×

Running Economy เศรษฐศาสตร์การจัดงานวิ่งให้ได้มาตรฐานสากลของบางแสน 21

24.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • บางแสน 21 หรือบางแสนฮาล์ฟมาราธอน เป็นการแข่งขันมาราธอนรายการเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) ในระดับ Bronze Label
  • รัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ได้ค้นพบกับคำว่าวิ่งเปลี่ยนชีวิตเมื่อมันได้เริ่มต้นเปลี่ยนตัวเขาจากธุรกิจผู้จัดงานสัมมนาและการประชุมสู่การจัดงานวิ่งมาราธอน
  • บางแสนมีแผนในอนาคตคือการผลักดันให้ได้รับ Gold Label จากทาง IAAF เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดมาราธอนในประเทศไทยให้สูงยิ่งขึ้น

“สัปดาห์ที่จะถึงนี้มี 60 งานวิ่งทั่วประเทศ ปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งเดือนคือ 60 งาน แต่นี่คือสัปดาห์เดียว”

 

อาจเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นทางการ แต่เป็นประโยคที่ รัฐ จิโรจน์วณิชชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้จัดงานวิ่งบางแสน 21 งานวิ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) ใช้อธิบายกับ THE STANDARD ถึงการเติบโตของงานวิ่งภายในประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แต่เหมือนกับทุกกระแสที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ย่อมมีบางครั้งที่ผู้ก้าวเข้ามาเล่นใหม่มีประสบการณ์ไม่เพียงพอจนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในการจัดการแข่งขัน เนื่องจากฝ่ายผู้จัดงานต้องเตรียมพร้อมดูแลผู้ร่วมแข่งขันอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการจัดการแข่งขันกีฬาชนิดอื่นๆ ที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชมมากกว่าผู้ที่เข้าร่วมเสียเอง

 

THE STANDARD จึงพูดคุยกับรัฐและค้นหาคำตอบว่าการจัดงานวิ่งให้ได้มาตรฐานต้องทำอย่างไร และการวิ่งเปลี่ยนชีวิตของเขาไปมากขนาดไหน

 

 

กิโลเมตรที่ 0 สัมผัสกับมาราธอนครั้งแรก

5 ปีที่แล้วผมเปลี่ยนจากคนไม่ออกกำลังกายเลยมาเริ่มรักษาสุขภาพ เนื่องจากมีแรงบันดาลใจอยากจะอยู่กับลูกให้นานขึ้น ค้นหาอะไรที่ทำให้สุขภาพดี ก็เลยมาสมัครวิ่ง ครั้งแรกก็ลงฟูลมาราธอนเลย (42.195 กิโลเมตร)

 

ก่อนหน้าที่จะลงแข่งก็ไม่เคยลงงานวิ่งมาเป็นสิบปีแล้ว มีเวลาซ้อม 4 เดือน ถ้ามาวันนี้ผมไม่แนะนำให้ทำแบบนั้น มันไม่ดีต่อสุขภาพเลย จบก็บาดเจ็บ แต่มันทำให้ผมเปลี่ยนจากคนที่ไม่ออกกำลังกายมาเป็นคนที่ก้าวผ่านคำว่าไม่ชอบวิ่งได้

 

4 เดือนนั้นแหละที่ซ้อมจริงจัง ซ้อมแบบไม่มีเหตุผล ฝนตกก็วิ่ง ทุกอย่างตามตารางหมดจนกระทั่งไปวิ่ง ซึ่งก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทุกอย่างแปลกใหม่ สนุก ตื่นเต้น เพราะวิ่งกับคนอีก 1,500 คน รู้สึกว่าสนุกมาก

 

พอวิ่งเสร็จเราก็บาดเจ็บ เพราะซ้อมมาไม่ถึง แต่ก็วิ่งเข้าเส้นชัยโดยใช้เวลาไป 7 ชั่วโมง

 

หลังจากนั้นก็เริ่มติดใจ ลง 10 กิโลเมตรบ้าง 21 กิโลเมตรบ้าง แต่ด้วยความที่ว่าพื้นฐานเราไม่ดีและไม่ได้มีประสบการณ์ 2 ปีแรกเลยมีอาการบาดเจ็บค่อนข้างเยอะ ถ้าแนะนำคนอื่นก็คือให้ค่อยๆ ไต่ระยะ ตอนนี้ก็วิ่งต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว

 

 

กิโลเมตรที่ 5 ประสบการณ์ในฐานะนักวิ่งต่อยอดสู่การเป็นผู้จัดงานวิ่ง

จนถึงวันนี้บริษัทของเราเปิดมา 15 ปีแล้ว ธุรกิจหลักของเราคือจัดประชุมสัมมนา ลูกค้าในพอร์ตเกือบ 50% เป็นกลุ่มไอทีเกือบหมด เราไม่ได้ทำแบบ Mass Consumer แต่เราจะเน้นลูกค้าองค์กรตั้งแต่ 300-1,500 คน ทำมาตลอด

 

เมื่อ 5 ปีที่แล้วผมเริ่มวิ่งตามงานต่างๆ พอเวลาผ่านไปสักพักเราก็เริ่มมองงานวิ่งจากมุมมองนักจัดงานบ้าง งานนี้มีจุดที่น่าจะพัฒนาตรงไหน แรกๆ เราก็ยอมรับสภาพว่างานวิ่งส่วนใหญ่คงจะเป็นแบบนี้แหละ น้ำเย็นบ้าง ไม่เย็นบ้าง แต่บางจุดมันไม่มีเหตุผลเลย พอเริ่มวิ่งเยอะขึ้นก็พบปัญหามากขึ้น เช่น รับเสื้อและเบอร์วิ่งนานมาก ทั้งที่เราก็สมัครทุกอย่างไว้ล่วงหน้า ทำไมต้องไปต่อคิว 15-20 นาที บางงานเคยรอเอาเบอร์วิ่ง 30 นาที จนอยากเข้าไปถามคนจัดว่ามีอะไรให้ช่วยไหม

 

บางทีสมัครไปล่วงหน้า 3 เดือน บอกไว้ว่าขอเสื้อไซส์ L พอเราไปรับเสื้อช้าหน่อย เขาบอกว่าเหลือแต่ 3XL หรือ 2XS ให้เลือกเอา เราก็งงว่าสมัครไปล่วงหน้าตั้งนาน พร้อมระบุว่าเสื้อไซส์ L แต่กลายเป็นว่าต้องเอาเสื้อ 3XL มา แล้วก็ไม่ได้ใส่ เพราะใหญ่มาก

 

แล้วก็มีปัญหาน้ำหมดบ้าง แก้วหมดบ้าง เสิร์ฟน้ำไม่ทันบ้าง เราคิดว่ามันน่าจะดีได้กว่านี้ ก็เลยกลับมาคุยกันในทีม ชวนน้องๆ มาลองจัดงานวิ่งสักงาน

 

 

กิโลเมตรที่ 10 จัดงานวิ่งครั้งแรก สู่การเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของวงการวิ่ง

พอผมลองถามทุกคนในทีมเรื่องการจัดงานวิ่ง วันนั้นทุกคนในบริษัทก็รู้สึกว่าลองดูก็ได้ เหมือนจัดกิจกรรมเสริมให้ลูกค้าที่ผ่านมา เรารู้สึกว่างานวิ่งก็เหมือนอีกกิจกรรมหนึ่ง ก็เลยมาลองศึกษาดู

 

นั่งคิดว่าจะทำงานวิ่งในฝันได้อย่างไร ดูปัญหาต่างๆ และเราอยากเห็นอะไรที่ยังไม่มีในงานวิ่งเมืองไทย คิดตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง

 

ตอนนั้นก็ทำตามฝันที่อยากให้เป็นเลย คิดเล่นๆ กับเพื่อนว่าจะทำให้รู้เลยว่างานวิ่งในมุมมองของผู้จัด ปัญหาต่างๆ มันเกิดขึ้นจากอะไรและแก้ไขได้ไหม

 

แต่พอจัดปุ๊บเราก็ค้นพบว่าแผนที่วางไว้มันทำได้หมด จัดทั้งหมด 3 ระยะในบางแสน 21 ตั้งแต่ 21, 10 และ 5 กิโลเมตร รวมแล้ว 3,600 คนที่มาลงสมัคร

 

ครั้งแรกไม่มีใครรู้จักเราเลย เช่นเดียวกัน เราก็ไม่รู้จักนักวิ่งเลย เราเปิดรับสมัครไป 2 เดือน คนมาสมัครยังไม่ถึง 1,000 คนเลย ก็มีหวั่นไหวบ้าง ต้องประชาสัมพันธ์เยอะๆ และนักวิ่งมาสมัครกันเยอะตอนช่วงใกล้ๆ หมดเขต ตอนแรกกะจะรับ 3,000 คน สุดท้ายก็ทะลุมา 3,600 คน

 

ปีแรกเราก็ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนั้น ก็คิดว่าแค่ทำตามฝัน พอจบก็กลับมาทำงานเหมือนเดิม เดี๋ยวถ้าอยากสนุกหรืออยากจัดก็ค่อยทำอีกทีหนึ่ง

 

แต่พอเราทำเสร็จ งานวิ่งของเรากลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของวงการวิ่ง หลายๆ คนพูดถึง เขาไม่เชื่อว่างานแบบนี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทย หลายๆ อย่างเกินความคาดหมาย เพราะเราคิดเผื่อ เช่น ปีแรกเราเปิดระบบค้นหารูปจากเบอร์วิ่ง อันนั้นเกิดจากประสบการณ์ตอนที่ผมเป็นนักวิ่งใหม่ๆ มีช่างภาพ 10 คน ถ่ายเสร็จผมไม่รู้จักสักคน

 

แต่พอเริ่มเจอเพจก็ต้องไปค้นหา โอเค ได้มา 1 รูป เพจนั้นอีก 3,000 กว่ารูป ได้มาอีก 1 รูป ผมนั่งทำแบบนี้อยู่ 2 งาน หลังจากนั้นก็เลิก เพราะมันเสียเวลามาก บางทีก็หาไม่เจอ เลยมาหาระบบค้นหารูปจากเบอร์วิ่ง หลังจากนั้นเราก็ได้พาร์ตเนอร์ชื่อว่าเพจ ThaiRun มาช่วยดึงรูปจากช่างภาพทั้งหมดและคีย์เลขเข้าไป พอค้นหาตามเบอร์วิ่งก็เจอรูปตัวเองหมด

 

นักวิ่งก็ชื่นชอบมาก สามารถซื้อขายได้ด้วย รูปเล็ก 50 บาท รูปใหญ่ก็ 100 บาท ปีที่ 2 เราก็เพิ่มเทคโนโลยี Face Recognition เข้าไป เป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่มาแก้ไขตรงจุด บางคนบอกว่าถ่ายไปตั้งเยอะ แต่หาไม่เจอเลย บางทีเสื้อก็บังเลข หรือเวลาถ่ายรูปแล้วมือบังเลข ทีนี้เราใช้หน้าเลย

 

สมมติจะกดหารูปก็เอาหน้าเราอัปโหลดเข้าไป ระบบก็เอาหน้าเราไปหาและโชว์รูปทั้งหมดที่เจอ

 

บางแสน 21 ปีแรกมีการโหวตงานวิ่งยอดเยี่ยมของประเทศไทยในเพจที่ชื่อว่า วิ่งไหนดี ตอนนั้นเราได้รับ 5 ดาวครบทุกคนที่มาโหวต ซึ่งเป็นงานแรกและงานเดียวจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันยากที่จะทำให้คนทั้งงานมีความสุขแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

 

พอปีที่ 2 มา เราจัดดียังไงก็มีคนไม่พอใจบางเรื่องอยู่นิดๆ หน่อยๆ ปีที่ 3 ที่จัดได้ระดับโลกก็ยังมีคนตัดคะแนนบางจุด ดังนั้นครั้งแรกถือเป็นตำนานขององค์กร ได้โหวตเป็นงานวิ่งยอดเยี่ยมของประเทศไทย 3 ปีซ้อน

 

 

กิโลเมตรที่ 21 ครึ่งทางแห่งความฝัน และวิธีผลักดันงานวิ่งให้ไปสู่มาตรฐานสากลของ IAAF

พอเราจัดปีแรก มีคนมาบอกว่างานที่เราจัดดีกว่าสิงคโปร์มาราธอน ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงเวลานั้นในหลายๆ ด้านเทียบเท่ากับงานสากลเลย เราจึงเริ่มค้นหาว่าในโลกการวิ่งเนี่ยมีการจัดอันดับอะไรบ้างไหม เหมือนหนังที่มีการให้รางวัลออสการ์ หรือทีมฟุตบอลที่มีการจัดอันดับโลก

 

เราก็มารู้จักว่า IAAF คือองค์กรที่คุมการวิ่งทั้งโลก เหมือนฟีฟ่าคุมฟุตบอล IAAF จะกำหนดในเรื่องของการวิ่งบนถนน วิ่งบนลู่ยาง เป็นคนกำหนดกฎกติกาทุกอย่าง เขาเป็นคนสร้าง รักษา เปลี่ยนกฎกติกา และรับรองสถิติทั้งโลกเลย

 

เราเข้าไปดูแล้วพบว่าเขามีการให้มาตรฐานงานวิ่งของโลกคือ IAAF Label Road Races เราก็เข้าไปดูแล้วพบว่าในประเทศไทยยังไม่มีใครได้เลย ในเวลานั้นทั้งโลกมีอยู่ 80 งานเอง ก็รู้สึกว่าทำไมน้อยจัง ในเวลานั้นเราพบว่าอเมริกามีอยู่ 30,000 งาน จีนมีอยู่หลักหมื่น ยุโรปก็เช่นกัน เอเชียรวมๆ แล้วน่าจะเกินแสน แต่ทำไมมีเพียง 80 งานที่ได้รับการรับรอง

 

เราก็มาไล่ดูรายชื่องานและค้นพบว่างานที่ได้รับการรับรองคืองานใหญ่ๆ ทั้งนั้น เช่น บอสตัน เบอร์ลิน ลอนดอน ชิคาโก นิวยอร์ก พวกนี้ Gold Label หมด เราก็เลยเริ่มไปทำการบ้านต่อว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อจะได้รับการรับรอง

 

ปรากฏว่าต้องจัดอย่างน้อย 3 ครั้งจึงจะยื่นขอให้เขามาตรวจได้ พอยื่นไปแล้วเขาจะส่งคณะกรรมการมาตรวจการให้คะแนน โดยบอกล่วงหน้าว่ามี 6 หัวข้อใหญ่พร้อมกับรายละเอียดมหาศาล ซึ่งต้องผ่านทุกข้อ

 

ปีที่ 2 เราก็รีบคุยกับนายกฯ ตุ้ย-ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ว่าเราอยากจะเอามาตรฐานระดับโลกเลย ก็ตัดสินใจจับมือกัน พอผ่านปีที่ 2 เราก็ทดสอบหลายๆ อย่างเพื่อจะดูว่าอะไรติดขัดบ้าง

 

พอถึงปีที่ 3 ที่ผ่านมาเราก็เลยยื่นให้เขามาตรวจ ซึ่งก็ผ่าน แล้วก็ได้เป็นงานแรกของประเทศไทย งานที่ 2 ของอาเซียน และเป็นงานที่ 5 ของเอเชียที่ได้รับการรับรอง

 

IAAF บอกว่าเราเป็นการแข่งขันที่ขอเร็วที่สุดในโลก ปกติกติกา 3 ปีเป็นขั้นต่ำ เหมือนเป็นแค่ไกด์ไลน์เฉยๆ ในยุโรปขั้นต่ำต้อง 10 ปี เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ถ้าขอแล้วไม่ได้ขึ้นมา เงินก็หายไปเลย ปีหน้าก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ จีนต้องใช้เวลา 7 ปี

 

แต่เราก็มีความมั่นใจ เพราะเราคิดว่าเราเข้าใจคู่มือที่เขาให้มาดีพอ ทำทุกอย่างตามกฎระเบียบ ถ้าบางอันไม่มั่นใจก็ทำให้เกินไว้ก่อน เราก็ได้มาพร้อมกับการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการวิ่งไทย

 

 

กิโลเมตรที่ 35 ปีศาจของการก้าวข้ามไปสู่ระยะฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตรครั้งแรกเมื่อปี 2560

ในฐานะผู้จัด ระยะมาราธอนก็เป็นระยะที่ท้าทาย คือจริงๆ มีนักวิ่งเรียกร้องให้เราจัดมาตั้งแต่ปีที่ 2 แล้ว ซึ่งเราก็บอกว่าขอเก็บประสบการณ์ก่อน เพราะตอนนั้นเรามีประสบการณ์แค่งานเดียว และบุคลากรเราก็มีไม่พอ จึงรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องใจร้อน

 

ปีที่ 2 เราจัด 3 งานก็ไม่ใช่ฟูลมาราธอนเลย แต่เราจัดจนคิดว่ามีองค์ความรู้มากพอที่จะกล้าลอง เลยจะขอจัดฟูลมาราธอน แต่จัดสไตล์เรา ก็ต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับวงการวิ่งทั้งวิธีคิดและวิธีจัดการ

 

เราก็เลยสร้างงานในฝันขึ้นมาอีกงาน ฝันว่าจะมีงานวิ่งระยะเดียวขึ้นมาในประเทศไทย นั่นคืองานวิ่ง 42.195 กิโลเมตรระยะเดียวทั้งงาน

 

ปีแรกก็มีคนมาร่วมงาน 6,000 คน เป็นงานที่มาแล้วไม่ต้องถามว่าวิ่งระยะไหน เพราะงานวิ่งส่วนใหญ่จะมีหลายระยะ ดังนั้นจะไม่มีปัญหาเลยว่าวิ่งๆ ไปแล้วระยะอื่นมาวิ่งตัดหน้าหรือขวางทาง เพราะทุกคนมาวิ่งระยะเดียวกันหมด

 

แต่การจัดระยะมาราธอนเป็นไปอย่างที่คาด คือมีระยะที่ต้องจัดการเยอะ มันไม่ใช่แค่ว่าระยะทางยาวขึ้น แต่ทีมงานต้องอยู่ในสนามนานขึ้น เดิมจากฮาล์ฟมาราธอนต้องอยู่ในสนาม 5-6 ชั่วโมง แต่นี่เราต้องอยู่กัน 10 ชั่วโมง  

 

คนเราถ้าทำงานแบบมีสมาธิอาจอยู่ได้สัก 8-10 ชั่วโมงก็ถือเป็นเรื่องยากแล้ว แต่นี่ต้องทำงานภายใต้ความร้อน มีเรื่องให้จัดการเยอะ เราผ่านครั้งแรกไป เก็บโนว์ฮาวเพิ่มได้อีกเยอะมาก ปี 2561 นี้ก็เป็นครั้งที่ 2 เราก็น่าจะพัฒนาได้อีกหลายจุด

 

ด้านลบในปีแรกคือเรื่องของอากาศ วันนั้นเป็นวันที่สภาพอากาศของบางแสนแปลกมาก อยู่ๆ ก็ร้อนจัดแบบไม่มีลม อุณหภูมิ 30 กว่าองศาฯ ซึ่งนักวิ่งมาราธอนกับความร้อนเป็นอะไรที่ไม่ค่อยถูกกัน วันนั้นบางคนยังไม่ทันออกสตาร์ทก็เหงื่อท่วมเหมือนวิ่งมาแล้ว ทำให้แผนการรับมือกับงานเรายากขึ้นเยอะ

 

แต่กลายเป็นว่าอีกวันหนึ่งไม่มีแดด ตกบ่ายฝนตกปรอยๆ อากาศดีมาก คือทั้งสัปดาห์อากาศดีมาก มีวันแข่งวันเดียวที่ร้อน เราก็มองว่าเหมือนมารับน้องงานฟูลมาราธอนครั้งแรกของเรา เหมือนกับธรรมชาติต้องการให้งานวิ่งบางแสน 42 ไปอยู่ในความทรงจำของนักวิ่งไทยว่าเป็นงานที่โหด ทรมาน ไม่ใช่ง่ายๆ

 

คือมุมเราก็รู้สึกว่าเราทำอะไรกับธรรมชาติไม่ได้ แต่เรามีหน้าที่จัดการเพื่อรองรับสถานการณ์แบบนี้อีก

 

ดังนั้นเราวางแผนเผื่อไว้ว่าปีนี้อาจจะร้อนกว่าปีที่แล้วอีก 2 องศาฯ เราอาจจะมีจุดสเปรย์น้ำ จุดล้างหน้า จุดให้น้ำรองรับมากขึ้น เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำได้ ก็คาดหวังว่าอากาศจะดี

 

 

กิโลเมตรที่ 42 เข้าเส้นชัยเพียงคนเดียวในฐานะงานวิ่งที่ดีที่สุด หรือเข้าเส้นชัยไปพร้อมๆ กัน

งานวิ่งเป็นอะไรที่แต่ละสนามไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่กลับเป็นคู่เสริมกัน เพราะว่าคนที่มาวิ่งบางแสน 42 เขาก็ไปวิ่งบุรีรัมย์ต่อ เขาก็ไปวิ่งจอมบึงต่อได้ คนเดียววิ่งได้หลายงาน แค่อย่ามาจัดวันเดียวกัน ต่อให้จัดวันเดียวกันจริงๆ ประชากรเรามีตั้ง 77 ล้านคน งานวิ่งหนึ่งงานรับได้แค่ไม่เกิน 20,000 คน เพราะฉะนั้นยังเป็นตลาดที่ไปได้อีกไกล

 

ในมุมของไมซ์ เราอยากให้มีงาน Label ในเมืองไทยมากกว่าหนึ่งงาน เพราะเวลามีหนึ่งงานก็ต้องยอมรับว่าเราเหนื่อยมาก เวลาเราไปบอกใครว่าเราได้ IAAF มา ซึ่งในระดับโลกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากว่าเราได้ แต่ในไทยเองเรากลับไม่ค่อยรู้จักว่ามันคืออะไร ยังไม่เข้าใจ เพราะมันใหม่มาก แต่ถ้าเรามีใบที่ 2 3 4 มันจะดีต่อประเทศ รวมถึงจะทำให้ประเทศเรากลายเป็นจุดหมายหลักของนักวิ่งย่านนี้ เพราะเวลามองมาแล้วมีใบเดียว ตอนนี้มันดูแห้งแล้ง แต่พอมีใบที่ 2 3 4 มา เราจะกลายเป็นฮับ ไม่ว่ามาช่วงเวลาไหนของปีหรือมาเที่ยวอยู่แล้วก็ปรับตารางให้เข้ากับงานวิ่งได้ มันจะเสริมสร้างกันไป

 

การแข่งเรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องที่ดี เพราะผมเองก็จะไปวิ่งงานมาตรฐานของคนอื่นด้วย ผมเชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะมีมากกว่า 5 Label ที่แน่ๆ คือบางแสน 21 ได้ทำให้ภาครัฐในเมืองไทยเห็นแล้วว่าเราทำได้และเกิดประโยชน์จริง

 

และมันไม่ได้เกิดจากบริษัทใหญ่โต เพราะเราก็เป็น SMEs บริษัทหนึ่งร่วมกับเทศบาลแสนสุข ซึ่งเป็นเทศบาลระดับตำบล ร่วมกันทำในฝั่งที่ตัวเองเก่งก็จัดงานระดับโลกได้ ดังนั้นใครเข้าใจโมเดลนี้ คุณไปอยู่ที่ไหนที่พร้อมคุณก็ทำได้

 

แล้วพอคุณทำเสร็จ ไม่ต้องห่วงเลย เพราะคุณไม่ต้องไปทำโฆษณาอะไรมากมาย งานบางแสน 21 ปีนี้มีคนเข้ามารอสมัครแล้ว 40,000 คนโดยที่เราไม่ได้ลงโฆษณาที่ไหนเลย เราแค่แจ้งผ่านเพจ ผ่านไลน์ของเรา มาตรฐานมันขายตัวมันเอง ซึ่งถ้าเรารับหมด 40,000 คนก็สบายเลยนะ แต่เราเลือกที่จะค่อยๆ โต

 

การจัดการคนจำนวนมาก หรือที่เราเรียกว่า Mass Participation Event มันมีองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ เราไม่เคยทำ เราก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ปีแรก 3,600 คน ปีที่ 2 รับมาเป็น 15,000 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก เราก็แบ่งเป็น 2 วัน 21 กิโลเมตร 5,000 คน วันแรก 5-10 กิโลเมตร จัดอีกวัน 5,500 คน ถ้ามองก็คือการจัดการเราเพิ่มจาก 3,600 มาเป็น 5,000 คน ก็ไม่ได้ก้าวกระโดดมาก

 

ปีที่ 3 ก็ขึ้นมาเป็น 13,500 คน มาวิ่ง 21 กิโลเมตรอย่างเดียว 6,000 คน ก็ยังสามารถจัดการได้

 

ปีนี้กับครั้งแรกที่เราได้ Bronze Label คนอยากมาฮาล์ฟมาราธอนครั้งแรกกับเราเยอะมาก เรารับเพิ่มได้เป็น 9,000 คน ทางหนึ่งก็พยายามบอกทีมว่าค่อยๆ รับเพิ่ม เอาที่เราจัดการได้ เพราะเราอยากให้ทุกคนที่มาวิ่งกลับบ้านด้วยความสุข ความประทับใจ และความรักในการวิ่ง ให้เขาไปชวนคนที่เขารักมางานเราอีก

 

ปีหน้าเราก็ค่อยๆ เพิ่ม แต่เพิ่มถึงจุดที่เมืองจะรองรับไหว เพราะงานระดับนี้ อันดับแรกคือต้องการระบบขนส่งมวลชนที่ดี บ้านเรายังมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ เพราะหากทุกคนขับรถมาจะถึงจุดหนึ่งที่ตัวเมืองรับไม่ไหว ห้องพักก็เป็นอีกปัญหาที่มีไม่เพียงพอ จึงอาจจะต้องไปพักตามพื้นที่ใกล้เคียง

 

 

การทำธุรกิจที่เกิดจากการมองเห็นบางปัญหาในอุตสาหกรรมการวิ่งและการใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการทดลองวิ่งเองเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐเปลี่ยนการทำธุรกิจรับจัดงานสัมมนาและงานประชุมต่างๆ มาผลักดันให้เกิดมาราธอนระดับมาตรฐานสากลที่แรกของไทย

 

ซึ่งนอกจากบางแสนแล้ว วันนี้เราได้เห็นผู้จัดเจ้าใหญ่อย่างบุรีรัมย์ มาราธอน ที่เพิ่งประกาศเช่นกันว่าเตรียมตั้งเป้าหมายสู่การรับรองของ IAAF Bronze Label ภายใต้คอนเซปต์ Your Ultimate Destination สวรรค์ของนักวิ่ง ทำให้อนาคตของวงการวิ่งในประเทศไทยดูจะเติบโตขึ้นไปอีก

 

 

ไม่เพียงแต่การวิ่ง แต่การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่ใช้กิจกรรมหรือการแข่งขันกีฬาเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทยนั้น ในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียวมีมหกรรมกีฬาเกิดขึ้นในประเทศไทยถึง 2 งาน ทั้งโมโตจีพีครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีแชมป์โลกคนปัจจุบัน มาร์ค มาร์เกวซ นักบิดชาวสเปน วัย 25 ปี มาคว้าแชมป์เป็นคนแรก และสร้างเงินสะพัดจาก 3 วันไปกว่า 3 พันล้านบาท

 

 

ส่วนวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งมีนักปั่นทั้งหมด 1,500 ชีวิต นำโดย อัลแบร์โต คอนทาดอร์ ยอดนักปั่นจักรยานระดับโลกชาวสเปน ดีกรีแชมป์ตูร์เดอฟร็องส์ 2 สมัย มาร่วมลงแข่งขันจักรยานเลแทป ไทยแลนด์ บาย เลอ ตูร์เดอฟร็องส์ ครั้งแรกในประเทศไทยด้วย

 

แต่เหมือนกับทุกการแข่งขัน ฝ่ายผู้จัดเองก็จำเป็นต้องสามารถรักษามาตรฐานและยกระดับความคิดสร้างสรรรค์เพื่อเพิ่มความน่าประทับใจให้กับผู้ที่เข้าร่วม เพราะหลังจากนี้ทีมจาก IAAF จะมาตรวจสอบมาตรฐานทุกครั้ง และจะยึดคืนใบรับรองทันทีหากปีนั้นๆ ไม่ผ่านมาตรฐาน รวมถึงการนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาช่วยให้การสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักวิ่งทุกปีเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากนักวิ่งหน้าเดิมที่กลับมาต้องวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อชักชวนคนที่เขารักกลับมาร่วมงานวิ่งอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI

รายได้ของผู้จัดงานวิ่งมาจากที่ใดบ้าง

 

1. ค่าสมัคร

ค่าสมัครในไทยราคาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยบางแสน 21 นับเป็นการแข่งขันระดับ Bronze Label ที่ค่าสมัครแทบจะถูกที่สุดในโลก

 

2. เงินจากผู้สนับสนุน

ในไทยกำลังเพิ่งเริ่มตื่นตัว ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในต่างประเทศต้องมีการประมูลแย่งสิทธิ์การเป็นผู้สนับสนุนหลักของงานวิ่ง และรายได้ส่วนนี้นับเป็นรายได้สูงสุดของผู้จัดงาน

 

3. เจ้าภาพใหญ่

แล้วแต่ผู้จัด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นบริษัทใหญ่ที่ต้องการจัดกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมในรูปแบบของงานวิ่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X