สงครามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบสิบปี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลก
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีระยะทางที่ห่างไกลจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกันผ่านการค้าและการลงทุน วิกฤตสงครามในครั้งนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้มี 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เมฆหมอกแห่งสงคราม ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในยุคถัดไป
- ความหวังและความกลัวของสินทรัพย์ที่แตกต่างในช่วงสงคราม
- วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานโลกและหุ้นกลุ่มพลังงานโลกอย่างไร?
1. ปัญหาด้านการค้า
จากการขาดแคลนสินค้าสำคัญของรัสเซียและยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากภาวะความไม่สงบและการคว่ำบาตรของนานาประเทศ
ประเทศรัสเซียและยูเครนไม่นับเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย เนื่องจากมีมูลค่าการค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปสู่รัสเซียเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 36 โดยมีมูลค่าการส่งออก 32,508 ล้านบาท และมีการนำเข้าสินค้าเป็นลำดับที่ 24 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 32,508 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปสู่ยูเครนเป็นลำดับที่ 74 โดยมีมูลค่าการส่งออก 4,228 ล้านบาท และมีการนำเข้าสินค้าลำดับที่ 57 โดยมีมูลค่าการนำเข้า 8,100 ล้านบาท
ถึงแม้ทั้งสองประเทศนี้จะมิได้เป็นประเทศเศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย แต่ก็มีสินค้าสำคัญที่ไทยจำเป็นต้องพึ่งพา ในกรณีของรัสเซียคือน้ำมันดิบ โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในปี 2564 มีมูลค่า 26,000 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของการนำเข้าจากรัสเซียทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 5% ของการนำเข้าน้ำมันดิบ ส่วนในกรณีของยูเครน ไทยนำเข้าข้าวสาลีและถั่วเหลืองจากยูเครนเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ โดยในปี 2564 มีการนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครน 4,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการนำเข้าข้าวสาลีของประเทศไทย
สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสองประเทศมีความเป็นไปได้ที่จะทวีความรุนแรงต่อเนื่อง และขยายวงกว้างเป็นความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค ดังนั้น มีโอกาสเช่นกันที่ผลกระทบด้านการค้าจะขยายขอบเขตไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรป และส่งผลกระทบมายังประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งภูมิภาคยุโรปถือว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่สำคัญต่อการนำเข้าและการส่งออกสินค้าของไทย โดยในปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับภูมิภาคยุโรปประมาณ 10% ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าในภูมิภาคยุโรปจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินผลอย่างใกล้ชิด
2. ปัญหาด้านราคาสินค้า
ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาสินค้าขาดแคลน ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายประเภทมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าพลังงาน ทั้งนี้ ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของประชาชนภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ช่วงสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสองประเทศนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาสินค้าหมวดโภคภัณฑ์ (Commodity) ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าหลากหลายประเภทมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยดัชนีรวมของสินค้าโภคภัณฑ์ (S&P GSCI) ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ทั่วโลก มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 16% ในสัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการบุกโจมตียูเครน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของดัชนีมากที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์นับตั้งแต่ปี 1970 และปัจจุบัน ดัชนี S&P GSCI ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008
สาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมีผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยน้ำมันดิบของสหรัฐฯ WTI (West Texas Intermediate เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา) ปรับตัวเหนือระดับ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำสถิติปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างเชื่อกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะทำระดับสูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008 ที่ระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ และปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาอาจไม่มีเพียงต่อความต้องการ
นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีการส่งออกจากภูมิภาคที่มีความขัดแย้งก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปในธุรกิจที่พึ่งพาวัตถุดิบเหล่านั้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ที่มีภาระต้นทุนเพิ่มมากขึ้น จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของข้าวสาลีและข้าวโพด รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่มีต้นทุนการผลิตด้านแร่เหล็ก อะลูมิเนียม ทองแดง ต่างก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันภายในประเทศมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังต้นทุนภาคการผลิตและภาคการขนส่ง ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีมาตรการในการช่วยเหลือ เช่น การตรึงราคาน้ำมันโดยอาศัยเงินกองทุนพลังงาน แต่ก็สามารถช่วยพยุงราคาน้ำมันได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นสาเหตุทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องเผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ส่งผลต่อค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 14 ปี
3. ปัญหาด้านการท่องเที่ยว
จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีโอกาสทวีความรุนแรง จนส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียและนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยได้ ซึ่งเป็นขณะเดียวกับช่วงที่ไทยวางแผนเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวรัสเซีย โดยภายหลังจากการเปิดประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา รัสเซียถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินจากรัสเซียมีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นแล้ว ค่าเงินรูเบิลที่ปรับตัวอ่อนค่าอย่างรุนแรงต่อสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้มูลค่าของรูเบิลปรับตัวลดลงกว่า 40% นั่นหมายถึงต้นทุนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวรัสเซียจะมีราคาสูงขึ้น 40% ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวรัสเซียลดลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นผลกระทบจากสงครามครั้งนี้จึงอาจทำให้การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียในอนาคต และหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งจะเกิดผลกระทบในเชิงลบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มมากขึ้น
โดยสรุป แม้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะมีระยะทางห่างไกลจากประเทศไทย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ซึ่งยังคงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากสงครามความไม่สงบครั้งนี้ ว่าจะขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจทั่วโลกหรือไม่ เพื่อภาคธุรกิจจะได้ประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมืออย่างเหมาะสมต่อไป
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD