×

ลดเค็มดีไหม กรีนพีซเผยผลสำรวจเกลือทั่วโลก พบกว่า 90% ปนเปื้อนไมโครพลาสติก

โดย THE STANDARD TEAM
22.10.2018
  • LOADING...

กรีนพีซ เอเชียตะวันออก เผยผลการสุ่มตัวอย่างและตรวจสอบเกลือสมุทรยี่ห้อต่างๆ จากทั่วโลกที่ทำร่วมกับศาสตราจารย์คิมซึงคยู จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน เกาหลีใต้ พบว่า 90% ของตัวอย่างมีการปนเปื้อนพลาสติกขนาดจิ๋ว หรือ ไมโครพลาสติก นอกจากนี้ยังพบว่าเกลือจากแหล่งกำเนิดในเอเชียมีปริมาณไมโครพลาสติกสูงสุด

 

การศึกษาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Environmental Science & Technology ที่มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยได้วิเคราะห์เกลือยี่ห้อต่างๆ จากทั่วโลกจำนวน 39 ชิ้น เผยให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนพลาสติกสูงสุดในเกลือทะเล ตามด้วยเกลือจากทะเลสาบ และเกลือหิน เป็นตัวชี้วัดระดับมลพิษพลาสติกในพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดเกลือ โดยมีเกลือตัวอย่างเพียง 3 ชิ้นเท่านั้นที่ไม่มีปนเปื้อนไมโครพลาสติก

 

“การศึกษาล่าสุดพบพลาสติกในอาหารทะเล สัตว์ป่า น้ำประปา และตอนนี้พบในเกลือ มันชัดเจนว่าเราไม่มีทางหนีจากวิกฤตพลาสติกได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันยังคงรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและมหาสมุทรของเรา” คิมมีคยอง ผู้ประสานงานรณรงค์ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกกล่าว “เราต้องหยุดมลพิษพลาสติกที่แหล่งกำเนิด เพื่อสุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของเรา มันสำคัญมากที่ภาคธุรกิจจะลดการพึ่งพาพลาสติกใช้แล้วทิ้งอย่างทันทีทันใด”

 

การศึกษาชิ้นนี้เป็นงานชิ้นแรกที่ศึกษาระดับการปนเปื้อนเชิงภูมิศาสตร์ในเกลือสมุทร และความเกี่ยวพันกันระหว่างการปลดปล่อยพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมและระดับมลพิษพลาสติก การศึกษานี้เน้นย้ำว่าเอเชียเป็นจุดอันตรายระดับโลกเรื่องมลพิษพลาสติก หมายความว่า ระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเลในเอเชีย และสุขภาพของผู้คนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นจะมีความเสี่ยงมากขึ้น อันเนื่องมาจากมลพิษไมโครพลาสติกในทะเลที่รุนแรง นักวิจัยพบว่า ตัวอย่างเกลือสมุทรจากประเทศอินโดนีเซียชิ้นหนึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกสูงสุด ซึ่งอินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นผู้ทิ้งพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

 

การวิจัยระบุว่า หากมีการบริโภคเกลือ 10 กรัมต่อวัน โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้บริโภควัยผู้ใหญ่จะรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2,000 ชิ้นต่อปีผ่านเกลือเพียงอย่างเดียว แม้จะลดเกลือที่ปนเปื้อนสูง เช่น เกลือตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซียที่พบในการศึกษานี้ ผู้บริโภควัยผู้ใหญ่ทั่วไปจะยังคงบริโภคไมโครพลาสติกนับร้อยชิ้นต่อปี

 

“การทดลองหลายชิ้นระบุว่า การบริโภคไมโครพลาสติกผ่านผลิตภัณฑ์จากทะเลของมนุษย์มีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการทิ้งพลาสติกลงสู่ทะเลในพื้นที่ดังกล่าว” ศาสตราจารย์ซึงคยู ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว “เพื่อจำกัดการรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน เช่น การควบคุมการทิ้งพลาสติกที่จัดการไม่ถูกต้อง และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการลดขยะพลาสติก” เขากล่าวเพิ่มเติม

 

เมื่อต้นเดือน กรีนพีซร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Break Free From Plastic Coalition) ตีพิมพ์รายงานระบุว่า โคคา-โคลา, เป๊ปซี่โค และเนสท์เล่ เป็นกลุ่มบริษัทที่เป็นเจ้าบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่พบบ่อยที่สุดที่ก่อมลพิษให้กับมหาสมุทรและแม่น้ำลำคลองทั่วโลก

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X