการขายสองรอบโดยมีลูกชายเริ่มโตหลายๆ คน ลูกสาวที่โตเป็นสาวหนึ่งคน และยังเล็กอีกหนึ่งคนมาช่วยพ่อแม่ทำงานแต่เช้า อากงจะหาบน้ำเต้าหู้ไปขายที่หน้าศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงที่อยู่หลังตลาดสวนพลู ส่วนอาม่าก็จะหาบไปขายในตลาดสวนพลู จะมีการขายน้ำเต้าหู้สองเวลาจนได้ชื่อว่า
‘อาเจ็กน้ำเต้าหู้ อาสิมน้ำเต้าหู้’
เพราะทั้งคู่ร่วมกันขายน้ำเต้าหู้ส่งลูกเรียนจนจบมหาวิทยาลัยได้หลายคนเลย (ที่ทั้งคู่เป็นอาเจ็กและอาสิม (อาและอาสะใภ้) เพราะอาม่าของฉันไปดูหมอมาแล้วบอกว่าจะให้ลูกๆ ทุกคนเรียกพ่อเรียกแม่ไม่ได้ ดวงจะไม่ดี ให้ลูกเรียกพ่อแม่ว่าอาเจ็ก อาสิม ซึ่งทุกคนก็จะเรียกแบบนี้จนฉันโต)
แม้กระทั่งตอนฉันเกิดมาแล้ว ฉันยังได้เคยตามอาม่าไปขายน้ำเต้าหู้ด้วยเลย (ใครๆ ก็บอกว่าน้ำเต้าหู้ของอาม่าไม่ค่อยอร่อยหรอก จืด เพราะผสมน้ำเยอะ พวกเราก็แซวๆ กันเองตลอดจนเป็นเรื่องขำขันประจำครอบครัว) หลังจากช่วยกันขายน้ำเต้าหู้เสร็จ อากงก็จะเข้าโรงงานของพี่ชายเพื่อไปสืบผ้า พวกอาของฉันเล่าว่าอากงก็รับจ้างสืบผ้าให้กับพี่ชายของตัวเองซึ่งทอผ้าไหมไทย และอากงไม่ได้เป็นเถ้าแก่อีกเลยตลอดชีวิต ซึ่งแน่นอน หมอดูบอกไว้ด้วยเช่นกัน
ตกกลางคืนเมื่ออากงกลับมาบ้าน แกก็จะเปิดวิทยุฟังโน่นฟังนี่ อาของฉันเล่าว่าสมัยก่อนวิทยุมีการอ่านสามก๊กให้ฟัง อากงก็จะฟังสามก๊กทางวิทยุนี่แหละ เป็นการฝึกฝนภาษาไทย สำหรับฉันแล้ว อากงถือว่าพูดไทยได้เก่งมากๆ เลยค่ะ (ด่าภาษาไทยชัดมาก ขอบอกเลย) พูดกับฉันนี่ไม่มีภาษาจีนแคะฮากกาปนเลย แล้วสมัยก่อนจะมีคนหาบเร่มาเจาะหูให้ตามบ้านคน อาผู้หญิงของฉันเล่าให้ฟังว่าอากงเป็นคนเรียกเข้ามาเจาะหูให้ลูกสาว เพราะท่านชอบให้ลูกสาวแต่งตัวสวยๆ
ส่วนป๋าก็จะเข้าไปทำงานเป็นนายช่างซ่อมเครื่องในโรงงานทอผ้าชื่อต่งฮวด แถวถนนพระราม 4 ที่ดินตรงที่เป็นโรงงานทอผ้ากลายเป็นโรงพยาบาลเทพธารินทร์ในปัจจุบันนี้ และโรงงานนี้แหละที่เป็นสถานที่ที่พ่อกับแม่ฉันเริ่มพบกันและรักกัน
ในวันเสาร์อาทิตย์ อาม่าก็จะพาลูกชายคนรองที่ฉันจะเรียกว่าหยี่เจ็กไปขายของที่สนามหลวง และลูกๆ ตั้งแต่หยี่เจ็กลงไปก็จะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดช่องลม โดยที่พ่อของฉันกับน้องสาวคนโตที่ฉันเรียกว่าตั่วโกวไม่เรียนหนังสือแล้ว ตั่วโกวทำงานขายของไปเรื่อยๆ และพอโตเป็นสาวสวย ตั่วโกวก็ไปเป็นนางแบบเสื้อผ้าด้วย เพราะแกสวย แต่ไม่ได้ดังมากมายอะไร ได้ลงหนังสือบ้าง แต่ฉันไม่มีรูปเลย เพราะแกเสียชีวิตไปนานมากแล้ว ฉันไม่ได้สนิทกับตั่วโกวมาก แค่พอรู้ว่าสวยและไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกไปทำงานข้างนอกตลอด
ใช้เวลาเป็นสิบปีได้ ค่อยๆ สะสมเงินทองจนอากงมีเงินพอไปซื้อเครื่องทอผ้าที่ถูกไฟไหม้มา 4 เครื่องเพื่อมาซ่อม โดยป๋าจะเป็นคนซ่อมเครื่องทอผ้าให้ แล้วแกก็เป็นคนทอผ้าเอง
ตอนเช้าป๋าไปทำงานที่โรงงานต่งฮวด ตกเย็นก็ไม่เคยแวะไปไหน ก็จะตรงกลับมาที่ทำงานของอากงเพื่อช่วยพ่อของตัวเองซ่อมเครื่องต่อและช่วยทอผ้าในช่วงดึก ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็จะไม่ไปไหน เพราะต้องอยู่ทอผ้า แม้แต่ช่วงจีบแม่ฉันก็ไม่ได้พาไปจีบที่ไหนไกล หอบหิ้วกันมาที่โรงงานทอผ้าที่มีแค่ 4 เครื่องนี่แหละ แม่ของฉันก็จะมานั่งกรอด้ายให้ นานๆ ทีป๋าถึงจะพาแม่ของฉันไปดูหนังบ้าง ไปนั่งสวนลุมบ้าง ป๋าเก็บเงินเก็บทองจนมีรถมือสิบ (รถเก่าที่ผ่านมาหลายมือ) แล้วก็ขับพาแม่ฉันไปเดตกับเขาได้บ้างก่อนจะแต่งงาน
ฉันจำความได้ว่าสมัยก่อนห้างสรรพสินค้ายังไม่เยอะเหมือนทุกวันนี้ ป๋าจะพาครอบครัวคือพวกฉันนี่แหละไปนั่งสวนลุมเป็นประจำ เกือบทุกเย็นวันอาทิตย์ บางทีอาม่าและพวกอาคนอื่นๆ ก็ไปด้วย เอากับข้าวไปนั่งกินกัน ป๋ากับอากงจะเหมือนกันคือช่างเล่าเรื่องราวในอดีตให้พวกเราฟัง
เวลาฉันถามป๋าว่าทำไมป๋าเรียนถึงแค่ ป.6 จากโรงเรียนสิงฟ้า ป๋าก็จะบอกเล่าถึงวันที่ไฟไหม้ในวันนั้นตอนแกยังเด็กให้ฟังเสมอๆ เวลาป๋าเล่าให้ฉันฟัง ป๋ามักจะใส่อารมณ์ ใส่ความเจ็บแค้นไว้เสมอๆ ป๋าบอกด้วยว่าป๋าขี่จักรยานเอาก้อนหินไปปากระจกตึกเรียนของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยนะ (บอกเลย ตอนเล่านี่ฮีภูมิใจมาก) แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันสังเกตได้คือไฟไหม้ครั้งนั้นมันทำให้ป๋าอดเรียนหนังสือ ซึ่งท่านเป็นคนรักเรียน รักการอ่านหนังสือมาก (เพชรพระอุมา, พล นิกร กิมหงวน ป๋าอ่านหมด) แต่จำใจต้องมาทำงาน แต่ก็มุมานะเสมอ ป๋าไม่เคยยอมแพ้กับโชคชะตา และความที่อากงเริ่มงานจากการเป็นเถ้าแก่โรงงาน ป๋าก็มีแผนตั้งเป้าไปสู่การเป็นเถ้าแก่เช่นกัน
ความเจ็บแค้นที่ป๋าบอกเสมอว่าในยุคนั้นไฟไหม้บ่อยมาก และเป็นไฟไหม้ไล่สลัม ป๋าบอกว่านี่คือเหตุผลที่ป๋าชอบจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเพิ่งจะก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ป๋าก็จะเล่าคร่าวๆ แบบไม่ได้มีความถูกต้องในแง่ประวัติศาสตร์เท่าไร เพราะท่านก็ตามการเมืองแบบงูๆ ปลาๆ เฉกเช่นคนไทยเชื้อสายจีนที่มุมานะที่จะสร้างฐานะทางครอบครัวมากกว่าจะยุ่งวุ่นวายทางการเมือง
ชนชั้นกลางแบบป๋าก็คือชนชั้นที่รู้อะไรกลางๆ กลวงๆ ป๋านี่รู้อะไรจริงบ้างไหมเนี่ย แต่ก็ว่าไม่ได้นะ ป๋าเป็นคนเอาแต่ทำงานจนไม่มีเวลามานั่งหาความจริงของเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองหรอก มันคือหน้าที่ฉันสินะที่ต้องค้นหาว่าทำไมป๋าถึงชอบจอมพลผ้าขาวม้าแดงที่มีแต่ชื่อเสียงไม่ดี
ฉันมานั่งอ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มก็ค้นพบว่าป๋าเริ่มต้นชีวิตการทำงานในยุคจอมพล สฤษดิ์ จริงๆ เป็นยุคภายใต้เผด็จการทางทหารที่มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในยุคนั้นเต็มไปด้วยการก่อสร้าง การบันเทิง การท่องเที่ยวยุคหนึ่งเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นยุคของการสร้างเมืองและสร้างเถ้าแก่มากมายให้กับประเทศไทย และเถ้าแก่ที่ว่านี้เป็นเถ้าแก่ระดับธุรกิจขนาดเล็ก
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในยุคนั้นพ่อฉันจะอินและ ‘เชื่อ’ ในคำคมที่ออกมาจากปากของเผด็จการ จอมพล สฤษดิ์ แบบท่องจำขึ้นใจ เช่น
งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข
พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ
คำคมที่ติดปากป๋าจนน่าจะติดเป็นนิสัยคือ ข้าพเจ้าจะรับผิดชอบแต่ผู้เดียว
และที่น่าจะอินเข้าสมองคือป๋าบอกว่า มีแต่จอมพล สฤษดิ์ นี่แหละที่บอกเสมอๆ ว่า บ้านไหนเป็นต้นเพลิงไฟไหม้ เจ้าของบ้านจะโดนยิงเป้า
ป๋าบอกว่าคำขู่นี้แหละที่ป๋าชอบมาก ชอบที่ว่าในช่วงการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ กรุงเทพมหานครแทบไม่มีไฟไหม้อีกเลย
ฉันถามป๋าว่าแล้วจอมพล ป. เป็นอย่างไร ป๋าบอกว่าจอมพล ป. มันให้จุฬาฯ วางเพลิงบ้านเรา ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ป๋าไม่เคยลืมแค้นที่ไฟไหม้บ้านเลย ขนาดฉันบอกว่าไปอ่านหนังสือมาแล้วมาบอกว่าทางจุฬาฯ ไม่เกี่ยว ป๋าก็ไม่เคยยอมรับเลย ดื้อชะมัด
ป๋าบอกว่า ดีนะที่ลูกป๋าไม่มีใครเรียนจุฬาฯ เลย ไม่งั้นป๋าคงอึดอัดใจ ฉันก็จะหัวเราะแล้วตอบกลับป๋าเสมอว่า เออ ลูกก็ใช่ว่าจะเรียนเก่งนะ แค่เรียนพอใช้ จุฬาฯ เนี่ย สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดหรอก
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ยุคสมัยที่ปกครองโดยเผด็จการ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำหรับสามัญชนคนธรรมดาน่าจะชอบใจ เพราะเป็นยุคที่บ้านเมืองเหมือนจะสงบเงียบ เสมือนหนึ่งไม่มีความขัดแย้งใดๆ ในบ้านเมือง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะทางสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ถนน ทางท่องเที่ยวมีโรงแรมโผล่มามากมาย ทางอุตสาหกรรมก็มีโรงงานขึ้นมาตอบรับการเติบโตทางธุรกิจภายในประเทศ เรียกได้ว่ามีแผนพัฒนาประเทศเลยก็ว่าได้ ดูๆ ไปก็มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในประเทศนี้
แต่สำหรับคนที่เรียนสูง เรียนรัฐศาสตร์ และติดตามทางการเมืองก็จะรู้ว่ายุคนั้นถึงจะสงบ แต่มีการกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มข้น มีการโกงกินล้างผลาญไม่ใช่ย่อย มีเรื่องราวของการเมือง การทหาร และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เอื้อประโยชน์กับพวกพ้องตนเองและชนชั้นสูงเท่านั้น คนจนก็จนแบบเคยชิน คนรวยก็รวยแบบเกาะทหารรวย
แต่ความที่บ้านเมืองต้องพัฒนา ทำให้คนมุ่งแต่ทำมาหากินสร้างฐานะ เลยไม่ได้รับรู้เรื่องราวทางการเมืองเท่าไร กว่าจะไปรู้กันอีกทีว่าจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนโปรดของป๋าเลวร้ายแค่ไหน เมียน้อยเยอะขนาดไหน โกงชาติมากมายเพียงใดก็ตอนแกฟลุกตายด้วยโรคไตและอีกสารพัดโรคนี่แหละ เรื่องราวถึงได้แฉกันออกมาว่าเมียนี่มีเงินเป็น 2,000 กว่าล้าน ไหนจะที่ดินอีก 20,000 กว่าไร่ แถมยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจอีกเกือบ 50 บริษัท แต่ป๋าไม่เคยเล่าให้ฉันฟังถึงคนโปรดของแกในแง่ลบเลย ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นหนังสือพิมพ์แฉเรื่องของจอมพลหลังการตายของแกอย่างเมามัน มีการยึดทรัพย์เข้ารัฐเป็นพันล้าน
เราควรจะเลือกอย่างไรระหว่างความสงบของบ้านเมืองในเงื้อมมือของเผด็จการอย่างจอมพลสฤษดิ์ หรือเราอยากได้ความถูกต้องและเป็นธรรมกับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างถูกต้องตามกติกา ดูเหมือนเรื่องราวและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จะย้อนกลับมาให้เราได้คิดวิเคราะห์และเลือกพินิจพิจารณาอยู่เนืองๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนจะต้องตกอยู่ในวังวนแห่งการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำกันเอง แล้วผลกระทบนั้นก็กลับตกมาสู่ประชาชน โดยมีวาทกรรมหลอกหลอนเรามาตลอดว่า
การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว
มันจะไกลได้อย่างไร ในเมื่อการแก่งแย่งชิงดีอำนาจก็เพียงเพื่อให้ได้อำนาจนั้นมาจับจ่ายใช้สอยภาษีของเราอย่างสบายใจเฉิบ แล้วภาษีเหล่านั้นก็มาจากพวกเราชาวประชาชีทั้งผอง ประชาชีก็ได้แต่เจ็บช้ำน้ำใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า การคอร์รัปชันแบบไม่หยุดยั้ง แล้วที่เข้ามาต่อสู้แย่งชิงมวลชนแย่งอำนาจกันก็เพื่อมาแย่งอำนาจในการคอร์รัปชันเงินภาษีที่มาจากพวกเรานี่เอง…
ไม่บ่นดีกว่า ไม่ชอบคุยการเมือง…