ทางการรัสเซียเดินหน้าแผนเคลื่อนย้าย ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี’ (Tactical Nuclear Weapon) ไปติดตั้งยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเบลารุส นับเป็นการเคลื่อนย้ายและติดตั้งอาวุธจำพวกหัวรบระเบิดเป็นครั้งแรกนอกรัสเซีย นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประณามแผนการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนที่มีต่อ ‘อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์’ (Strategic Nuclear Weapon) ที่เคยมีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะการถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 และยังเผยว่าทางการสหรัฐฯ ยังไม่พบสัญญาณที่บ่งชี้ว่ารัสเซียเตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียกล่าวว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังต่อสู้กับสงครามตัวแทนที่ขยายวงกว้างกับรัสเซีย หลังจากที่กองทัพรัสเซียเข้าไปปฏิบัติการพิเศษทางทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022
โดยปูตินประกาศแผนการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์นี้ไปยังเบลารุสครั้งแรกเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศจุดยืนว่ารัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าประเทศอื่นๆ และรัสเซียจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องตัวเอง
ทางด้าน เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย กล่าวขณะเข้าพบกับรัฐมนตรีกลาโหมของเบลารุสในกรุงมินสค์ว่า “บรรดาพันธมิตรตะวันตกกำลังร่วมมือกันทำสงครามกับประเทศของพวกเราโดยไม่ได้ป่าวประกาศออกมา ฝ่ายตะวันตกกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อยืดเวลาและขยายขอบเขตความขัดแย้งทางอาวุธในยูเครนออกไปอีก”
ขณะที่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกของเบลารุสเองก็ยืนยันว่า อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามคำสั่งของผู้นำรัสเซีย และมีความเป็นไปได้ที่อาวุธดังกล่าวอาจเข้าเขตดินแดนของเบลารุสแล้ว
ที่ผ่านมาอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางยุทธวิธีในสนามรบ และมักจะให้ผลลัพธ์ที่น้อยกว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อโจมตีหรือทำลายเมืองต่างๆ ที่มีขอบเขตกว้างกว่า โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าขณะนี้รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่ใช้งานได้มากกว่า 2,000 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีประมาณ 200 หัวรบ และกว่าครึ่งหนึ่งกระจายอยู่ในยุโรป
โดยหลายฝ่ายเฝ้าจับตาประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์และแนวโน้มที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด หลังจากที่ประชาคมโลกต่างได้รับบทเรียนและประวัติศาสตร์บาดแผลมากมายที่เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเหล่านี้เมื่อครั้งอดีต จนนำไปสู่ความพยายามในการยุติการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อลดสภาวะความตึงเครียดและการแข่งขันกันสะสมอาวุธดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น
ภาพ: Russian Defence Ministry / Handout via Reuters
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/aerospace-defense/russia-belarus-sign-document-tactical-nuclear-weapon-deployment-belarus-2023-05-25/
- https://apnews.com/article/belarus-russia-nuclear-weapons-shoigu-285ff887e8b1c28d20ff68e1d775441e
- https://www.aljazeera.com/news/2023/5/25/russia-signs-deal-to-deploy-tactical-nuclear-weapons-in-belarus