ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมากับการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน หรือเรียกกันแบบสั้นๆ ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้มีพัฒนาการทางเหตุการณ์อย่างรวดเร็วเป็นลำดับ มีลักษณะเป็นสงครามลูกผสมที่มีการสู้รบอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการใช้กำลังทหารในพื้นที่จริง ทั้งสงครามเศรษฐกิจที่มีปากท้องของชาวโลกเป็นตัวประกัน รวมไปถึงสงครามไซเบอร์และสงครามข้อมูลข่าวสาร จนสร้างกระแสความรู้สึกอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวโลกว่าสงครามในครั้งนี้อยู่ไม่ไกลตัวพวกเขาแล้ว
นับตั้งแต่วันแรกของการเปิดฉากโจมตียูเครนของรัสเซีย หลายฝ่ายกังวลว่ายูเครนคงไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของกองทัพรัสเซียและคงจะเสียเมืองหลวงเคียฟให้ฝ่ายรัสเซียในระยะเวลาอันสั้นแน่ อีกทั้งดูลักษณะการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายรัสเซียนั้น ดูแล้วพุ่งเป้าไปที่หลายเมืองใหญ่นอกจากดอนบาส ทำให้เกิดการคาดคะเนว่ารัสเซีย ‘น่าจะ’ เอามากกว่าดอนบาส รวมไปถึงการรายงานของสื่อหลักทุกสำนักว่ารัสเซีย ‘เอาจริง’ แน่นอน จึงเกิดเป็นฉากทัศน์ในหัวว่าเป้าหมายของรัสเซียคือการรุกรานเพื่อฮุบประเทศยูเครน
แต่แล้วสามวันผ่านไป หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป หนึ่งเดือนผ่านไป ฝ่ายรัสเซียก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยึดเมืองหลวงของยูเครนได้ และกลายเป็นว่ากระแสที่ออกมาจึงเป็นในลักษณะที่ว่ากองทัพรัสเซียไม่เก่งจริง บวกกับฝ่ายยูเครนที่มีกำลังใจต่อสู้ที่แข็งแกร่งกว่าเพราะเพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอน รวมไปถึงข้อสรุปที่ว่ารัสเซียล้มเหลวในการปฏิบัติการต่างๆ แม้ว่าในขณะเดียวกันรัสเซียจะแถลงว่าทุกอย่าง ‘เป็นไปตามแผน’ แน่นอนว่าสิ่งที่เรารับรู้จุดนี้ อันที่จริงก็มีทั้งข้อเท็จจริงและความรู้สึกหรือความเชื่อปะปนระคนอยู่
เป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวคงต้องมาพิจารณากันที่สมมติฐานตั้งต้น ถ้ามีสมมติฐานว่ารัสเซียทำเพราะต้องการยึดครองประเทศยูเครนแล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบนี้ ก็สามารถตีความได้ว่าความพยายามของรัสเซียนั้นล้มเหลว แต่ถ้าหากว่าสมมติฐานตั้งอยู่บนความคิดที่ว่ารัสเซียไม่ได้ตั้งใจจะยึดยูเครน เพียงแต่ปฏิบัติการทางทหารเพื่อลดขีดความสามารถของกองทัพยูเครนเท่านั้นและผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบนี้ ก็ถือได้ว่ารัสเซียไม่ได้ล้มเหลว
ประกอบกับถ้าพิจารณาเจตจำนงของทางฝ่ายรัสเซียที่ประกาศออกมาตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นแถลงการณ์ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน รวมไปถึงแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซียเอง ก็ระบุชี้ชัดว่าต้องการลดขีดความสามารถของกองทัพยูเครนและมีเป้าหมายหลักที่ดอนบาส
อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคู่กันคือผลของการเจรจารอบล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ นครอิสตันบูล ที่ตุรกีรับเป็นเจ้าภาพนั้น ในเบื้องต้นได้มีการแสดงเจตจำนงของฝั่งยูเครนที่จะเป็นกลาง ไม่เข้าร่วม NATO ไม่ผลิตอาวุธร้ายแรง รวมถึงพร้อมที่จะเจรจาในประเด็นต่างๆ ต่อไปกับทางรัสเซีย ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนในครั้งแรกก่อนเกิดสงครามที่ค่อนข้างมีความแข็งกร้าวต่อรัสเซีย เช่น ยูเครนจะเข้าร่วม NATO หรือ ยูเครนจะใช้ทุกวิธี รวมถึงกำลังทางทหารในการยึดคืนแคว้นไครเมีย ตรงนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าการเลือกใช้ไพ่กำลังทหารต่อยูเครน ที่สุดแล้วก็ได้เปลี่ยนท่าทีของยูเครน อีกทั้งในฝั่งรัสเซียเองก็มีท่าทีที่จะลดความมุ่งเน้นในเมืองต่างๆ เช่น เคียฟ เชียร์นิกอฟ และมุ่งเป้าไปที่ดอนบาสแทน ดังนั้นถ้าจะบอกว่าสงครามครั้งนี้เป็นสงครามเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ไม่ค่อยต่างจากสงครามกับจอร์เจียเมื่อปี 2008 ดังที่ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์ในบทความต่างๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ผิดนัก
ในอีกแง่หนึ่งคือถ้ารัสเซียยังหาข้อยุติกับยูเครนไม่ได้ รัสเซียก็จะใช้กำลังทหารจนกว่าจะได้ถ้าพูดกันอย่างถึงที่สุด (แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ชอบธรรมและผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่พลวัตของเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การขยายเขตอิทธิพลของ NATO, การคุกคามประชาชนเชื้อสายรัสเซีย, การยั่วยุ, การถูกปฏิเสธการเจรจาจากฝ่ายตะวันตก ฯลฯ ที่เคยวิเคราะห์ในบทความก่อนหน้านี้นั้นมีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและได้เป็นเหตุให้รัสเซียใช้อ้างเพื่อความชอบธรรมในการทำสงครามนี้)
ดังนั้น จุดเปลี่ยนของสงครามจึงอยู่ที่ผลของการเจรจา
ในการเจรจาเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาถือเป็นการเจรจาที่สำคัญ เนื่องจากได้มีการบรรลุความต้องการของทั้งสองฝ่ายทั้งในประเด็นด้านการทหาร คือการ ‘ลด’ การปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่เคียฟและเชียร์นิกอฟ และประเด็นทางการเมือง คือทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะจัดการเจรจาโดยผู้แทนระดับสูง เช่น ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของแต่ละฝ่ายซึ่งจะมีอำนาจลงนามในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ รวมไปถึงการเจรจาระดับผู้นำในลำดับถัดไป
ประเด็นที่สำคัญที่ทางฝ่ายยูเครนได้เสนอต่อฝ่ายรัสเซียและถือว่าทำให้รัสเซียพึงพอใจในระดับหนึ่งคือ
- ระบบการรับประกันความมั่นคง (Security Guarantees) ของชาติต่างๆ เป็นไปในแนวทางของมาตรา 5 ของสนธิสัญญา NATO (ซึ่งมีเนื้อหาว่าหากสมาชิกใดถูกโจมตี ให้ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อสมาชิกโดยรวม)
- ยูเครนจะมีสถานะเป็นกลางและไม่ให้มีการตั้งกองกำลังหรือฐานทัพต่างชาติในดินแดนของยูเครน และจะไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสนธิสัญญาพันธมิตรทางทหารใดๆ รวมไปถึงไม่ติดตั้งอาวุธทำลายล้างสูง อาวุธนิวเคลียร์ และอาวุธชีวภาพ
- ยูเครนจะหารือปัญหาดินแดนไครเมียและนครเซวัสโตปอลด้วยวิถีทางการทูตกับฝ่ายรัสเซียในระยะเวลา 15 ปี
ส่วนฝ่ายรัสเซียได้เสนอประเด็นย่อยๆ ต่อฝ่ายยูเครนคือ ประเด็นที่ฝ่ายยูเครนปฏิบัติต่อทหารประจำการฝ่ายรัสเซีย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา 1949 อย่างเคร่งครัดที่ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก
ว่ากันว่าแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเคียฟหลายคนเองก็ค่อนข้างตกใจกับข้อเสนอของคณะผู้แทนฝ่ายยูเครนเอง
ตราบใดที่ยังไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงทางกฎหมายใดๆ ก็ยังไม่ถือว่าทุกอย่างมีผลบังคับใช้ การใช้กำลังทางทหารยังคงมีผลอยู่ต่อไป แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่น่าพึงพอใจที่น่าจะนำไปสู่ก้าวต่อๆ ไปที่จะไปสู่จุดที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุสันติภาพได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็มองว่าเป็นก้าวสำคัญที่รัสเซีย ‘หาทางลง’ จากสงครามครั้งนี้
แต่ในขณะเดียวกัน ท่าทีของกองทัพฝ่ายรัสเซียที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป นักวิเคราะห์หลายท่านก็อาจตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นกลลวงหรือแผนซ้อนแผนหรือไม่อย่างไร
แน่นอนที่สุดว่าผู้ที่จะทราบอย่างแน่ชัดว่าจะจริงหรือลวงก็คือเหล่าแม่ทัพนายกอง เสนาธิการทัพรัสเซีย หรืออาจจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหรือตัวผู้นำอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน เองเท่านั้น นักวิเคราะห์อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีทางทราบถึงจิตใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านั้นได้ก็ต้องอาศัยการอนุมานวิเคราะห์ผ่านบริบทแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ที่พัฒนามาโดยลำดับ
สำหรับการเคลื่อนกำลังพลของรัสเซียที่เริ่มย้ายจากเคียฟและเชียร์นิกอฟไปแนวอื่นนั้น มีผู้สันทัดกรณีมองไว้ว่าเป็นหมากสำคัญสองข้อ ข้อแรกคือเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียโยกกำลังพลไปแนวรบอื่น ซึ่งน่าจะเป็นที่ดอนบาส (ตามที่ประกาศตั้งแต่ครั้งแรก) ในขณะเดียวกันก็ยังคงกองกำลังส่วนหนึ่ง ‘แช่แข็ง’ แนวรบเคียฟและเชียร์นิกอฟ ตรึงกำลังทหารยูเครน ณ จุดนี้ไว้ (แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ยูเครนโยกกำลังแบบเดียวกับรัสเซียเช่นกัน) ข้อสองคือการเป็นกระจกสะท้อนเจตนารมณ์ของยูเครนว่าถ้ายูเครนยังคงสู้รบเต็มกำลังเหมือนที่ผ่านมา ก็แสดงว่ายูเครนไม่ต้องการลดความขัดแย้งตามผลเจรจา
จากจุดนี้มองได้ว่าต่อไปนี้ถ้าหากยูเครนมีการ ‘บิดพลิ้ว’ ในแง่ต่างๆ รัสเซียก็พร้อม ‘จัดหนัก’ ยูเครนทุกเมื่อจนกว่ารัสเซียจะบรรลุเป้าหมายร่วมกับยูเครน
อันที่จริงถ้าจะพูดถึงกลลวงคงต้องย้อนมาพูดถึงการปฏิบัติการทางทหารโดยรวมของรัสเซียเฟสแรกทั้งเฟสเลยด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปในประเด็นข้อถกเถียงว่าการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียโดยรวมนั้นสำเร็จหรือล้มเหลวโดยมีสมมติฐานสองแบบมารองรับ ถ้าคิดว่ารัสเซียล้มเหลวก็จบกันตรงนี้ ไม่ต้องไปข้อสังเกตต่อไป แต่ถ้าคิดว่ารัสเซียไม่ได้ล้มเหลวและมีจุดมุ่งหมายหลักที่ดอนบาสโดยไม่ได้ตั้งใจยึดเมืองหลวงแต่แรก ก็ยังมีข้อสังเกตที่สามารถคิดต่อไปได้ นั่นคือการทุ่มกำลังไปยังเมืองหลวงอย่างกรุงเคียฟที่ผ่านมาน่าจะเป็นแผนลวง
เมื่อจุดประสงค์หลักที่ประกาศคือที่ดอนบาสในภาคตะวันออกของยูเครน สิ่งที่มีความหมายเชิงยุทธศาสตร์คือการสร้าง Corridor ส่งกำลังบำรุงเชื่อมกับไครเมียทางตอนใต้ โดยแนวนี้พาดผ่านริมชายฝั่งทะเลอะซอฟ ซึ่งถ้ารัสเซียสามารถควบคุมแนวนี้ได้ก็เท่ากับรัสเซียสามารถปิดกั้นการเข้าถึงทะเลอะซอฟของฝ่ายยูเครนได้ อีกทั้งเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนแนวนี้ที่เป็นเมืองหน้าด่านก่อนเข้าเขตดอนบาส คือเมืองมารีอูปอลอันโด่งดังที่ตอนนี้ถูกพิษสงครามทำลายล้างไปแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเอง รวมไปถึงมารีอูปอลยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญอีกแห่งของกองพันอะซอฟที่เป็นกลุ่มติดอาวุธขวาจัด ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนีโอนาซีที่จงเกลียดจงชังคนรัสเซียด้วย ซึ่งรัสเซียก็ต้องการกวาดล้างให้สิ้นซาก
การโจมตีทางเคียฟและเชียร์นิกอฟและแนวรบอื่นๆ อย่างนีโคลาเยฟ มีผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าน่าจะเป็นการโจมตีลวงที่เล่นใหญ่สมจริงถึงขนาดยอมเสียนายพลด้วย จึงทำให้เกิดการตรึงกำลังของฝ่ายยูเครนในส่วนนี้และไม่สามารถส่งไปช่วยแนวรบด้าน Corridor ทางใต้ ในที่สุดรัสเซียจึงเริ่มควบคุมแนว Corridor ดังกล่าวได้เพื่อเปิดทางให้เกิดการโอบล้อมฝ่ายยูเครนในดอนบาสให้ตกอยู่ในวงล้อมของฝ่ายกองทัพรัสเซียและกองกำลังติดอาวุธสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮันสก์ (DPR และ LPR) ซึ่งฉากทัศน์ถัดไปของสงครามคือการเทความเข้มข้นการสู้รบไปยังดอนบาส
แต่แม้กระนั้นการศึกในดอนบาสก็อาจจะไม่ง่ายสำหรับฝั่งรัสเซียเช่นกัน เนื่องจากตลอดระยะเวลา 8 ปีแห่งความขัดแย้งในดอนบาส ทหารยูเครนได้สร้างสนามเพลาะและแนวป้องกันเต็มไปหมด ถึงแม้ฝ่ายรัสเซียจะสามารถสถาปนาวงล้อมทหารยูเครน แต่การรุกคืบนั้นก็คงจะต้องใช้เวลาและกำลังคน (ซึ่งรัสเซียต้องพึ่งพาจากการส่งกำลังผ่านแนว Corridor ดังกล่าว) กระนั้นหากรัสเซียทำสำเร็จ กองทหารฝ่ายยูเครนจะไม่สามารถทำการสู้รบต่อไปได้อีก
อาจจะมีผู้ทักท้วงว่าปกติการเข้าตีลวงจะไม่ใช้กำลังหลักไม่ใช่หรือ เพราะทำไปเพื่อดึงดูดความสนใจฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น อันที่จริงในประวัติศาสตร์การทหารของโลกมีหลายกรณีที่ผู้นำทัพใช้กำลังทหารหลักเป็นผู้ดำเนินการโจมตีลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างในกรณีของกองทัพแดงโซเวียตเองก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลเกออร์กี จูคอฟ (Marshal Georgy Zhukov) ได้มีการปฏิบัติการยูเรนัส (Operation Uranus) เพื่อปิดล้อมกองทัพที่ 6 ของนาซีเยอรมันที่สตาลินกราด (Stalingrad) จอมพลจูคอฟได้เปิดปฏิบัติการมาร์ส (Operation Mars) ที่เมืองรเฌฟสก์ (Rzhevsky) ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งมีการใช้กำลังทหารถึง 7 แสนนาย และรถถังเกือบ 2,000 คัน แต่ปฏิบัติการมาร์สก็ไม่สามารถเจาะแนวป้องกันของฝ่ายเยอรมันได้ แถมเสียชีวิตกำลังพลไปราว 3 แสนนาย แต่ผลที่ได้คือกองทัพภาคกลางของฝ่ายเยอรมันต้องตรึงกำลังอยู่กับที่และไม่สามารถยกมาช่วยฝ่ายเดียวกันได้ และในที่สุดกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราดก็ถูกกองทัพโซเวียตตีแตกได้ในที่สุด แน่นอนว่ารายละเอียดต่างๆ ของสมรภูมิในอดีตกับปัจจุบันมีความต่างกัน แต่อย่างน้อยการยกตัวอย่างนี้ก็ทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าบางครั้งกลยุทธ์การเข้าตีลวงก็ต้องเล่นใหญ่ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการเข้าตีจริง
สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในเฟสถัดไปนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าจะพัฒนาไปอย่างไร อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นและกลายเป็นตัวแปรในพัฒนาการของเหตุการณ์ก็เป็นได้ อย่างเช่นล่าสุดที่มีรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์โจมตีของยูเครนได้บินเล็ดลอดข้ามพรมแดนเข้าไปยิงขีปนาวุธแหล่งเก็บน้ำมันของรัสเซียที่เมืองเบลโกรอด (Belgorod) ซึ่งอาจจะต้องรอสักระยะหนึ่งเพื่อรอดูข้อสรุปจากทั้งสองฝ่าย
และจริงๆ แล้วนอกจากเกมกลยุทธ์ทางทหารรัสเซีย ยังมีไพ่ใบอื่นๆ ของรัสเซียอีกที่ถูกนำมาใช้คู่ขนานกันไปเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของโลกตะวันตก เช่น การแก้เกมโดยการบังคับให้ ‘กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ต้องซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขาดการอุปโภคบริโภคไม่ได้อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยเงินรูเบิล จึงทำให้ค่าเงินรูเบิลเริ่มฟื้นค่าคืนมาใกล้เคียงกับภาวะก่อนการบุกยูเครน
สถานการณ์ในเฟสนี้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
และขอให้ทุกสถานการณ์มีพัฒนาการไปในทางสันติโดยเร็ววัน
ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/3/1/who-are-the-azov-regiment
- https://www.currenttime.tv/a/31777815.html
- https://iz.ru/1312321/2022-03-29/peregovory-delegatcii-rossii-i-ukrainy-v-stambule-glavnoe
- https://iz.ru/1313963/2022-04-01/putinu-dolozhili-ob-aviaudarakh-vsu-po-neftebaze-v-belgorode
- http://vovwol.narod.ru/stalengrad4.html
- https://xn--80achcepozjj4ac6j.xn--p1ai/articles/operaciya-mars