รัฐบาลรัสเซียประสบความสำเร็จในการตัดการเชื่อมต่อจากระบบอินเทอร์เน็ตโลก หรือ ‘เวิลด์ไวด์เว็บ’ แล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นรัสเซีย หลังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตท้องถิ่น และบริษัทอินเทอร์เน็ตในประเทศ ได้ร่วมกันทดสอบว่าหากรัสเซียตัดการเชื่อมต่อดังกล่าว โครงสร้างขั้นพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย หรือ ‘RuNet’ จะยังสามารถใช้การได้อยู่หรือไม่ โดยที่ไม่พึ่งพาระบบชื่อโดเมน (DNS) และอินเทอร์เน็ตภายนอกอีกต่อไป
สาเหตุที่รัสเซียต้องการทดสอบระบบอินเทอร์เน็ต RuNet และตัดขาดการเชื่อมต่อจากโลกภายนอกนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของรัสเซียที่ต้องการหันมาใช้แนวทางแบบ ‘อธิปไตยทางอินเทอร์เน็ต’ (Sovereign Internet) เพื่อตัดการเชื่อมต่อจากทั่วโลกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ (การถ่ายโอนข้อมูลต่างๆ)
นอกจากนี้ยังเชื่อกันอีกด้วยว่ารัสเซียมองไกลไปถึงขั้นที่อยากจะผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศสามารถผลิตเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน และบริการต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้งานในประเทศขึ้นมาด้วยตัวเองเหมือนที่จีนประสบความสำเร็จ หลังก่อนหน้านี้ได้ผ่านกฎหมายแบนการห้ามจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่ไม่มีแอปพลิเคชันสัญชาติรัสเซียที่ติดตั้งมาให้จากโรงงานกับประชาชน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลรัสเซียไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกของการทดสอบดังกล่าวออกมา โดยบอกเพียงแค่ว่าจะนำเสนอข้อมูลสรุปการทดสอบและรายละเอียดทั้งหมดให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงปีหน้า
อเล็กเซย์ โซโคลอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารแห่งรัสเซีย กล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือการให้บริการอินเทอร์เน็ตในรัสเซียอย่างต่อเนื่องไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ผลของการทดสอบครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหน่วยงานรัฐบาลและผู้ให้บริการด้านการสื่อสารในประเทศของเราพร้อมจะตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าอินเทอร์เน็ตและการเชื่อมต่อสื่อสารในประเทศยังมีประสิทธิภาพต่อไป”
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์บอกว่าการลุกขึ้นมาดำเนินการตัดการเชื่อมต่อจากระบบอินเทอร์เน็ตโลกของรัสเซียมีโมเดลไม่ต่างจากวิธีการที่อิหร่านและจีนทำกับระบบอินเทอร์เน็ต และอาจจะเป็นต้นแบบให้บางประเทศที่อยากควบคุมเสรีภาพด้านการแสดงความเห็นของประชาชนบนอินเทอร์เน็ตหรือการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตโลกตัดสินใจดำเนินรอยตามในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: