×

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามสั่งสอนฉบับปูตินที่หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ?

25.02.2022
  • LOADING...
สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามสั่งสอนฉบับปูตินที่หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ?

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเพื่อปกป้องดอนบาสนั้นขยายวงเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบต่อยูเครน
  • สงครามครั้งนี้มีรูปแบบคล้ายกับสงครามสั่งสอนจอร์เจียในปี 2008 เพื่อป้องปรามไม่ให้จอร์เจียเข้าร่วม NATO และรัฐบาลที่โปรตะวันตกของจอร์เจียก็ไม่ได้ไปต่อจากมติมหาชน
  • สงครามครั้งนี้มีต้นทุนด้านกลาโหม เศรษฐกิจ รวมถึงวิกฤตศรัทธาจากคนรัสเซียเองที่มีความผูกพันกับคนยูเครน เริ่มมีการต่อต้านสงคราม
  • ตามทรรศนะผู้นำรัสเซียคงมองแล้วว่า ไม่มีต้นทุนใดที่แพงไปกว่าการปล่อยให้คนหลังบ้านอย่างยูเครน มีสิทธิปล่อยใครก็ได้เอาจรวดมาตั้งไว้ในสวนหลังบ้านของตน

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเพื่อสนับสนุนแคว้นดอนบาสนั้นกลายเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เป็นลักษณะการชิงทำสงครามก่อนเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้น (Pre-emtive Strike) เราได้เห็นภาพการโจมตีด้วยจรวดร่อนต่อสิ่งก่อสร้างทางยุทธศาสตร์ทั่วประเทศ มีการใช้กำลังทหารราบ รถถัง กองเรือทะเลดำ และเครื่องบินรบในรูปแบบต่างๆ เข้าสู่ยูเครนจากทั้งทิศตะวันออกจากพรมแดนและดอนบาส ทิศใต้จากไครเมีย และทิศเหนือจากเบลารุส

 

จากแผนการโจมตีที่ฝ่ายตะวันตกคาดการณ์ไว้แบ่งออกเป็นหลายระยะ โดยเฉพาะแผนที่หน่วยสืบราชการลับ MI6 ที่ถูกเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นระบุชี้ชัดค่อนข้างใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า ในเฟสแรกรัสเซียจะบุกยึดเมืองสำคัญในภาคตะวันออกของยูเครนก่อน คาร์คิฟ ซาโปริจเจีย ดนิโปร มาริอูโปล จากฝั่งตะวันออก และจากฝั่งเหนือด้านพรมแดนเบลารุสที่เข้ายึดเมืองพริเพียตที่ตั้งซากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ก่อนที่จะมุ่งลงกรุงเคียฟ 

 

ส่วนเฟสสองจะเป็นการเคลื่อนกองทัพจากพรมแดนด้านใต้จากไครเมียเข้าเคียร์โซน นิโคลาเยฟ เพื่อเข้ายึดเมืองท่าโอเดสซาเพื่อปิดล้อมยูเครนไม่ให้เข้าถึงทะเลดำ ในขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียที่มาจากหลายเส้นทางที่มาสมทบกับดนิโปรก็จะรุกคืบมุ่งหน้าทางตอนกลางและตะวันตกของยูเครนต่อไป

 

สงครามครั้งนี้ถือว่าเกินขอบเขตที่ประกาศไว้มาก คือก้าวข้ามไปไกลกว่าดอนบาส ปฏิบัติการทางทหารบางอย่างก็ตีความได้ว่าเกินกว่าการประกาศ เช่น กระทรวงกลาโหมรัสเซียเคยประกาศว่าจะไม่ใช้การโจมตีทาง (ทางอากาศ) ต่อบรรดาเมืองต่างๆ ของยูเครน แต่ข้อเท็จจริงคือมีการยิงขีปนาวุธเพื่อโจมตีระบบการป้องกันภัยทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายยูเครน ซึ่งที่สุดแล้วก็เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของชาวบ้านยูเครนอยู่ดี 

 

สงครามในครั้งนี้มีลักษณะที่ปนกันไม่ว่าจะเป็นสงครามสั่งสอนหรือสงครามล้างแค้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าโจทย์สำคัญในเรื่องนี้ของปูตินคือ NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา NATO แผลงฤทธิ์จนทำให้รัสเซียหัวเสียสองครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรกคือในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ต่อเนื่องต้นทศวรรษที่ 2000 กรณีของสงครามในยูโกสลาเวียที่ต่อมาจะกลายเป็นเซอร์เบีย และจะมีปัญหากลุ่มแบ่งแยกดินแดนโคโซโว NATO ทำสงครามต่อต้านยูโกสลาเวีย-เซอร์เบีย ในข้ออ้างเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนรัสเซียให้การสนับสนุนฝ่ายเซอร์เบียในฐานะที่เป็นชนชาติสลาฟเหมือนกัน และเคยค้ำชูอุดหนุนมาแต่กาลเก่า

 

กลุ่มประเทศตะวันตกในนาม NATO ได้บ่อนทำลายยูโกสลาเวียแยกประเทศเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยจนเล็กเหลือแค่เซอร์เบีย ยังไม่วายที่โคโซโวที่มีสถานะเป็นจังหวัดปกครองตนเองเชื้อสายแอลเบเนียนั้นได้ขอแยกตัวจากเซอร์เบียด้วย รัสเซียพยายามคัดค้านเพราะจะทำให้เซอร์เบียพันธมิตรตนอ่อนแอลงไป และยังทำให้บูรณภาพดินแดนของเซอร์เบียถูกละเมิด แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากในกรณีนี้ NATO ให้น้ำหนักของหลักการ ‘Self-determination’ นำหน้า ‘Territorial Integrity’ 

 

ผ่านมา 20 ปี รัสเซียที่ได้แต่เก็บความช้ำใจนั้นมาลงที่ยูเครนที่ฝักใฝ่ตะวันตก โดยทำการย้อนเกล็ด NATO ด้วยการให้คุณค่าของ ‘Self-determination’ นำหน้า ‘Territorial Integrity’ แบบเดียวกันในกรณีของไครเมียและดอนบาส 

 

นอกจากนี้ยังเป็นการย้อนรอยสงครามสั่งสอนจอร์เจียในปี 2008 หลังประธานาธิบดีมิคาอิล ซากาชวิลี ผู้นำจอร์เจียในขณะนั้น ประกาศจะเข้าร่วม NATO เพื่อสั่งสอนและป้องปรามไม่ให้จอร์เจียเข้าร่วมกับ NATO มิฉะนั้นหลังบ้านรัสเซียในทางทิศใต้ก็จะมีพรมแดนที่ประชิดกับ NATO อีกแห่ง ในกรณีนี้รัสเซียก็ใช้การปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบต่อจอร์เจีย มีการส่งกองทัพเข้าโจมตีและยึดครองเมืองสำคัญในฝั่งจอร์เจีย แต่เป็นระยะเวลาอันสั้นเพียง 5 วันก่อนที่จะถอนกำลังออก ผลที่ตามมาของการที่กองทัพจอร์เจียพ่ายแพ้ต่อรัสเซียคือ การที่มติมหาชนในจอร์เจียเดิมที่มีกระแสชาตินิยมต้านรัสเซียร่วมกับรัฐบาลซากาชวิลีในขณะนั้น กลับตาลปัตรเป็นความไม่พอใจที่รัฐบาลไม่สามารถปกป้องอำนาจอธิปไตยได้ ในที่สุดรัฐบาลนั้นก็ไม่ได้ไปต่อในสมัยเลือกตั้งถัดมา จบอนาคตทางการเมืองต้องบินออกนอกประเทศและกลับจอร์เจียไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

 

รัสเซียคงมีรูปแบบสงครามนี้ในใจ แต่ก็มีปัจจัยที่ต่างจากสงครามสั่งสอนจอร์เจียในครั้งนั้นคือพื้นที่ยูเครนใหญ่กว่ามาก กว่าจะเข้าปฏิบัติการทางทหารครบจุดคงต้องใช้เวลานานกว่า อีกแง่หนึ่งคือคนยูเครนมินิสัยใจคอที่ไม่ต่างจากคนรัสเซีย คือมีเลือดนักสู้ ยอมสู้ตาย 

 

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือมติมหาชนชาวรัสเซียนั้นมีจำนวนมากที่ต่อต้านสงครามยูเครน เนื่องจากชาวรัสเซียมีความผูกพันกันมายาวนาน ไม่คิดว่าชาวยูเครนจะเป็นคนต่างชาติต่างภาษา คนรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่แต่งงานกับคนยูเครนและมีญาติอยู่ที่ยูเครน โดยมองว่าการทำสงครามครั้งนี้ตรงกับสำนวน ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ กล่าวคือ ทำร้ายคนใกล้ชิด คนบ้านเดียวกันเอง เกิดผลกระทบต่อตัวผู้กระทำหรือคนในพวกเดียวกันด้วย ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะทำสงครามนี้ ซึ่งสะท้อนผ่านการเดินขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นทั่ว 44 เมืองของรัสเซียอย่าง มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เยคาเตรินบุร์ก เปียร์ม ฯลฯ คนรัสเซียหลายคนเกิดคำถามว่า “เมืองท่าโอเดสซา เมืองอิวานโน-ฟรังคิฟสก์ เมืองลวีฟ ฯลฯ ที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของยูเครนมันเป็นดอนบาสตรงไหน”

 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการประท้วงได้ อันเนื่องมาจากข่าวกรองหน่วยงานความมั่นคงแข็งแกร่ง รวมไปถึงรัสเซียเองมีอัตราการจ้างงานในหน่วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจอยู่ค่อนข้างมาก เราจึงจะเห็นภาพบ่อยครั้งว่าถ้าม็อบมา 1,000 คน จะมีตำรวจมาคุมเกือบ 2,000 คน ถ้าม็อบมา 2,000 คน เราจะเห็นตำรวจมาคุม 3,000 คน เป็นต้น (เป็นสิ่งที่ผู้เขียนประสบมากับสายตาตนเอง สมัยเรียนอยู่ที่รัสเซีย)

 

นอกจากต้นทุนด้านงบประมาณกลาโหม ค่ารถถัง เครื่องบิน ค่าใช้จ่ายกำลังพล รวมไปถึงชีวิตของทหารหาญที่สังเวยให้กับสงครามนี้ ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มูลค่าตลาดหุ้นรัสเซียหายไปกว่า 1 ใน 3 รวมทั้งมูลค่าของสกุลเงินรูเบิลตกลงมากที่สุดในรอบปี ซ้ำเติมความมั่งคั่งที่ย่ำแย่ลงของชาวรัสเซีย ต้นทุนด้านจิตวิทยาการเมืองในหมู่ชาวรัสเซียเองก็เสียไปเช่นกัน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า คนรัสเซียจำนวนไม่น้อยมีความเห็นอกเห็นใจต่อคนยูเครน และไม่พอใจที่ปูตินทำสิ่งนั้นต่อพี่น้องของเขาเอง

 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับปูตินแล้วไม่มีต้นทุนอะไรแพงไปกว่าการที่มีคนหลังบ้านอย่างยูเครนเปิดประตูให้คนนอกเอาจรวดมาตั้งประชิดหลังบ้าน

 

ดูท่าแล้วความหวังเดิมของรัสเซียที่จะเปลี่ยนคณะผู้บริหารประเทศยูเครนจากภายในด้วยการสนับสนุนในทางลับอย่างสันติวิธีต่อฝ่ายค้านกลุ่มต่างๆ ให้ขึ้นมามีอำนาจแทนรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นอาจผลักดันให้สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นได้ด้วยวิธีการใช้กำลังทหารเสียแล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดของ MI6 ของสหราชอาณาจักรที่เริ่มเปิดเผย ‘ตัวเต็ง’ ผู้นำยูเครนที่รัสเซียปลื้มออกมาแล้ว หนึ่งในนั้นคือ เยฟกินี มูราเยฟ (Yevgeny Murayev) รวมไปถึงแผนการลอบสังหารประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนผู้ฝักใฝ่ตะวันตกนั้นก็อาจจะมีความเป็นไปได้

 

ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการสร้าง ‘หลักประกันความมั่นคง’ (Security Guarantee) ของตัวเองโดยฝ่ายเดียว หลังจากที่รัสเซียถูกปฏิเสธข้อเสนอนี้มาโดยตลอดจากโลกตะวันตก 

 

ท้ายที่สุดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครนเองเช่นกันที่ติดกับดักในเกมการเมืองของมหาอำนาจ

 

อย่างไรก็ตามสงครามก็คือสงคราม มีแต่จะทำให้เสียหายกันทุกฝ่าย

ขอภาวนาให้เกิดสันติภาพโดยเร็วที่สุด!

 

ภาพ: Plavi011 / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising