×

สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทยอยแล้วเสร็จ หลังขยายสัญญามาหลายระลอก

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2021
  • LOADING...
สัปปายะสภาสถาน

ในเว็บไซต์ของรัฐสภา ที่ว่าด้วย ‘โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สัปปายะสภาสถาน’ ระบุที่มาที่ไปของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ไว้ว่า

 

สืบเนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ใช้สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก และใช้เป็นที่ประชุมสภาเรื่อยมา ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่เพื่อใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาแทน ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2517 คืออาคารรัฐสภาปัจจุบัน โดยพระที่นั่งอนันตสมาคมยังคงใช้สำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก 

 

อาคารรัฐสภาที่บริเวณข้างสวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) มีความคับแคบ เนื่องจากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจำนวนข้าราชการที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของสมาชิกรัฐสภา จากสภาพเดิมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพื้นที่บริเวณรัฐสภาไม่สามารถที่จะรองรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งข้าราชการที่ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ได้ 

 

รัฐสภาได้แก้ไขปัญหาในบางส่วนโดยจัดหาและเช่าสถานที่ทำงานสำหรับข้าราชการ เช่น อาคารกษาปณ์ อาคารทิปโก้ อาคารทหารไทย และอาคารดีพร้อม ซึ่งข้าราชการยังคงแยกส่วนกันอยู่ ทำให้เป็นอุปสรรคและมีข้อจำกัดในการปฏิบัติภารกิจของสมาชิกรัฐสภาอันส่งผลกระทบต่อฝ่ายนิติบัญญัติรวมถึงประชาชนที่มาติดต่อราชการ ด้วยเหตุนี้ประธานรัฐสภารวมทั้งสมาชิกรัฐสภาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ได้พยายามหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 

 

จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ได้มีการประชุมจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมี สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์, พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ที่ดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) กรุงเทพฯ, ที่ดินราชพัสดุกองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก จังหวัดนนทบุรี และที่ดินบริเวณคลังเชื้อเพลิง คลองเตย

 

หลังจากที่คณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ได้พิจารณาศึกษาถึงความเหมาะสมของสถานที่ รวมทั้งข้อดี ข้อจำกัดในด้านต่างๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิศกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คมนาคม และสาธารณูปโภคแล้ว คณะกรรมการได้มีมติเลือกที่เดินราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต เป็นสถานที่ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

 

ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีพื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ สัปปายะสภาสถานจะเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่อาคารรัฐสภาแห่งโรมาเนีย ซึ่งมีพื้นที่ในอาคาร 365,000 ตารางเมตร และเป็นอาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยจะเป็นรองเพียงอาคารเดอะเพนตากอนในสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่ 600,000 ตารางเมตรเท่านั้น

 

โครงการเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยมีการจัดการประกวดแบบ และได้ผู้ชนะออกแบบคือสถาปนิก ธีรพล นิยม และทีมงานภายใต้ชื่อ ‘สงบ ๑๐๕๑’ และได้ทำสัญญาก่อสร้างเดือนเมษายน 2556 โดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาหลัก โครงการได้เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ซึ่งเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 900 วัน แต่มีการขยายสัญญาหลายรอบ โดยสัญญาล่าสุดมีกำหนดการส่งงานภายใน 2,764 วัน ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564

 

สำหรับงบประมาณก่อสร้างคือ 22,987 ล้านบาท เปิดใช้บางส่วนเมื่อ 5 สิงหาคม 2562 และเป็นสถานที่ทำงานหลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

 

สัปปายะสภาสถาน ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งการวิจารณ์ว่าออกแบบที่เหมือน ‘วัด’ จากมุมมองสถาปนิก ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ออกมาวิจารณ์ว่า “ใช้ความหมายเดิมๆ ศีลธรรมเป็นเรื่องจอมปลอม ไม่คำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาของสังคม และการใช้งานไม่เอื้อให้เป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง” และกล่าวเสริมต่อว่า “การใช้แนวคิดด้านพระพุทธศาสนามากเกินไปจนไม่มีมุมมองด้านประชาธิปไตย และการออกแบบที่ยังคงวนอยู่ในกรอบของภาษาความเป็นไทยทางสถาปัตยกรรมที่ตื้นเขินและไม่มีอยู่จริง”

 

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X