×

ภาพดาวเทียมเผย ฐานทัพอากาศรัสเซียในไครเมีย เสียหายหนักจากเหตุระเบิด

11.08.2022
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดที่คลังแสงเก็บอาวุธในฐานทัพอากาศซากีของรัสเซีย ใกล้กับเมืองโนโวเฟโดริฟกา ในคาบสมุทรไครเมีย โดยถึงแม้เจ้าหน้าที่จะรายงานว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ภาพจากดาวเทียมที่สื่อต่างประเทศนำมาเปิดเผยวานนี้ (10 สิงหาคม) แสดงให้เห็นว่าฐานทัพอากาศของรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะมีเครื่องบินรบที่ถูกทำลายหลายลำจอดอยู่ในฐานทัพดังกล่าวด้วย

 

แม้ก่อนหน้านี้ยูเครนจะออกมากล่าวปัดว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด แต่หลักฐานใหม่นี้ได้ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า อาจมีการโจมตีฐานทัพดังกล่าวเกิดขึ้น โดยภาพจาก Planet Labs ในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นผืนดินที่มีร่องรอยไฟไหม้เป็นวงกว้าง ขณะมีเครื่องบินอย่างน้อย 8 ลำที่ได้รับความเสียหาย และมีหลุมใหญ่ที่พื้นหลายหลุมด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีอาคาร 2 แห่งที่อยู่ใกล้กับเครื่องบินถูกทำลายด้วย

 

ด้านผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า พวกเขาได้ยินเสียงระเบิดอย่างน้อย 12 ครั้ง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงประมาณ 15.20 น. ของวันที่ 9 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิด 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 14 ราย ขณะรัสเซียเปิดเผยในวันเดียวกันว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการระเบิดของเครื่องกระสุนปืน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีการโจมตีเกิดขึ้น และอาวุธยุทโธปกรณ์ในคลังแสงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

 

เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอังกฤษ มองว่าเหตุระเบิด 2 แห่งที่เกิดขึ้นในฐานทัพอากาศรัสเซียดูเหมือนเป็นการโจมตีมากกว่าอุบัติเหตุ พร้อมกล่าวด้วยว่ายูเครนมีสิทธิที่จะโจมตีไครเมีย 

 

วอลเลซให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “โดยหลักเหตุผลแล้ว มันเป็นเรื่องถูกต้องถ้ายูเครนจะมุ่งเป้าโจมตีหากจำเป็น…ไม่เพียงแต่เพื่อเอาไครเมียกลับมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับไล่ผู้รุกรานด้วย” 

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าหากยูเครนเปิดฉากการโจมตีในไครเมีย อาจจะยิ่งยกระดับให้สงครามทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ได้ออกมาขู่ว่า ‘วันพิพากษารออยู่’ หากยูเครนมุ่งเป้าโจมตีไปที่ไครเมีย

 

อนึ่ง รัสเซียได้ผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อปี 2014 ซึ่งนานาชาติประณามว่าเป็นการทำประชามติผิดกฎหมาย และไม่รับรองการผนวกรวมดังกล่าว 

 

ภาพ: Planet Labs Via The New York Times

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X