แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นำโดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศชุมนุมใหญ่ทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายนนี้ ใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นศูนย์กลางการรวมพล และจะปักหลักค้างคืนต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 20 กันยายน ก่อนที่จะเคลื่อนพลไปทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ชื่องาน ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’
แกนนำยังประกาศว่า หากมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก อาจจะขยายพื้นที่การชุมนุมไปที่ ‘สนามหลวง’ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ผลจากคำประกาศแนวทางการชุมนุมดังกล่าว ทำให้ ‘สนามหลวง’ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่แสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมืองของหลายกลุ่มถูกโฟกัส และได้รับความสนใจอย่างยิ่ง พร้อมๆ กับคำถามว่า จะสามารถใช้สถานที่ดังกล่าวได้จริงหรือ เนื่องจากสภาพปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างมาก
ย้อนกลับราว 20 ปี สนามหลวงถูกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของสาธารณชน เช่น การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬาการละเล่นต่างๆ เช่น ฟุตบอล หรือ เล่นว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
แต่ในปี พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น แล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน 2554 และเปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการวันที่ 9 สิงหาคม 2554
ต่อมากรุงเทพมหานครได้ออกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบํารุง และการดูแลรักษาพื้นท่ีท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 โดยมีการระบุถึงการใช้พื้นที่ไว้ในข้อ 8.7 ว่า การใช้พื้นที่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าด้วยประการใด และไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งหมายถึงไม่สามารถใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองได้เหมือนในอดีต
ขณะเดียวกัน ‘สนามหลวง’ ยังได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน ซึ่งกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุก มีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท
กรุงเทพมหานครอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามปกติ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถ หรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งรั้วเพื่อป้องกันการบุกรุก
ประชาไทรวบรวมข้อมูลไว้ว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว ในแง่ของการเป็นพื้นที่ทางการเมือง สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงไม่กี่ปีมานี้ เช่น
2 มีนาคม 2500 ประชาชนรวมตัวประท้วงการเลือกตั้งสกปรก
3 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์นิสิตฯ เปิดอภิปรายเรื่องถังแดง เรียกร้องให้รัฐบาลยุบ กอ.รมน. ยุติการสังหารประชาชน
4 ตุลาคม 2519 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของพระถนอม
17 พฤษภาคม 2535 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร
26 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรชุมนุมไล่ ทักษิณ ชินวัตร และต่อต้านระบอบทักษิณ
10 ธันวาคม 2549 เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มอิสระอื่นๆ จัดชุมนุมทุกวันอาทิตย์ ต่อต้านการรัฐประหารของ คมช.
23 มีนาคม 2550 นปก. (ภายหลังคือ นปช.) ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร
17 สิงหาคม 2552 คนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ ทักษิณ ชินวัตร
31 มกราคม 2552 นปช. ชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา
อย่างไรก็ตาม แม้ระเบียบจะห้าม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สนามหลวงอีกหลายครั้ง บางครั้งปักหลักเป็นเวลาหลักเดือน โดยยังไม่พบข้อมูลการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกโบราณสถานแต่อย่างใด เช่น
7 พฤษภาคม-12 กรกฎาคม 2556 แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินชุมนุมต่อต้านการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก และไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
17 มิถุนายน 2556 กลุ่มคนไทยรักชาติรักแผ่นดินและกลุ่มพลังธรรมาธิปไตยชุมนุมขอนายกพระราชทาน
24 พฤศจิกายน 2556 กปปส. ชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
6 ตุลาคม 2558 ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
1 พฤษภาคม 2559 จัดวันแรงงานแห่งชาติปีล่าสุดที่สนามหลวง
ช่วงบ่ายวันนี้ ช่างภาพ THE STANDARD เดินทางผ่านสนามหลวง เป็นจังหวะที่ฝนตกลงมาพอดี จึงเก็บภาพสนามหลวงในปัจจุบัน ที่อาจจะถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองอีกครั้ง ขณะที่เชื่อว่าหลายคนล้วนมีความทรงจำต่อสนามหลวงในประวัติศาสตร์และความรู้สึกที่อาจใกล้เคียงหรือแตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยในหลายเรื่องราวเหล่านั้นอาจกล่าวได้ว่าภาพความทรงจำสนามหลวง ในฐานะพื้นที่ทางการเมือง น่าจะเป็นรูปธรรมเด่นชัดหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้แน่นอน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: