วันนี้ (25 เมษายน) สุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักร ถล่ม ว่า กรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการยื่นคำขอหนังสือรับรองกรณีผู้ประสบภัยฯ ออกไปอีก 5 วัน จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 จากกำหนดเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 27 เมษายนนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นคำขอเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 39,127 ราย โดยเป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่เขตจตุจักรมากที่สุดจำนวน 5,167 ราย
ด้านความคืบหน้าการรื้อถอนซากอาคารและค้นหาผู้สูญหาย สุริยชัยกล่าวว่า การดำเนินงานในภาพรวมทุกโซนตั้งแต่ A-D มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผน โดยซากอาคารมีความสูงลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. ของวันนี้ ความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.30 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน 1.47 เมตร ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเคลียร์ซากอาคารลงไปถึงชั้น 1 ได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานประสบอุปสรรคเล็กน้อยเมื่อวานนี้ (24 เมษายน) เนื่องจากการเปิดช่องจราจรเพิ่มอีกหนึ่งฝั่ง ส่งผลให้การขนย้ายซากปูน เหล็ก และเศษวัสดุออกจากพื้นที่ล่าช้าลง เพราะการจราจรติดขัดและระยะทางกลับรถของรถบรรทุกเพิ่มขึ้นเป็น 2 กิโลเมตร ทำให้รอบการขนส่งน้อยลง
จึงได้มีการประสานงานเสริมรถบรรทุกจากบริษัท อิตาเลียน-ไทย เพิ่มเติมประมาณ 4 คัน และได้รับการสนับสนุนกำลังพลทหารจำนวน 10 นาย แบ่งเป็น 2 ผลัด เพื่อช่วยขับรถขนส่ง เร่งการเคลียร์ซากวัสดุในโซน C และ D ให้มีรอบมากขึ้น ส่วนโซน A การขนส่งยังเป็นไปตามแผนเดิม
สำหรับแผนการดำเนินงานเมื่อรื้อถอนถึงชั้นใต้ดินซึ่งมีความลึกประมาณ 4 เมตร จะมีการปรับแผนโดยเปิดหน้างานในโซน A และ D ให้กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการขนย้ายวัสดุออกทางด้านหน้าอาคารทั้งหมด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเคลียร์พื้นที่ชั้นใต้ดินให้หมดสิ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผู้สูญหายติดค้างอยู่
ในส่วนของการค้นหาผู้ประสบภัย วานนี้ เจ้าหน้าที่ได้พบร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ร่าง โดยหนึ่งร่างสามารถพิสูจน์เบื้องต้นได้ว่าเป็นเพศหญิง ส่วนอีกสองร่างที่พบในช่วงเวลา 18.00-19.00 น. ยังไม่สามารถระบุเพศได้ นอกจากนี้ยังพบนาฬิกาข้อมือ 1 ชิ้น บริเวณที่พบร่างผู้ประสบภัยมากที่สุดคือโซนบันไดหนีไฟใกล้กับปล่องลิฟต์
ทั้งนี้ ข้อมูลสรุป ณ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 24 เมษายน 2568 มีผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์นี้รวม 103 ราย เสียชีวิตแล้ว 60 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังคงติดค้างในซากอาคาร 34 ราย
สุริยชัยยังกล่าวถึงข้อห่วงใยจากทีมแพทย์เกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนและฝุ่น PM10 ในพื้นที่ปฏิบัติการว่า ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นตลอดเวลา และมีการฉีดพ่นละอองน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดฝุ่นและบรรเทาความร้อน ซึ่งช่วยลดอุณหภูมิในพื้นที่ได้และยังไม่มีรายงานเจ้าหน้าที่เจ็บป่วยจากความร้อน การปฏิบัติงานโดยรวมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีปัญหาเครื่องจักรขัดข้องบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็มีทีมช่างจากบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ทหารช่าง และกองโรงงานช่างกล กทม. คอยสนับสนุนการซ่อมแซมแก้ไข เพื่อให้การทำงานไม่หยุดชะงัก เว้นแต่กรณีที่ต้องรออะไหล่ซึ่งอาจต้องใช้เวลาข้ามวัน