เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 สฤณี อาชวานันทกุล ในฐานะนักวิชาการอิสระด้านการเงิน และนักลงทุนรายย่อย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. กรณีการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต. มีรายละเอียดดังนี้
จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เขียนในวันที่ 10 มีนาคม 2566 สิบวันหลังจากที่การรับสมัครเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ก.ล.ต. เล็งกำหนดมูลค่าการซื้อคริปโตขั้นต่ำที่ 5,000 บาท พร้อมมองว่าเหรียญส่วนใหญ่ไร้ปัจจัยพื้นฐานรองรับ
- ‘Zipmex’ ปิดดีลระดมทุน ได้ VC ในเครือ TTA ใส่เงินขึ้นแท่นหุ้นใหญ่
- ผู้บริหาร Bitkub Blockchain แจงชัด ไม่รู้เรื่องดีล SCB พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ใจซื้อเหรียญ KUB ย้ำถือลงทุนยาว
กระบวนการคัดเลือกที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ระบุว่า
“คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวนไม่เกิน 2 ราย เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาให้เหลือ 1 ราย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป”
เนื่องจากการรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศที่ทุกฝ่ายมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รัฐบาลกำลังถูกจับตาดูว่าจะเร่งรัดอนุมัติเรื่องต่างๆ ในลักษณะ ‘ทิ้งทวน’ ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ส่งผลให้หลายคนรวมทั้งผู้เขียนเป็นห่วงว่าคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจรู้สึกว่าต้องรีบเสนอชื่อบุคคลให้กับกระทรวงการคลัง จนไม่มีเวลากลั่นกรองผู้สมัครเท่าที่ควร
ผู้เขียนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะนักลงทุนรายย่อย นักวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงประเด็นธรรมาภิบาล และอดีตคอลัมนิสต์ ‘รู้ทันตลาดทุน’ คอลัมน์รายปักษ์ประจำ กรุงเทพธุรกิจ
ย้อนไปนานกว่า 1 ทศวรรษก่อน ผู้เขียนเคยเขียนบทความหลายชิ้นในคอลัมน์ดังกล่าวข้างต้น เพื่อแสดงความกังวลต่อภาวะที่ผู้เขียนมองว่าเกิดความไม่โปร่งใสในกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต., ประธาน ก.ล.ต. และกรรมการ ก.ล.ต. เช่น บทความเรื่อง ‘ข้อกังขาในการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนใหม่’ (ตีพิมพ์ กันยายน 2554), ‘ประธาน ก.ล.ต. ซีทีเอ็กซ์ และกฎจำง่ายในการจัดการเงิน’ (เมษายน 2555) และ ‘‘กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ’ กับความน่ากังขาในคุณวุฒิ’’ (ตุลาคม 2555)
ผู้เขียนหวังว่าบทความเหล่านั้นและบทความชิ้นอื่นๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในตลาดทุนที่เคยเขียนลง ‘รู้ทันตลาดทุน’ ในอดีต จะเพียงพอต่อการเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความจริงใจและความหวังดีของผู้เขียนต่อ ก.ล.ต. ทั้งในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุน และหน่วยงานสำคัญที่จะวางรากฐานและพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ เป็นธรรม และยั่งยืน
หมุนเวลากลับมาปัจจุบัน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่กระบวนการเปิดรับสมัครเลขาธิการ ก.ล.ต. เริ่มต้น ผู้เขียนก็ได้รับฟังเสียงบ่นและความกังวลจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในแวดวงตลาดทุน ไม่นับจดหมายสนเท่ห์ ฟอร์เวิร์ดเมลอีกมากมายที่ส่งกันตามไลน์และอีเมล ถึงแม้เนื้อหาบางส่วนอาจไม่มีใครกล้าท้าพิสูจน์ แต่ทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้นภาพลักษณ์ของ ก.ล.ต. ตกต่ำลงอย่างมาก ไม่เฉพาะในสายตา ‘คนนอก’ เท่านั้น แต่รวมถึงในสายตา ‘คนใน’ ด้วย
การคัดเลือกเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบนึ้จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ ก.ล.ต. กำลังเผชิญกับภาวะความน่าเชื่อถือถดถอยครั้งใหญ่ในสายตาของคนนอก และความคับข้องใจอย่างแพร่หลายของคนในองค์กร
ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้เป็นปากเสียงแทน ‘คนใน’ และ ‘คนนอก’ ที่ปรารถนาดีต่อ ก.ล.ต. อยากให้องค์กรเป็นทั้ง ‘เสาหลัก’ และ ‘ธงนำ’ ของตลาดทุนไทยได้อย่างแท้จริง
ความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ในสายตา ‘คนนอก’ ถดถอยจากหลายกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในตลาดทุน แต่การจัดการ (หรือไม่จัดการ) ของ ก.ล.ต. กลับทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเกิดข้อกังขาในวงกว้าง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียง 2 ประเด็นที่ส่วนตัวเห็นว่าสะท้อนความบกพร่องในหน้าที่ของ ก.ล.ต.
- กรณี Zipmex
เรื่องใหญ่ที่ทำให้นักลงทุนไทยเสียหายกว่า 660 ล้านบาท จากเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อบริษัท Zipmex Thailand ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีกะทันหัน โดยให้เหตุผลว่าสาเหตุของปัญหาเกิดจากบริการ ZipUp ซึ่งเป็นบริการที่ให้ลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไป ‘ฝาก’ (Stake) แลกกับผลตอบแทน (หรือพูดง่ายๆ ว่านำสินทรัพย์ดิจิทัลของเราไปให้คนอื่นกู้) โดยสินทรัพย์ที่ฝากไว้กับ ZipUp จะถูกโอนไปยัง Zipmex Global ที่สิงคโปร์ ซึ่งจะนำไปลงทุนด้านต่างๆ อีกทอดหนึ่ง (รวมถึง) Babel Finance ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง และ Celsius ที่เพิ่งประกาศล้มละลายไป ทำให้ลูกค้าของ ZipUp ในไทยโดนผลกระทบไปด้วย
พฤติกรรมของ Zipmex ในเรื่องนี้น่ากังขาอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่แจ้งลูกค้าทันทีที่รู้ว่าบริษัทแม่ Zipmex สิงคโปร์เกิดปัญหา โดยนักลงทุนไทยจำนวนมากเพิ่งมารู้เรื่องนี้เมื่อสื่อเริ่มนำเสนอข่าวในวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ทั้งที่บริษัทแม่ในสิงคโปร์ได้ยื่นศาลสิงคโปร์ขอพักชำระหนี้ชั่วคราว (Moratorium Relief) ไปตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2565
กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล (มาตรา 31) ระบุชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้เอาเหรียญที่ลูกค้าฝากไว้ไปให้ผู้อื่นกู้ยืมหรือหาประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และ Zipmex Thailand ก็ไม่เคยขออนุญาต ก.ล.ต. ให้สามารถเปิดบริการ ZipUp (ที่สิงคโปร์) แก่ลูกค้าแต่อย่างใด แต่มีการชักชวนให้ลูกค้านำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากไว้ใน ZipUp เป็นระยะๆ (เพื่อนของผู้เขียนบางคนก็ได้รับการชักชวนโดยตรง)
อย่างไรก็ดี หลังจากกรณีนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อนักลงทุนไทย ก.ล.ต. สั่งลงโทษปรับ Zipmex จนถึงปัจจุบัน หลายข้อหารวมกันเพียง 2.6 ล้านบาทเท่านั้น ในข้อหาทำผิดกฎระเบียบในกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต, ไม่นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้าภายในเวลาที่กำหนด, ไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนใน ZipUp เป็นต้น
น่าสังเกตว่าความผิดที่เป็นสาระสำคัญของ Zipmex น่าจะรุนแรงกว่าข้อหาต่างๆ ข้างต้นมาก โดยเฉพาะประเด็นการชักชวนและขายผลิตภัณฑ์การลงทุนแก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต (นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลูกค้าฝากไว้ไปหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.)
แต่กลับยังไม่มีรายงานข่าวว่า ก.ล.ต. ได้ตั้งเรื่องสอบสวนหรือดำเนินคดีกับ Zipmex ในประเด็นนี้แต่อย่างใด
ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับนักลงทุนหลายคนว่า ก.ล.ต. ลงโทษ ‘เบาเกินไป’ และกรณีนี้ก็ทำให้เกิดข้อกังขาอย่างแพร่หลายว่าเป็นเพราะ ก.ล.ต. ‘เกรงใจ’ คนนามสกุลดังในทีมผู้บริหารและที่ปรึกษาของบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันหรือไม่?
- กรณีหุ้น MORE
กรณีหุ้น MORE ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่เกิดความเสียหายในวงกว้าง มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท เริ่มต้นจากความผิดปกติของการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปสภาพการซื้อขายผิดปกติของหุ้นตัวนี้ในวันนั้นว่า “มีราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด +4.3% จากราคาปิดในวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งวันที่สูงมากถึง 7,143 ล้านบาท (เฉลี่ย 30 วันก่อนหน้าอยู่ที่เพียง 360 ล้านบาท) ทั้งนี้ ในช่วงที่เปิดตลาดมีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 4,300 ล้านบาท…ลักษณะของการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติคือ ฝั่งซื้อ พบว่าเป็นการส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียง 1 รายผ่านบริษัทสมาชิกหลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท / ฝั่งขาย พบว่ามีการส่งคำสั่งขายเป็นจำนวนมากจากผู้ขายหลายรายที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ โดยมีจำนวนที่สั่งขายตั้งแต่ประมาณ 70 ล้านหุ้นต่อราย ไปจนถึงประมาณ 600 ล้านหุ้นต่อราย…ภายในไม่ถึง 20 นาทีหลังเปิดตลาด ราคาได้ทยอยปรับตัวลงจนไปต่ำสุดที่ฟลอร์ที่ราคา 1.95 บาท และปิดตลาดที่ราคาดังกล่าว”
ความผิดปกติดังกล่าวส่อเค้าว่าอาจเป็นการสมคบคิดกันสร้างราคาหุ้น (‘ปั่นหุ้น’) ความผิดคลาสสิกตามกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต. แต่ ก.ล.ต. กลับไม่แสดงบทบาทเชิงรุกในกรณีนี้อย่างทันท่วงที ในสัปดาห์แรกกลับกลายเป็น ตลท. ที่ประกาศห้ามซื้อขายหุ้น MORE เป็นการชั่วคราว รวมถึงจับมือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมซื้อขายที่ผิดปกติ และ “ประสานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้เข้ามาสอบสวน โดยในวันนี้ (16 พฤศจิกายน) บริษัทสมาชิกหลายแห่งได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)”
กว่า ก.ล.ต. จะเข้ามาทำหน้าที่ในกรณีนี้อย่างจริงจัง เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบ 1 สัปดาห์เต็ม (ดังสังเกตว่าข้อมูลประกอบการแถลงความคืบหน้าของ ตลท. ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ไม่ปรากฏบทบาทของ ก.ล.ต. แต่อย่างใด)
สุดท้าย ก.ล.ต. ก็กล่าวโทษผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE พร้อมพวกรวม 18 ราย ในข้อหาปั่นหุ้น โดยอาศัยข้อมูลที่ ตลท. รวบรวม ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 3 เดือนเต็มหลังเกิดเหตุวันแรก
สองกรณีที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นนี้เป็นเพียงสองกรณีตัวอย่างเท่านั้นที่อธิบายว่า เหตุใด ก.ล.ต. จึงเสื่อมความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนจำนวนมาก
ตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมาข้างต้นยังไม่นับปัญหาภายในองค์กรมากมาย ที่ถูกบรรยายด้วยความคับแค้นใจอย่างเห็นได้ชัดผ่านจดหมายน้อยนิรนามจำนวนมากที่ผู้เขียนได้รับ ซึ่งคนภายนอกไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่าจริงเท็จหรือไม่ประการใด แต่เนื้อหาก็ชวนให้น่ากังวลไม่น้อย ตัวอย่างข้อกล่าวหาในจดหมายน้อยเหล่านี้
“ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต. อ่อนแอลงมาก เพราะการบริหารงานหลายด้านไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล ส่งผลให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า 200 คนต้องลาออก และมีอีกจำนวนมากที่แม้ไม่ลาออก แต่เลือกจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานเต็มความสามารถที่มี”
“เป็นยุคที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยพนักงานมากที่สุดตั้งแต่ตั้งสำนักงาน ก.ล.ต. มา จนพนักงานกลัวไปหมด ไม่กล้าทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องไร้สาระ…”
“(มีการ) แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและที่ปรึกษาหลายคน จากกลุ่มผู้บริหารที่ใกล้เกษียณอายุ ซึ่งมีผลประเมินการทำงานก่อนหน้านั้นเพียงปานกลาง-ต่ำ…ปัจจุบัน ก.ล.ต. มีอดีตพนักงานที่เป็นที่ปรึกษาแล้ว 10 ตำแหน่ง หลายตำแหน่งไม่สามารถระบุขอบเขตงานที่ชัดเจน…นอกจากนี้ที่ปรึกษาแต่ละคนได้รับเงินเดือนกันคนละหลายแสนบาทต่อเดือน…ที่ปรึกษาบางรายยังเข้ามามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารงานองค์กร เนื่องจากเข้ามาแทรกแซงการทำงานปกติได้”
ผู้เขียนเห็นว่าข้อกล่าวหาแต่ละเรื่องข้างต้นล้วนเป็นประเด็นร้ายแรงที่น่าจะส่งผลต่อการทำหน้าที่กำกับดูแลของ ก.ล.ต. และขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ หากพิสูจน์ว่าเป็นความจริง อีกทั้งยังทำให้เกิดคำถามว่ากลไกรับผิด (Accountability) และกลไกตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนภายในสำนักงาน ก.ล.ต. ยังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต. รอบปี 2566 เป็นรอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเลขาธิการคนใหม่นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องมี ‘ความกล้าหาญทางจริยธรรม’ ที่จะกอบกู้ความน่าเชื่อถือของ ก.ล.ต. ในสายตาคนนอก ตลอดจนตรวจสอบข้อกล่าวหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลภายในองค์กรได้อย่างเป็นอิสระ
ผู้เขียนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อขออวยพรให้กรรมการทุกท่านใช้วิจารณญาณในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับการเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. คนต่อไป โดยขอให้ท่านคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กรดังตัวอย่างข้างต้น รวมถึงขอให้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคล 2 รายที่จะเสนอชื่อไปยังกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ เพราะความโปร่งใสและการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบคือปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำงานของ ก.ล.ต. ยุคแห่งการพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน