×

‘แก้ฝุ่นจิ๋วด้วยงบจิ๋ว’ ปี 2565 คนกรุงเทพฯ ได้สัมผัสอากาศดีแค่ 49 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
27.01.2023
  • LOADING...
PM2.5

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ปี 2565 ที่ผ่านมา กทม. มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (ดี) ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพจำนวน 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี
  • ปี 2565 คนกรุงเทพฯ ได้รับฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับบุหรี่ 1,224.77 มวน ในเดือนเมษายนที่อากาศแย่ที่สุด คนกรุงเทพฯ สูดดมบุหรี่เฉลี่ยวันละ 4.26 มวน
  • ปี 2565 งบประมาณ กทม. 78,979,446,500 บาท จัดสรรไว้แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 จำนวน 2 รายการ รวม 58,726,956 บาท

ทีมข่าว THE STANDARD อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาสถิติเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของ Greenpeace ของ Rocket Media Lab พบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียว (คุณภาพอากาศดี) ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนสามารถประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ จำนวน 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี 

 

เกณฑ์สีเหลือง (คุณภาพอากาศปานกลาง) อาจมีผลกระทบต่อคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษและอาจต้องพิจารณาจำกัดกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี

 

เกณฑ์สีส้ม (คุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ) เด็ก ผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด ต้องจำกัดการทำกิจกรรมและการออกกำลังกาย มีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี

 

และเกณฑ์สีแดง (คุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ) มี 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี

 

ในปี 2565 พบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดคือเดือนเมษายน อากาศอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ 3 วัน, อากาศดี 2 วัน, อากาศปานกลาง 19 วัน และอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน

 

📍 อุปมา ‘ฝุ่น PM2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร’ เท่ากับ ‘บุหรี่ 1 มวน’ 

อ้างอิงงานของ ริชาร์ด เอ. มุลเลอร์ นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้คำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน 

 

ปี 2565 คนกรุงเทพฯ ได้รับฝุ่นละออง PM2.5 เท่ากับบุหรี่ 1,224.77 มวน เดือนเมษายนที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุด ฝุ่น PM2.5 ปริมาณเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 127.77 มวนเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีส่วนดูแลแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 78,979,446,500 บาท แบ่งไว้แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ภายใต้การทำงานของสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 6,845,454,756 บาท คิดเป็น 8.67% 

 

โดยสำนักสิ่งแวดล้อมมีรายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตรง 2 รายการ รวม 58,726,956 คิดเป็น 0.74% คือโครงการจ้างเหมาเอกชนเดินระบบและซ่อมบำรุงเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและระบบข้อมูลคุณภาพอากาศ 58,647,556 บาท และค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและลดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากรถราชการในสังกัด กทม. 79,400 บาท 

 

สำหรับโครงการการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อื่นๆ ที่ไม่ใช้งบประมาณในการดำเนินการ เช่น

 

  • โครงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและเสียงจากการก่อสร้าง
  • โครงการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 
  • โครงการตรวจวัดรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  • โครงการอากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน 
  • โครงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร 
  • โครงการศึกษาการจัดการปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

 

📍 ‘แผนระดับชาติ’ ในการจัดการ ‘ฝุ่นระดับจิ๋ว’

ย้อนกลับไปวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีมติให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2567 

 

  • ภาคการขนส่งทางถนน มีการออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565, มาตรการการตรวจควันดำ และมาตรการนําน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกํามะถันไม่เกิน 10 มิลลิลิตรต่อลูกบาศก์เมตร (ppm) (มีกำมะถันน้อยกว่า 5 เท่า) มาใช้ หรือการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 

 

  • ภาคอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ให้โรงงานประเภทต่างๆ ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติ ครอบคลุมโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศ โดยสั่งติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องฯ แบบอัตโนมัติ พร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง

 

  • ภาคการเกษตรออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/65 ไม่เกิน 10% ฤดูการผลิตปี 2565/66 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/67 เป็นศูนย์ เพื่อลดการเผาในที่โล่งแจ้ง และออกมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสดผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยไม่ต้องเผาอ้อยสำหรับฤดูการผลิต 2565/66 

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยเป็นการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จากปี 2565 นำมาปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดมาตรการต่างๆ เป็น 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ ‘สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม’ ประกอบด้วย

 

  1. เร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งสื่อสารผ่านสื่อใหม่มากขึ้น เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชน

 

  1. ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมบุคลากรและอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต เป็นต้น

 

  1. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และระบบบริการการเผาในที่โล่ง) เช่น จัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อย ไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่า เพื่อลดการเผา

 

  1. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับ ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงจัดให้มีแพลตฟอร์มหรือช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

 

  1. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ พัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับการป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟ

 

  1. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำโรดแมปและกำหนดเป้าหมายลดจำนวนจุดความร้อน / พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน

 

  1. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกัน แก้ไข ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising