SACICT หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เห็นความสำคัญของเทคโนโลยี จึงผลักดันให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเชื่อมสังคมเครือข่ายด้านงานหัตถศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน และจากการที่โลกไร้พรมแดน ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ สร้างโอกาสทางการตลาด สามารถขยายตลาดของงานศิลปหัตถกรรมแผ่ขยายกว้างขวางไปทั่วโลก
SACICT เน้นกลยุทธ์ ‘หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน’ หรือ ‘Today Life’s Crafts’ เพื่อสร้างการรับรู้ในคุณค่าความงามของศิลปหัตถกรรมไทยว่าสามารถประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันได้ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ทำงานหัตถศิลป์ การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับการใช้งาน และสร้างความนิยม เพิ่มช่องทางการเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
SACICT Archive – Arts and Crafts Knowledge Centre ข้อมูลงานหัตถศิลป์จากโลกออฟไลน์มาสู่โลกออนไลน์
SACICT ไม่เพียงเดินหน้าตามกรอบภารกิจในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมของไทย แต่ยังเสริมพลังขับเคลื่อนงานหัตถศิลป์ไทย สู่การต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาไทยในมิติสร้างสรรค์ ผ่านการส่งเสริมคุณค่าองค์ความรู้ให้เป็นเครื่องมือของการสร้างความแข็งแกร่งแก่งานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างแท้จริง ด้วยการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรมไทย หรือ SACICT Arts and Crafts Knowledge Centre “การเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยของ SACICT คือการให้บริการองค์ความรู้ครบทุกรูปแบบ ผ่านการสร้างประสบการณ์ตรงจากหอนิทรรศการ ห้องสมุด และร้านค้าของ SACICT รวมทั้งประสบการณ์บนแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านระบบสืบค้นข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมในระบบดิจิทัล
SACICT Arts and Crafts Knowledge Centre จึงถือเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมอันดับ 1 ของไทย และในระดับภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงการนำเสนอองค์ความรู้หลากรูปแบบที่จะให้คนไทยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน ครอบคลุมการให้บริการด้านองค์ความรู้แบบครบจบในหนึ่งเดียว เช่น SACICT Archive เป็นการพัฒนารูปการศึกษาค้นคว้าข้อมูล งานศิลปหัตถกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวบรวมฐานข้อมูลของงานหัตถศิลป์และงานนวัตศิลป์ ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรมที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ ตลอดจนสื่อหนังสือและสื่อวีดิทัศน์ที่ SACICT ได้จัดทำ เพื่อบริการองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมแก่สังคม ให้ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากทุกมุมโลก
Heritage Fusion เรื่องราวสร้างพลังมรดกงานหัตถศิลป์
Storytelling หนึ่งในทักษะสำคัญของโลกยุคใหม่ที่ใช้คอนเทนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ งานศิลปหัตถกรรมที่มีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจค้นหา จึงเป็นสิ่งที่ถูกให้คุณค่า นอกเหนือจากการใช้สอย แต่เป็นเรื่องราวของข้าวของแต่ละชิ้นที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน จากค่านิยมของกลุ่มผู้บริโภคที่เมื่อก่อนมองงานหัตถกรรมเป็นของราคาถูก เป็นสินค้าแฟชั่นซื้อมาใช้แล้วก็ทิ้งไป แต่ในวันนี้ คนซื้องานหัตถกรรมเพื่อใช้งานและสะสม มองในแง่มุมของความ Heritage แต่เป็น Heritage Fusion ที่ผสมผสานความเก่ากับความใหม่เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีของดีมากมาย อย่างผ้าซิ่นหนึ่งผืน ก็สามารถสืบค้นไปได้ว่าเป็นผ้าซิ่นของชาติพันธุ์อะไร จะเป็นไทยดำ ไทยลื้อ หรือว่าลาวครั่ง ก็น่าสนใจ คนที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจะซื้อโดยอาศัยความรู้ ไม่ได้ซื้อแค่เพราะความชอบ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป กลุ่มคนที่หันมาใช้ของไทยก็ไม่ใช่คนสูงวัย อายุ 40 ปีขึ้นไป หรือข้าราชการ แต่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่หันมามิกซ์แอนด์แมตช์ของปัจจุบันกับของเก่า
Today Life’s Crafts คือแนวคิดหลักของ SACICT ที่มองว่า สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องใช้ได้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ เช่น การอยู่อาศัยในคอนโด ดังนั้น บทบาทของหน่วยงานก็คือ การนำความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่มาบอกกล่าวกับผู้ผลิต เป็นการทำงานบนพื้นฐานของความร่วมมือกันระหว่างชุมชน นักออกแบบ และผู้ซื้อ เพื่อนำไปสู่ชุมชนการซื้อขายออนไลน์ ผ่านทาง Mobile Application ของ SACICT ที่ยังต้องพัฒนาต่อยอดไปอีก เนื่องจากสินค้าที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมจะมีข้อจำกัด เพราะเป็นงานทำมือ มีความแตกต่างกันในทุกๆ ชิ้น ไม่เหมือนกับสินค้าทั่วไปที่ผลิตออกมาจากโรงงานเหมือนๆ กัน แต่การใช้ช่องทางออนไลน์ก็เปรียบเสมือนประตูหน้าร้าน ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมได้มากขึ้นนั่นเอง
ปรากฏตัวผู้สืบสานงานหัตถศิลป์ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก
SACICT ได้มีแคมเปญต่างๆ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาแล้วว่า ตรงกับเทรนด์ความนิยมที่กำลังเกิดขึ้นในโลก อย่างเช่น การจัดกิจกรรมให้คนนำของสะสมมาจัดแสดง เพื่อให้คนที่ได้สนับสนุนงานหัตถศิลป์มีความภาคภูมิใจในผลงานที่ได้ครอบครอง และทำให้คนที่สนใจงานเหล่านี้ได้รับรู้ว่า มีกลุ่มคนที่มีความชอบคล้ายกัน ซึ่งข้อมูลต่างๆ ก็ได้ถูกถ่ายทอดลงมาสู่โลกออนไลน์ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ที่สำคัญคือ การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์นั้นทำให้ SACICT สามารถยกระดับงานศิลปหัตถกรรมที่ไม่เคยมีการใช้งานมาก่อนให้กลับมาใหม่ ภายใต้แนวคิด Revival of the Forgotten Heritage อย่างเช่น งานถม งานคร่ำ ที่ยังมีกลุ่มคนที่อนุรักษ์ไว้ SACICT จึงดึงคนเหล่านี้ออกมาปรากฏตัวในสังคม ผ่านการจัดงานของรักของหวง ที่ให้คนนำของสะสมมาจัดแสดง ทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ของงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม คนที่มีงานศิลปหัตถกรรมที่หายาก ก็เริ่มออกมาแสดงตัว
นอกจากคนไทยแล้ว งานศิลปหัตถกรรมไทยนั้นยังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติไม่น้อย และแน่นอนว่า การเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนหรืออยู่ที่ใดในโลก ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตัวเองสนใจได้ และสำหรับคนที่มีความรักในงานหัตถศิลป์ไทย ที่มีความละเอียดอ่อนงดงาม ก็สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมไทยหลายแขนงที่ SACICT ได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ SACICT ยังเคยจัดงานประมูลเครื่องถม กระเป๋าถม ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมูลค่าที่ได้รับการประมูลไปนั้นสูงจากเดิมมาก
ทั้งหมดนี้ก็คือ พลังของ Digital Disruption ที่ย่อโลกเอาไว้เป็นหนึ่งเดียว และขับเน้นผลงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เฉิดฉายในเวทีโลก ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงได้แบบไร้ข้อจำกัด