×

โมเมนตัมสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนหนักถึงความขัดแย้งอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน กรณีนากอร์โน-คาราบัค

17.09.2022
  • LOADING...
รัสเซีย-ยูเครน

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • การปะทะทางทหารล่าสุดของอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานรุนแรงที่สุดในรอบ 2  ปี สะท้อนความมีน้ำยาของคนกลางอย่างรัสเซียที่ทั้งสองชาติให้ความยำเกรงมาโดยตลอด
  • อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานต่างเป็นรัฐในอดีตสหภาพโซเวียตทั้งคู่ แต่กลับกลายมาเป็นศัตรูต่อกันแบบไม่เผาผีเหยียบเงากัน นับตั้งแต่เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนตั้งแต่เริ่มแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต
  • ประวัติศาสตร์บาดแผลการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียโดยพวกเติร์กในสมัยจักรวรรดิออตโตมานถูกตอกย้ำโดยอาเซอร์ไบจาน ชนชาติที่พูดภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับชาวตุรกีและพยายามผูกมิตรกับตุรกี
  • เสถียรภาพของภูมิภาคทรานส์คอเคซัสอาจขึ้นอยู่กับสถานภาพของรัสเซียที่กำลังถูกท้าทายจากสงครามในยูเครน และอาจซ้ำเติมวิกฤตพลังงานโลกให้ย่ำแย่ลงไปอีก

เมื่อช่วงเที่ยงคืนของวันอังคารที่ผ่านมา (13 กันยายน) ตามเขตเวลามอสโก (UTC+4) กองทัพอาเซอร์ไบจานได้เปิดฉากยิงปืนใหญ่ถล่มฝ่ายอาร์เมเนียในบริเวณใกล้พื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค ก่อนที่จะมีการยิงตอบโต้จากฝั่งอาร์เมเนีย ทำให้ฝ่ายอาร์เมเนียสูญเสียทหารนับร้อย ส่วนฝั่งอาเซอร์ไบจานก็สูญเสียไปกว่าครึ่งร้อย ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหาทางเจรจาหยุดยิงได้สำเร็จเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา

 

เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ปะทะกันทางทหารที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปีของทั้งฝ่ายอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน โดยเหตุปะทะรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 ที่ครั้งนั้นมีการยิงกันไปมาถึงขั้นที่สงครามยาวนานถึง 6 สัปดาห์ รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปีนับจากสงครามของทั้งสองประเทศ หลังแยกตัวจากสหภาพโซเวียต 

 

แม้ว่าอาเซอร์ไบจานจะเป็นฝ่ายเปิดฉากก่อน แต่ด้วยข้ออ้างที่ว่าอาร์เมเนียก่อเหตุยั่วยุก่อนโดยการปฏิบัติการวางทุ่นระเบิดในแนวพื้นที่พิพาท ทำให้อาเซอร์ไบจานมิอาจอยู่นิ่งเฉยได้ ส่วนทางด้านอาร์เมเนียในฐานะที่เป็นเหยื่อโดนถล่มก่อน คราวนี้ก็พยายามชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า ฝั่งตนเองถูกกระทำก่อนอย่างชัดเจน และได้พยายามใช้กลไก CSTO (Collective Security Treaty Organization) หรือพูดง่ายๆ คือนาโต้ของค่ายรัสเซียที่อาร์เมเนียเป็นสมาชิกอยู่เข้ามาแก้ปัญหา ส่วนปฏิกิริยาของนานาชาติไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส และอิหร่าน ต่างก็พูดออกมาในทำนองเดียวกันว่า ขอให้ทุกฝ่ายใช้สันติภาพในการแก้ไขปัญหา มีเพียงตุรกีชาติเดียวที่ร่วมกับอาเซอร์ไบจานกล่าวโทษว่าอาร์เมเนียยั่วยุก่อน สะท้อนถึงความเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกของอาเซอร์ไบจานและตุรกีได้เป็นอย่างดี

 

ไม่ว่าใครจะเริ่มก่อนก็ตาม ผลที่ตามมาคือความไม่สงบในพื้นที่ทรานส์คอเคเซียที่มีความสำคัญในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก เป็นจุดที่ยุโรปเชื่อมกับเอเชีย ตะวันออกเชื่อมตะวันตก ที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่ท่อส่งน้ำมันเส้นทางสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่ง

 

รัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Klenger / Shutterstcok

 

ดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ที่เป็นชนวนความขัดแย้งคือที่ใด

ดินแดนนากอร์โน-คาราบัคในทางพฤตินัยคือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของประชากรเชื้อสายอาร์เมเนีย (เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศอาเซอร์ไบจาน แต่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในนากอร์โน-คาราบัค) ที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของอาเซอร์ไบจาน และบริหารพื้นที่ประหนึ่งเป็นรัฐเอกราช ซึ่งทางการอาเซอร์ไบจานไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แต่ในทางนิตินัยรัฐบาลอาเซอร์ไบจานและประชาคมโลกถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน ดังนั้นสถานะของนากอร์โน-คาราบัคก็คือรัฐที่ไม่ได้รับการรับรอง (Non-Recognized State) นั่นเอง ยกเว้นการได้รับรองจากบรรดา Non-Recognized State ด้วยกันเอง เช่น ยูซนายา-เซาท์ออสซีเชีย, อับคาเซีย และพริดเนสทโวเรียหรือทรานส์นิสเทรีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น

 

นากอร์โน-คาราบัค มีที่มาจากภาษาตูรกิก คารา (Kara) หมายถึงสีดำ และบัก (Bag) หมายถึงสวน ส่วนนากอร์นึย (Nagorny) เป็นคำคุณศัพท์ภาษารัสเซียที่ใช้เรียกขยายคำนามพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนภูเขาหรือที่สูง ดังนั้นอนุมานความหมายเอาได้ว่าเป็นสวนสีดำที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง นากอร์โน-คาราบัคตั้งอยู่ในภูมิภาคเทือกเขาคอเคซัส อันเป็นจุดเชื่อมต่อและทางผ่านระหว่างอารยธรรมโลกทั้งตะวันตกและตะวันออก ผ่านมืออาณาจักรและมหาอำนาจต่างๆ หลายยุคสมัยจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อประวัติศาสตร์และการเมืองโลก ก่อนอื่นเราต้องไปทำความเข้าใจพื้นเพของปัญหาความขัดแย้งนี้กันก่อน

 

ชนวนแห่งประวัติศาสตร์บาดแผล

ดินแดนนากอร์โน-คาราบัคถือเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล จวบจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ดินแดนนี้เริ่มตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียในศตรวรรษที่ 19 เมื่อรัสเซียขยายอำนาจลงมาในภูมิภาคคอเคซัสและชนะสงครามเปอร์เซียทั้งครั้งที่ 1 และ 2 เป็นผลให้เปอร์เซียต้องยกดินแดนคาราบัคให้กับจักรวรรดิรัสเซียตามสนธิสัญญากูลิสตาน และเปอร์เซียยินยอมสละอำนาจทั้งหมดเหนือภูมิภาคคอเคซัสตามสนธิสัญญาเติร์กเมนชาย ตามลำดับ นับแต่นั้นเป็นต้นมารัสเซียจึงเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคคอเคซัสจวบจนปัจจุบัน

 

อังกฤษให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้ง พล.ต.คอสรอฟ สุลตานอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศอาเซอร์ไบจานที่เกิดใหม่ โดยการเสนอของฝ่ายอาเซอร์ไบจานเองให้เป็นผู้ว่าการคาราบัคและซานเกซูร์ อันเป็นผลอย่างไม่เป็นทางการจากการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส นับแต่นั้นมาชนกลุ่มน้อยชาวอาร์เมเนียจึงประกาศไม่ยอมรับผลดังกล่าว และจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติของชาวอาร์เมเนียขึ้นมาเอง บางส่วนจับอาวุธขึ้นสู้เป็นกองโจร รัฐบาลอาเซอร์ไบจานจึงเริ่มใช้นโยบายที่เข้มงวดต่อชาวอาร์เมเนียมากขึ้นไปอีก

 

ในที่สุดจึงเกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของความความสัมพันธ์อาเซอร์ไบจาน-อาร์เมเนีย เมื่อความขัดแย้งเริ่มบานปลาย ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียในเมืองชูชา อันเป็นเมืองชายขอบของทั้งอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียที่อยู่ในช่วงการปักปันพรมแดน ชาวอาร์เมเนียในเมืองชูชาในนามของแนวร่วมแห่งชาติได้ประท้วงและประกาศไม่ยอมรับอำนาจทางการอาเซอร์ไบจาน จึงเกิดเป็นจลาจลขึ้น เริ่มมีการปะทะด้วยอาวุธจากเหตุที่ตำรวจชาวอาเซอร์ไบจานถูกสังหารโดยตำรวจชาวอาร์เมเนียในช่วงเทศการนาฟรูส อันเป็นปีใหม่ของชาวเปอร์เซียและชนเชื้อสายตุรกิก นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ชูชา เมื่อทางการอาเซอร์ไบจานร่วมกับชาวบ้านอาเซอร์ไบจานจึงเริ่มไล่ฆ่า ข่มขืน และเผาบ้านเมืองชาวอาร์เมเนียจนราบเป็นหน้ากลอง กระทั่งแทบไม่เหลือชาวอาร์เมเนียอยู่ในเมืองอีก ตัวเลขผู้สูญเสียอยู่ที่ 500-30,000 ราย

 

บัลเชวิกส์และความยุ่งเหยิงจากมรดกตกทอดของระบอบโซเวียต

ฝ่ายบัลเชวิกส์ที่กำลังจะได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองรัสเซีย ได้แผ่อิทธิพลมาสู่ภูมิภาคคอเคซัสผ่านกลุ่มบัลเชวิกส์ภูมิภาคคอเคซัส และได้เข้าควบคุมอำนาจในรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน อาร์เมเนีย และจอร์เจีย เกิดกระบวนการ Political Institutionalization ตามแนวคิด Ethnopolitics ที่ให้อำนาจต่อชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าเป็นสถาบันทางการเมือง เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijani Soviet Socialist Republic – Azerbaijani SSR), สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์เมเนีย (Armenian Soviet Socialist Republic – Armenian SSR) และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย (Georgian Soviet Socialist Republic – Georgian SSR) ผลคือการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี 1920 (ก่อนที่จะถูกควบรวมเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคเซีย – Transcaucasian Socialist Federative Soviet Republic – TSFSR ช่วงปี 1922 และแยกออกเป็น 3 ประเทศเหมือนเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 1936)

 

สำหรับปัญหาการปักปันเขตแดนคงนี้ไม่พ้นความรับผิดชอบของ ไอโอซิฟ สตาลิน ในสมัยรัฐบาลของ วลาดิเมียร์ อูเลียนอฟ (เลนิน) ผู้นำการปฏิวัติและผู้นำคนแรกของสหภาพโซเวียต สตาลินดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการราษฎรว่าด้วยชาติพันธุ์ เขาขีดเส้นแบ่งดินแดนที่เป็นปัญหา 3 ดินแดนในขณะนั้น ได้แก่ ดินแดนนัคชีวัน ให้อยู่ในการปกครองของโซเวียตอาเซอร์ไบจาน (ดินแดนอาเซอร์ไบจานที่อยู่นอกแผ่นดินแม่), ดินแดนซานเกซูร์ ให้อยู่ภายใต้การปกครองของอาร์เมเนีย (ปัจจุบันคือจังหวัดซยุนนิกิ ที่เป็นพื้นที่ของอาร์เมเนียซึ่งยื่นคั่นกลางอาเซอร์ไบจานไปจดกับพรมแดนอิหร่าน) และดินแดนนากอร์โน-คาราบัค ให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตอาเซอร์ไบจานในรูปแบบของจังหวัดปกครองตนเองของชนชาติอาร์เมเนีย และจากการขีดเส้นแบ่งเขตแดนในครั้งนั้นจึงส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้

 

รัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Efasein / Shutterstock

 

อัตลักษณ์ร่วมความเป็นโซเวียตแช่แข็งความขัดแย้งของสองชนชาติไว้ชั่วคราว

ในยุคสหภาพโซเวียตความขัดแย้งถูกแช่แข็งไว้ชั่วคราว เพราะทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียต่างก็สมาทานอัตลักษณ์ร่วมใหม่ ซึ่งก็คือความเป็นสหภาพโซเวียตเดียวกัน จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงที่ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกเริ่มล่มสลาย ก่อนที่จะพาให้สหภาพโซเวียตแตกสลายในเวลาต่อมา เกิดกระแสชาตินิยมแพร่สะพัดไปทั่วสาธารณรัฐต่างๆ ของสหภาพโซเวียตที่หมดหวังและไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมสหภาพต่อไป ต่างพากันประกาศแยกตัวออก กรณีของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียก็เช่นกัน ที่กระแสชาตินิยมได้ปลุกเร้าให้ความขัดแย้งที่สงบไปกว่า 60 ปีได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคเรียกร้องการแยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจาน โดยการสนับสนุนของอาร์เมเนีย จึงเกิดเป็นการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างโซเวียตอาร์เมเนียและโซเวียตอาเซอร์ไบจาน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกจากสหภาพโซเวียตดี เป็นผลให้รัฐบาลกลางมอสโกต้องส่งกองทัพส่วนกลางเข้ามาหย่าศึกของทั้งสองฝ่าย

 

ความสมานสามัคคีภายใต้อัตลักษณ์ร่วม ล่มสลายไปพร้อมกับสหภาพโซเวียตที่ได้ละลายความขัดแย้งที่แช่แข็งให้กลับมาเป็นเปลวไฟอีกครั้ง

 

ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายอย่างเป็นทางการ อาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเป็นรัฐเอกราชอย่างสมบูรณ์ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งขับเคลื่อนไปอย่างรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น ฝ่ายนากอร์โน-คาราบัคชิงประกาศทำประชามติแยกตัวออกจากอาเซอร์ไบจานที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน อาเซอร์ไบจานจึงผ่านร่างกฎหมายให้ยุบทิ้งการปกครองตนเองของนากอร์โน-คาราบัค และนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างนากอร์โน-คาราบัค โดยการหนุนหลังของรัฐบาลอาร์เมเนียฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายรัฐบาลอาเซอร์ไบจานอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากปรากฏการณ์สุญญากาศทางอำนาจในพื้นที่พิพาท เมื่อสหภาพโซเวียตซึ่งเคยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยได้สาบสูญไปจากโลกแล้ว เหลือเพียงรัสเซียผู้สืบสิทธิและพันธกรณีจากสหภาพโซเวียต ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงต่างๆ ภายใน มารับหน้าที่คนกลางแทน

 

สงครามดำเนินไปถึง 3 ปีเต็ม ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 นับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคระเบียบโลกใหม่อย่างแท้จริง (New World Order) ความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัคที่เป็นปัญหาภูมิภาคเริ่มมีตัวแสดงอื่นๆ ใหม่ๆ จากภายนอกเข้ามาร่วมผสมโรงมีบทบาท เช่น ทหารรับจ้างจากรัสเซียและยูเครนที่เข้ามาร่วมรบกับทั้งสองฝ่าย (มีที่มาจากอดีตทหารโซเวียตที่อาจตกงานจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชเชนและกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนจากอัฟกานิสถาน ที่เข้ามาช่วยอาเซอร์ไบจานในฐานะพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เป็นต้น ในที่สุดด้วยการผลักดันและการเป็นเจ้าภาพของรัสเซีย จึงเกิดเป็นการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม 1994

 

ถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิง แต่ก็ยังเกิดการปะทะเป็นระยะๆ ในที่สุดรัสเซียก็ใช้เวทีพหุภาคีผ่านองค์การความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization of Security and Co-operation in Europe: OSCE) ในกลุ่มของ OSCE Minsk Group ที่มีรัสเซีย, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นประธานกลุ่ม ร่วมผลักดันให้เกิด ‘หลักการมาดริด’ (Madrid Principles) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 ที่มี 6 ข้อ ได้แก่ 

 

  1. ว่าด้วยการคืนอำนาจอธิปไตยเหนือนากอร์โน-คาราบัคให้อาเซอร์ไบจาน
  2. การรับประกันความมั่นคงและการปกครองตนเองของนากอร์โน-คาราบัค
  3. เสนอให้มีฉนวนเชื่อมนากอร์โน-คาราบัคกับอาร์เมนีย
  4. การกำหนดสถานะทางกฎหมายของนากอร์โน-คาราบัคขึ้นอยู่กับการแสดงออกทางเจตนารมณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย
  5. สิทธิแห่งผู้พลัดถิ่นฐานและผู้อพยพภายในพื้นที่พิพาทให้ได้กลับไปยังภูมิลำเนา
  6. ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพจะได้รับการรับรองโดยประชาคมความมั่นคงระหว่างประเทศ และผลักดันให้ผู้นำของอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียพูดคุยตกลงกัน

 

ในที่สุดจึงก่อให้เกิด ‘ปฏิญญานากอร์โน-คาราบัค’ (Declaration of Nargorno-Karabakh) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2008 ซึ่งเน้นย้ำหลักการมาดริด โดยมีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ประธานาธิบดี อิลฮัม อาลีเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน, ประธานาธิบดีเซิร์จ ซักสยัน แห่งอาร์เมเนีย และประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซีย ณ ปราสาทไมเยินดอร์ฟ จังหวัดมอสโก แต่แล้วสันติภาพก็อยู่ได้ไม่นาน เกิดการปะทะใหญ่ในปี 2016 ประปรายจนกระทั่งเกิดเป็นการรวมพลใหญ่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2020 รวมไปถึงการปะทะล่าสุดวันที่ 13-15 กันยายน 2022

 

รัสเซียกับบทบาทคนกลางผู้มีอิทธิพลต่อทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายรัสเซีย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพยายามรักษาสถานะมหาอำนาจภูมิภาคในกลุ่มประเทศ CIS (Commonwealth of Independent State) ในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียต พยายามเป็นตัวกลางประสานงานความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะกรณีของอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานล่าสุด ที่ได้เชิญกองทัพของทั้งสองชาติเข้าร่วมขบวนสวนสนามร่วมกับกองทัพรัสเซียในวันแห่งชัยชนะ 24 มิถุนายน 2020 (ที่เลื่อนจากวันที่ 9 พฤษภาคม จากสถานการณ์การระบาดหนักของโควิด) และคอยออกแถลงการณ์ รวมถึงพูดคุยกับทั้งผู้นำอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียให้หาทางออกด้วยการเจรจาโดยสันติวิธีมาโดยตลอด

 

รัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: LukeOnTheRoad / Shutterstock

 

ตุรกีกับบทบาทผู้ถ่วงดุลอำนาจให้ฝ่ายอาเซอร์ไบจาน

อาเซอร์ไบจานรู้ตัวดีอย่างลึกๆ ว่าด้วยความที่อาร์เมเนียไม่มีใคร รัสเซียจึงกลายเป็นป๋าดันรายสำคัญของอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจานก็เริ่มมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับตุรกีในฐานะชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกิกด้วยกัน และในที่สุดก็ได้ผลลัพธ์เป็นข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และความช่วยเหลือร่วมกัน (Agreement of Strategic Partnership and Mutual Support) ในปี 2010 ซึ่งครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติการทางทหารที่อาจเกิดขึ้นทุกกรณี นั่นหมายความว่า หากอาเซอร์ไบจานโดนโจมตีทางทหาร ฝ่ายตุรกีและนาโต้จะเข้าช่วยอาเซอร์ไบจานตอบโต้กลับได้ทันที 

 

สิ่งที่ทำให้อาเซอร์ไบจานเริ่มพึ่งพารัสเซียน้อยลงก็คือ ทรัพยากรน้ำมันในฐานะเป็นเครื่องมือต่อรองต่อเกมการเมืองระหว่างประเทศ ในยุคสหภาพโซเวียต อาเซอร์ไบจานเป็นแหล่งผลิตน้ำมันให้ทั้งสหภาพโซเวียต ในยุคนี้ก็ยังครอบครองต้นทางท่อส่งน้ำมันจากกรุงบากู ริมทะเลแคสเปียน ที่เชื่อมต่อไปยังเชย์ฮาน เมืองริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของตุรกี ก่อนส่งต่อไปยังยุโรปและบางส่วนไปยังอิสราเอล ซึ่งท่อส่งน้ำมันนี้มีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอย่างมาก เพราะสามารถลดการพึ่งพิงพลังงานนำเข้าจากรัสเซียได้อย่างน้อยถึงร้อยละ 35 และมองเป็นทางเลือกใหม่ในภาวะที่รัสเซียกำลังขัดแย้งกับยุโรป และมีท่อส่งน้ำมันขอตัวเองเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองต่อสหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่มนาโต้ ซึ่งทางฝั่งสหภาพยุโรปเองก็มองหาการนำเข้าพลังงานก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนหลายพันล้านคิวบิกเมตรอยู่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2020 เป็นต้นมา

 

รัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Fly Of Swallow Studio / Shutterstock

 

บทสรุป

การเมืองระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 มีความสลับซับซ้อนกว่ายุคก่อน ขณะที่รัสเซียพยายามรักษาสถานะมหาอำนาจในภูมิภาคต่ออาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย แต่จากการที่อาเซอร์ไบจานทำสนธิสัญญาทางทหารกับตุรกี ซึ่งมีผลผูกพันถึงกลุ่มนาโต้ อาร์เมเนียที่อยู่ในสถานะถูกขนาบจากทั้งอาเซอร์ไบจานในทิศตะวันออกและทิศใต้กับทั้งตุรกีในทิศตะวันตก อีกทั้งยังมีสถานะหัวเดียวกระเทียมลีบ กรณีการสนับสนุนนากอร์โน-คาราบัคจึงต้องสร้างดุลแห่งอำนาจ โดยการไปทำสนธิสัญญาทางทหารกับทางฝ่ายรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็เห็นด้วย เนื่องจากมุมของรัสเซีย ตอนนี้รัสเซียมีเพียงอาร์เมเนียที่ยังเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นที่สุดแห่งเดียวที่เหลืออยู่ เพื่อคงอิทธิพลของตนต่อไปในภูมิภาคคอเคซัส 

 

ยิ่งในขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนมีสิ่งที่เรียกว่าโมเมนตัมได้เปลี่ยนฝั่ง รัสเซียเป็นฝ่ายถอยจากการโต้กลับของยูเครน การที่อาเซอร์ไบจานทำปืนใหญ่ลั่นใส่อาร์เมเนียครั้งล่าสุดนี้ อาจเป็นการหยั่งเชิงลูกพี่ของตัวเองและของอาร์เมเนียด้วยก็ได้ว่ายังมีน้ำยาหรือไม่ และเมื่อเห็นว่ารัสเซียตึงมือและขยับเขยื้อนมาลงแรงหย่าศึกอย่างที่เป็นมาไม่ได้ ก็อาจเป็นการเปิดช่องให้ตุรกีเข้ามาแสดงอำนาจและบทบาทในพื้นที่ทรานส์คอเคเซียมากขึ้น แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซียมายาวนาน อาเซอร์ไบจานก็คงไม่ถึงขั้นตัดพี่ตัดน้องกับรัสเซีย เพียงแต่ให้พื้นที่ตุรกีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 

แต่ในหมู่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตไม่ได้มีเพียงแค่อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานเท่านั้นที่มีความขัดแย้ง ยังมีคีร์กีซสถานและทาจิกิสถาน รวมถึงกรณีทรานส์นิสเทรียในมอลโดวา ที่รัสเซียเป็นโต้โผสำคัญในการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในฐานะลูกพี่ใหญ่ ถ้าโมเมนตัมในสงครามยูเครนเปลี่ยนไปในลักษณะที่รัสเซียเสียเปรียบ บรรดาประเทศเหล่านี้ที่เคยเกรงใจเชื่อฟังรัสเซียก็อาจไม่เชื่อฟังอีกต่อไป และวันดีคืนดีอาจจะทำปืนลั่นใส่กันมากกว่าเดิม เหมือนกรณีล่าสุดของอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานก็ได้

 

ถ้าหากความขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นมา คงหนีไม่พ้นที่เหล่าบรรดามหาอำนาจจะต้องลงสนามมาเล่นเกมนี้ด้วยตนเอง และอาจก่อให้เกิดผลต่ออุปทานพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนอยู่แล้วจากกรณีสงครามในยูเครนยิ่งผันผวนขึ้นไปอีก รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ที่ต่างออกมาแสดงความเห็นในลักษณะที่ให้สองฝ่ายเจรจาด้วยสันติวิธีนั้นก็สะท้อนแล้วว่า ทุกฝ่ายตึงมือจากกรณีสงครามในยูเครนทั้งหมด ตราบใดที่สงครามในยูเครนยังหาทางออกไม่ได้ ทุกฝ่ายก็จะพยายามไม่ให้เกิดอะไรไม่ดีไม่งามขึ้นในทรานส์คอเคซัส ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท่อส่งน้ำมันและก๊าซไปยังทะเลดำและตุรกีที่จะเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้

 

โชคดีที่ความขัดแย้งล่าสุดนี้ยุติลงได้ภายใน 3 วัน แต่เราจะโชคดีแบบนี้ไปอีกกี่ครั้งและถึงเมื่อไร?

 

ใครเล่าจะรู้ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X