×

สำรวจหลุมหลบภัยให้เงินลงทุน ยามความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจถดถอย’ สูง

27.04.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจถดถอย

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ที่เกิดปัญหาในภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ และยุโรป เช่น ธนาคาร Silvergate Bank, Silicon Valley Bank, และ Signature Bank ของสหรัฐฯ ต้องปิดกิจการ ขณะที่ Credit Suisse ในยุโรป ต้องขายกิจการให้กับ UBS ผลที่ตามมาคือสถาบันการเงินในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป น่าจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากที่เข้มงวดอยู่แล้วเป็นเข้มงวดมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ เมื่อผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมากังวลกันมากขึ้น ว่าเราจะเจอสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย (โดยเฉพาะในสหรัฐฯ) กันหรือไม่ และถดถอยมากน้อยแค่ไหน

 

โดยหน้าตาของ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ น่าจะมี 2 แบบ คือ 1. เศรษฐกิจถดถอยแบบเบาๆ (Mild Recession) โดยอาจเป็นในลักษณะที่เศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางภาคธุรกิจหดตัว (เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง) หรือ 2. เศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรง (Severe Recession) ซึ่งหมายถึงการหดตัวของเศรษฐกิจในหลายภาคธุรกิจ และ/หรือกินเวลานานมากกว่าแค่ 2 ไตรมาส จนทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนลดลง รวมถึงรายได้ครัวเรือนลดลงอย่างมีนัย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เศรษฐกิจถดถอยทั้งสองแบบ มักส่งผลให้ตลาดการเงินและการลงทุนผันผวนมากขึ้น (เศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดมากกว่า) และยากในการวางกลยุทธ์ลงทุนที่จะปกป้องพอร์ตโดยรวมให้ยังสร้างผลตอบแทนเป็นบวก ไม่ติดลบไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ได้ นักลงทุนอย่างเราก็ควรเตรียมพร้อมตั้งรับให้ดี 

 

หากเรากำลังจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ ควรจะคัดเลือกสินทรัพย์แบบใดเข้าพอร์ตลงทุน? 

 

ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงถดถอยสูงจะมีสัญญาณที่บ่งชี้ที่สำคัญคือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการปรับลดลงมาต่ำกว่า 50 ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจปัจจุบันมีแนวโน้มหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และดัชนี PMI หดตัวลงต่อเนื่องก็หมายถึงเศรษฐกิจกำลังหดตัวหนักลงเรื่อยๆ โดยสินทรัพย์ที่มักจะถูกนำมาใช้ในการป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury) หุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade Bonds) ของสหรัฐฯ และทองคำ  

 

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะในช่วงที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น นักลงทุนจะเริ่มมองหาสินทรัพย์ที่มองว่าเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) คือสามารถรักษามูลค่าเงินได้ ซึ่งอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ถูกจัดให้เป็นอัตราผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงต่ำ (โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หรือ Liquidity Risk) เนื่องจากมีตลาดรองที่มีสภาพคล่องสูงมาก 

 

อย่างไรก็ตาม พันธบัตรรัฐบาลก็ยังมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เช่น ในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อที่สูงก็ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรง และกระทบกับราคาพันธบัตรรัฐบาลอยู่พอสมควร หรือแม้กระทั่งในมุมความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เอง รัฐบาลก็มีประเด็นความเสี่ยงเช่นกัน เช่น กรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ มีประเด็นการยกเพดานหนี้ และ government shutdown 

 

ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน นักลงทุนจึงเลือกที่จะถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เอาไว้ โดยกรณีที่ซื้อพันธบัตรมาในช่วงดอกเบี้ยสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูง (ราคาพันธบัตรต่ำ) แล้วไปขายในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำ (ราคาพันธบัตรสูง) เนื่องจากพันธบัตรเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะนักลงทุนมองภาพลักษณ์ของพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และความผันผวนของราคาสินทรัพย์ก็มักจะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น

 

ขณะที่หุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade Bonds: Rating > BBB-) ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ได้รับความสนใจใช้ป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้คุณภาพสูง มีความเสี่ยงด้าน Credit Risk ที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสภาพเศรษฐกิจและธุรกิจอาจจะกระทบกับผู้ออกตราสารทำให้มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น (แต่ถ้าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงหรือ High Yield แล้ว กลุ่ม Investment Grade ก็ถือว่ามีความเสี่ยงด้าน Credit Risk ที่ต่ำกว่า)

 

ส่วนทองคำก็ได้รับความนิยม เนื่องจากถูกมองเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าเงินได้ในยามที่ความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีต้นทุนการเก็บรักษา และยังมีเรื่องความต้องการตลาด ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม และเครื่องประดับ มาเกี่ยวข้องด้วย นอกเหนือจากความต้องการลงทุน ฉะนั้น ราคาทองคำจึงยังมีความผันผวนได้สูง

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ SCB CIO โดยใช้ข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่ปี 2510 จนถึงปัจจุบัน พบว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยจัดการความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่เงินเฟ้อในระดับสูงได้ดีที่สุด หากพิจารณาจากผลตอบแทนต่อความผันผวนของการลงทุน (Risks-Adjusted Return) เพราะจากข้อมูลในอดีตสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยรายเดือนต่อความผันผวนได้ดีที่สุด ดังนั้น หากนักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้พอร์ตลงทุนโดยรวมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ดีขึ้น

 

กราฟ: ผลตอบแทนต่อความผันผวน (ยิ่งสูงยิ่งดี)

 

 

โดยรวมแล้ว หลังเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณถดถอย เราควรจะเพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาอยู่ในพอร์ตลงทุน เพื่อให้พอร์ตโดยรวมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ต้านทานเศรษฐกิจถดถอยได้ดีขึ้น เพราะหากในพอร์ตลงทุนมีสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไปก็อาจจะทำให้ผลตอบแทนจากพอร์ตลงทุนโดยรวมมีความผันผวนได้สูง 

 

และสุดท้ายไม่ว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร นักลงทุนต้องไม่ลืมพิจารณาเรื่องการแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองด้วย เพื่อให้การลงทุนไปถึงเป้าหมายแบบสบายใจ พอร์ตลงทุนไม่เสี่ยงมากเกินไป หรือผันผวนหนักเกินจะรับไหว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising