วานนี้ (3 พฤษภาคม) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กำลังส่งสัญญาณเตือนชาติตะวันตกว่าเขาอาจจะยุติการส่งออกและข้อตกลงต่างๆ ได้ ผ่านการลงนามกฤษฎีกาซึ่งห้ามการส่งออกสินค้าและวัตถุดิบไปยังบุคคลและหน่วยงานตามรายชื่อคว่ำบาตรที่เขาสั่งรัฐบาลให้ร่างขึ้นภายใน 10 วัน
ปูตินร่างกฤษฎีกานี้อย่างชัดเจนในฐานะหนึ่งในการตอบสนองต่อสิ่งที่เขามองว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ที่มุ่งหมายจะจำกัดหรือกีดกันรัสเซีย พลเมืองของรัสเซีย และนิติบุคคลของรัสเซียจากสิทธิในทรัพย์สิน
กฤษฎีกานี้ได้กำหนด ‘มาตรการทางเศรษฐกิจพิเศษเชิงตอบโต้ ที่เชื่อมโยงกับการกระทำที่ไม่เป็นมิตรของรัฐต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศบางแห่ง’
กฤษฎีกาดังกล่าวทำให้รัสเซียมีอำนาจที่จะสร้างความโกลาหลในตลาดต่างๆ เพราะมีการห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบไปยังบุคคลและหน่วยงานที่รัสเซียได้คว่ำบาตร ตลอดจนห้ามทำธุรกรรมใดๆ กับบุคคลหรือหน่วยงานดังกล่าวแม้ภายใต้สัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบันในเวลาใดก็ได้ ซึ่งรัฐบาลรัสเซียมีเวลา 10 วันในการจัดทำรายชื่อบุคคลหรือองค์กรที่จะคว่ำบาตร รวมถึงการกำหนด ‘เกณฑ์เพิ่มเติม’ สำหรับธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัด
ทั้งนี้ การรุกรานยูเครนของรัสเซียตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ต่อรัสเซียและกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของรัสเซีย ซึ่งปูตินมองว่าเป็นการประกาศสงครามทางเศรษฐกิจ ความพยายามของชาติตะวันตกในการโดดเดี่ยวรัสเซียทางเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้กลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยด้วยราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น และคำเตือนเรื่องการขาดแคลนอาหาร ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก
ปูตินได้ย้ำเตือนมาตลอดว่ารัสเซียจะตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน แม้ว่าจนถึงวันอังคาร การตอบสนองทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของรัสเซียคือการตัดการจ่ายก๊าซไปยังโปแลนด์และบัลแกเรีย และเรียกร้องแผนการชำระเงินใหม่สำหรับผู้ซื้อก๊าซในยุโรป
ตั้งแต่ชาติตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เศรษฐกิจมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของรัสเซียก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่การหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลายปีหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ภาพ: ALEXEY DANICHEV / SPUTNIK / AFP
อ้างอิง: