×

ประมวลสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ก่อนไบเดนส่งสัญญาณพร้อมประชุมสุดยอดกับปูติน

21.02.2022
  • LOADING...
ประมวลสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ก่อนไบเดนส่งสัญญาณพร้อมประชุมสุดยอดกับปูติน

สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ และหลายชาติตะวันตกจับตามองว่าอาจเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียตัดสินใจ ‘ลั่นกลองรบ’ ด้วยการส่งกำลังทหารที่ปักหลักอยู่แนวชายแดนกว่า 130,000 นาย บุกเข้าแผ่นดินยูเครน

 

แต่จนถึงขณะนี้เหตุการณ์ยังไม่ปะทุไปถึงขั้นนั้น ซึ่งฝ่ายมอสโกยืนยันมาตลอดว่าเป็นสหรัฐฯ ที่พยายาม ‘จุดเชื้อไฟ’ ให้กับวิกฤตตึงเครียดนี้และต้องการยั่วยุให้เกิดสงคราม ในขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกก็ยืนกรานหนักแน่นว่า ยังมีสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัสเซียนั้นพร้อมเปิดฉากบุกยูเครนได้ทุกเมื่อ

 

ไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์นับตั้งแต่เริ่มเกิดชนวนตึงเครียดจากการเสริมกำลังทหารของรัสเซียจนถึงตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และมีโอกาสมากหรือน้อยแค่ไหนที่รัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครน หรือเลือกยุติวิกฤตตึงเครียดทั้งหมดนี้ด้วยการเจรจาทางการทูต

 

พฤศจิกายน 2021

 

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ากองทัพรัสเซียเสริมกำลังทหารที่ประจำการแนวชายแดนติดกับยูเครน โดยรัฐบาลเคียฟระบุว่า มอสโกได้เคลื่อนกำลังทหารกว่า 100,000 นาย พร้อมด้วยรถถังและยุทโธปกรณ์หนักอื่นๆ ไปยังพื้นที่ชายแดน

 

7 ธันวาคม 2021

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตือนรัสเซียว่าอาจเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงจากสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก หากกระทำการบุกยูเครน

 

17 ธันวาคม 2021

 

รัสเซียยื่นข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงต่อสหรัฐฯ และชาติตะวันตก รวมถึง NATO ให้ระงับความเคลื่อนไหวทางการทหารทั้งหมดในยุโรปตะวันออก และให้การรับรองว่ายูเครนหรืออดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตอื่นๆ จะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ในอนาคต

 

3 มกราคม 2022

 

ไบเดนต่อสายตรงคุยกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมทางการทูตที่กำลังจะจัดขึ้น เพื่อหาหนทางยุติวิกฤตตึงเครียด โดยไบเดนให้ความมั่นใจต่อเซเลนสกีว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากรัสเซียบุกยูเครน

 

10 มกราคม 2022

 

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และรัสเซีย ร่วมเจรจาทางการทูตที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ แต่ด้วยความเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปหรือแนวทางยุติปัญหา โดยมอสโกยังคงย้ำข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงในยุโรปตะวันออก ขณะที่วอชิงตันยืนยันว่าไม่สามารถตอบรับข้อเรียกร้องได้

 

24 มกราคม 2022

 

NATO สั่งกองทัพเตรียมความพร้อมและเสริมกำลังทหารในยุโรปตะวันออก พร้อมเพิ่มเรือและเครื่องบินรบ ขณะที่ชาติตะวันตกบางประเทศเริ่มอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ไม่มีความจำเป็นออกจากยูเครน ส่วนสหรัฐฯ สั่งการให้กำลังทหารราว 8,500 นาย ที่ประจำการในยุโรปเตรียมความพร้อม

 

26 มกราคม 2022

 

วอชิงตันส่งคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย โดยย้ำคำมั่นต่อนโยบาย ‘เปิดกว้าง’ ในการรับสมาชิกของ NATO ขณะเดียวกันก็เสนอให้มี ‘การประเมินตามหลักการและในทางปฏิบัติ’ สำหรับข้อกังวลของฝ่ายมอสโก

 

27 มกราคม 2022

 

ไบเดนเตือนความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่จีนให้น้ำหนักของสถานการณ์อยู่ข้างรัสเซีย โดยมองว่าสหรัฐฯ ควรพิจารณาข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงที่เป็นไปตามกฎหมายของรัสเซียอย่างจริงจัง

 

28 มกราคม 2022

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า “ข้อเรียกร้องหลักด้านความมั่นคงของรัสเซียยังไม่ได้รับการแก้ไข” แต่ยืนยันว่ามอสโกยังพร้อมที่จะพูดคุยเพื่อหาทางยุติความตึงเครียด

 

ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน เตือนชาติตะวันตกให้หลีกเลี่ยงการสร้างความตื่นตระหนกที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจ

 

31 มกราคม 2022

 

สหรัฐฯ และรัสเซีย ปะทะคารมเรื่องวิกฤตยูเครน ในระหว่างการประชุมวาระพิเศษแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดย ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำ UN กล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียจะส่งผลคุกคามต่อความมั่นคงของทั่วโลก ขณะที่ วาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำ UN ตอบโต้กลับ โดยกล่าวหาวอชิงตันและชาติพันธมิตรที่ประโคมข่าวเรื่องภัยคุกคามของสงคราม ทั้งที่รัฐบาลมอสโกยืนยันปฏิเสธเรื่องแผนบุกยูเครน

 

1 กุมภาพันธ์ 2022

 

ปูตินปฏิเสธเรื่องการวางแผนบุกยูเครนและกล่าวหาสหรัฐฯ ที่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซีย

 

6 กุมภาพันธ์ 2022

 

รายงานจากสื่อของสหรัฐฯ หลายสำนัก อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ระบุว่า รัสเซียสามารถเสริมกำลังทหารที่จำเป็นสำหรับการเปิดฉากโจมตียูเครนเต็มรูปแบบได้แล้วกว่า 70% 

 

8 กุมภาพันธ์ 2022

 

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางไปยังมอสโกเพื่อประชุมร่วมกับปูติน โดยหลังการประชุมเขาเผยต่อสื่อมวลชนว่ารัสเซียจะไม่ขยายความตึงเครียดของวิกฤตที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน ออกมาปฏิเสธภายหลังว่ามาครงและปูตินไม่ได้บรรลุข้อตกลงใดๆ เพื่อยุติการขยายวิกฤตดังกล่าว

 

10 กุมภาพันธ์ 2022

 

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ร่วมหารือกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โดยผลการหารือนั้นไม่เกิดผลในแง่บวกใดๆ ซึ่งในการแถลงข่าว ลาฟรอฟบรรยายว่าเป็นการพูดคุยกันระหว่าง ‘คนเป็นใบ้และคนหูหนวก’ แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของมอสโกได้นำเสนอข้อเท็จจริงของวิกฤตครั้งนี้แก่ฝ่ายอังกฤษ

 

ส่วนทางด้านทรัสส์ กล่าวเตือนรัสเซียถึงการดำเนินการคว่ำบาตรที่รุนแรงจากชาติตะวันตก เพื่อตอบโต้หากยูเครนถูกรัสเซียบุกโจมตี

 

11 กุมภาพันธ์ 2022

 

ไบเดนกล่าวระหว่างโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำชาติตะวันตกว่า ปูตินอาจตัดสินใจเปิดฉากโจมตียูเครนในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่ระบุว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เผยข้อมูลว่ารัสเซียอาจบุกยูเครนในช่วงก่อนปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์

 

ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สั่งการให้ส่งกำลังทหาร 3,000 นาย ไปยังโปแลนด์ เพื่อให้ความมั่นใจต่อชาติพันธมิตร และมีหลายประเทศทยอยเตือนพลเรือนของตนให้ออกจากยูเครน

 

12 กุมภาพันธ์ 2022

 

ไบเดนและปูตินจัดการประชุมทวิภาคีผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียจะส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อประชาชนในวงกว้าง พร้อมยืนยันว่าชาติตะวันตกมุ่งมั่นที่จะยุติวิกฤตครั้งนี้ด้วยวิธีทางการทูต แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ส่วนทางปูตินกล่าวย้ำว่าฝ่ายสหรัฐฯ และ NATO นั้นไม่ได้ให้คำตอบที่น่าพอใจต่อรัสเซียเรื่องข้อเรียกร้องด้านความมั่นคง ทั้งการห้ามยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO รวมถึงการถอนทหารทั้งหมดของ NATO ออกจากยุโรปตะวันออก

 

15 กุมภาพันธ์ 2022

 

ประธานาธิบดีปูตินประกาศยืนยันการถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากพื้นที่ชายแดนยูเครน ในขณะที่รัฐสภารัสเซียขอให้ปูตินรับรองแคว้นโดเนตสก์และลูฮันก์ ที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน ให้เป็นรัฐอิสระ

 

ท่าทีของรัสเซียสวนทางกับฝ่ายสหรัฐฯ และ NATO ที่ระบุว่ายังไม่เห็นสัญญาณการถอนกำลังทหารของรัสเซีย โดย เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO มองความเคลื่อนไหวของรัสเซียไปในทางตรงกันข้าม และมีรายงานการเสริมกำลังรบ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ไปยังชายแดนยูเครน

 

16 กุมภาพันธ์ 2022

 

ทั่วโลกจับตามองสถานการณ์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ คาดการณ์ว่ารัสเซียอาจเปิดฉากบุกยูเครน แต่สถานการณ์บริเวณชายแดนยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน 

 

ในขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครน ประกาศให้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งเอกภาพ เพื่อแสดงให้โลกเห็นถึงความสามัคคีของชาวยูเครน และเรียกร้องให้ประชาชนติดธงชาติตามอาคารบ้านเรือน ซึ่งประชาชนจำนวนมากในกรุงเคียฟพากันออกมาร่วมเดินขบวนและโบกธงชาติ พร้อมตะโกนถ้อยคำไม่ยอมก้มหัวให้รัสเซีย

 

17 กุมภาพันธ์ 2022

 

CNN รายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ว่า รัสเซียมีการเสริมกำลังทหารไปยังชายแดนยูเครนอีกราว 7,000 นาย ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สวนทางกับข้อมูลจากฝ่ายรัสเซียที่อ้างว่ามีการถอนกำลังทหาร

 

ไบเดนเตือนว่าข้อบ่งชี้ต่างๆ ที่สหรัฐฯ มี แสดงให้เห็นว่ารัสเซียกำลังวางแผนที่จะบุกยูเครนภายในไม่กี่วันข้างหน้า และมีแผนที่จะจัดฉากเพื่อหาข้ออ้างบุกยูเครน 

 

ความเห็นของไบเดนมีขึ้นหลังจากเกิดเหตุยิงปะทะด้วยปืนใหญ่ระหว่างกองทัพรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มกบฏสนับสนุนรัสเซียในลูฮันก์ ซึ่งถือเป็นเหตุปะทะครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายเดือน ขณะที่รัสเซียกล่าวหารัฐบาลเคียฟว่าพยายามกำจัดพลเรือน

 

19 กุมภาพันธ์ 2022

 

ปูตินกำกับดูแลการฝึกซ้อมรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ในเบลารุส ซึ่งมีการยิงขีปนาวุธทั้งชนิดความเร็วเหนือเสียงและขีปนาวุธร่อน โจมตีเป้าหมายทางทะเลและทางบก โดยรัสเซียยืนยันว่าเป็นการซ้อมรบตามปกติและปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น

 

20 กุมภาพันธ์ 2022

 

การฝึกซ้อมทางทหารระหว่างรัสเซียและเบลารุสสิ้นสุดลง แต่ผู้นำของ 2 ประเทศ ตัดสินใจให้ขยายการฝึกซ้อมออกไปอีก และคงกำลังทหาร 30,000 นาย ในเบลารุส โดยแถลงการณ์ที่ออกมาอ้างสาเหตุจากความกังวลต่อสถานการณ์เลวร้ายในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งยังคงเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

 

เลขาธิการ NATO ยืนยันว่า ทุกสัญญาณที่มีในตอนนี้บ่งชี้ว่ารัสเซียวางแผนที่จะโจมตียูเครนอย่างเต็มกำลัง โดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชาอาณาจักร เตือนว่ารัสเซียกำลังผลักดันยุโรปเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 

 

ขณะที่ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส ต่อสายตรงคุยกับปูตินนานถึง 105 นาที โดยทั้งสองเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาทางการทูตสำหรับวิกฤตครั้งนี้ ในขณะที่ตกลงจะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการหยุดยิงในพื้นที่ขัดแย้งทางตะวันออกของยูเครน

 

21 กุมภาพันธ์ 2022

 

ด้านทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนเห็นพ้องในหลักการที่จะจัดการประชุมสุดยอดร่วมกับปูติน เพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้สำหรับวิกฤตครั้งนี้ 

 

โดยข้อเสนอจัดประชุมสุดยอดดังกล่าวได้รับการผลักดันจากการพูดคุยระหว่างปูตินและมาครง แต่ทำเนียบขาวยืนยันว่า การประชุมของ 2 ผู้นำ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัสเซียไม่รุกรานยูเครน ซึ่งรายละเอียดการจัดประชุมจะมีการหารืออีกครั้งในระหว่างการประชุมทวิภาคีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซีย ในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์

 

ภาพ: Photo by Mikhail Metzel\TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X