สภาพของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เวลานี้แม้แต่คนที่ไม่ใช่แฟนปีศาจแดงเองก็เห็นใจ
สารพันปัญหาตัวผู้เล่นบาดเจ็บ ซึ่งล่าสุดเจอเข้าไปชุดใหญ่ไฟกะพริบเมื่อเสีย อาหมัด ดิยัลโล ปีกที่เป็นตัวความหวังสูงสุดของทีมด้วยอาการบาดเจ็บเอ็นข้อเท้าฉีกถึงขั้นน่าจะปิดฉากฤดูกาลไปเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมี ค็อบบี ไมนู ห้องเครื่องแดนกลางที่เจ็บยาวร่วมเดือนพร้อมกับ มานูเอล อูการ์เต ที่พลาดการลงสนามนัดล่าสุด
ก่อนหน้านี้ไม่นานก็เสีย ลิซานโดร มาร์ติเนซ หนึ่งในคีย์แมนของแผงหลังที่เอ็นเข่าฉีก ต้องพักการเล่นอีกร่วมปี
แต่อาการบาดเจ็บก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ตอนนี้เริ่มเป็นคำถามที่น่าสนใจคือเรื่องฝีไม้ลายมือของ รูเบน อโมริม บอสคนหนุ่มที่หลังจบเกมด้วยความพ่ายแพ้ต่อท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งเป็นการแพ้ในลีกนัดที่ 8 จาก 14 นัด
ตกลงอโมริมเก่งจริงไหมและควรจะให้ผ่านโปรหรือเปล่า?
ผลงานความพ่ายแพ้ที่ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม ถือเป็นการพ่ายแพ้นัดที่ 9 จากการคุมทีม 21 นัดของอโมริมหลังเข้ารับตำแหน่งต่อจาก เอริก เทน ฮาก นายใหญ่คนก่อน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ว่ากันตามตรงผลงานนั้นเข้าขั้น ‘หายนะ’ ที่บอร์ดบริหารจะสามารถหาเรื่องปลดจากตำแหน่งได้ง่ายๆ เลย
โดยที่ในชัยชนะ 9 นัด (เสมอ 3) นั้น 3 ในนั้นเป็นชัยชนะในศึกยูฟ่ายูโรปาลีก และ 6 นัดที่ชนะเป็นการเฉือนชนะคู่แข่งเพียงแค่ประตูเดียวเท่านั้น
เปรียบสถิติผลงานของผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นต้นมา กุนซือคนหนุ่มชาวโปรตุเกสเป็นคนที่ทำผลงานได้เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากท่านเซอร์ (แต่ในยุคที่รับตำแหน่งเมื่อปี 1986 ทีมอยู่ในสภาพต้องก่อร่างสร้างตัวใหม่ทั้งหมด)
คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยชัยชนะของอโมริมใน 20 นัดแรก (โดยยังไม่นับเกมกับสเปอร์ส) ผลงานอยู่ที่ 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เทียบเท่ากับ ราล์ฟ รังนิก ที่คุมทีมแทน โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ เป็นการชั่วคราวในปี 2022 แต่เป็นรองเรื่องของผลต่างประตูได้เสีย
ขณะที่ เอริก เทน ฮาก คุมทีม 20 นัดแรกนั้นชนะถึง 13 นัด เสมอ 2 แพ้ 5 ค่าเฉลี่ยชัยชนะอยู่สูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 2 รองจากโซลชาร์แค่คนเดียว (ชนะ 15 เสมอ 2 แพ้ 3 เฉลี่ยชนะ 75 เปอร์เซ็นต์) โดยที่ เดวิด มอยส์, โชเซ มูรินโญ และ หลุยส์ ฟาน ฮาล ก็มีผลงานที่ดีกว่าเขาทั้งหมด
แต่สถิติอย่างเดียวไม่อาจบอกเล่าความตกต่ำที่น่ากลัวของแมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานี้ได้ครบ
อโมริมยังมีปัญหามากพอสมควรที่ขอหยิบยกเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ มา
1. วิธีคิดแบบเดียว
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ทุกคนรู้และเจ้าตัวก็ย้ำชัดเสมอว่าแนวทางการเล่นในแบบของเขานั้นมีแค่แบบเดียวเท่านั้น
ระบบการเล่นกองหลัง 3 คน ใช้วิงแบ็กช่วยสนับสนุนเกมจากริมเส้นและมีศูนย์หน้าตัวเป้า ซึ่งเป็นระบบที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นอย่างดีในการคุมทีมสปอร์ติง ลิสบอน จนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการลูกหนังโปรตุเกสในช่วงที่ผ่านมา
แต่ปัญหาที่แม้แต่อโมริมเองก็ยอมรับคือ นักเตะที่มีอยู่ในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เหมาะสมกับระบบการเล่นดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
เรื่องนี้มองเห็นได้ตั้งแต่เกมแรกๆ แล้วว่านักเตะที่จัดลงสนามนั้นมีปัญหากับการเล่นในระบบ 3-4-2-1 โดยที่แม้จะมีความพยายามจากทั้งสองฝั่งทั้งตัวของอโมริมที่พยายามสอนรายละเอียดการเล่นให้ และลูกทีมส่วนมากก็มีความตั้งใจที่จะเรียนรู้
แต่การต้องเรียนรู้ระบบการเล่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ต่างอะไรจากการเรียนข้ามสายจากศิลป์-ภาษาไปวิทย์-คณิต
สิ่งที่ทำให้เรื่องแย่ยิ่งขึ้นคือ อโมริมเองก็ไม่คิดที่จะยืดหยุ่น แต่กลับยืนกรานว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงระบบการเล่นที่เป็นลายเซ็นของตัวเอง เพราะนี่คือสิ่งที่ ‘เชื่อ’ และเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารของสโมสรเห็นว่าจะช่วยพาทีมไปสู่อนาคตได้
ตรงนี้เองที่นำมาสู่คำถาม 2 อย่าง
ถ้าเก่งจริง ทำไมยังสอนให้ลูกทีมเล่นในแบบที่ต้องการจริงๆ ไม่ได้เสียที
และถ้าเก่งจริง ทำไมไม่สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง (Tweak) เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
แมนฯ ยูไนเต็ด ตอนนี้มีสภาพไม่ต่างจากรถยางแตกบนไฮเวย์ที่เวิ้งว้างแต่ไม่ยอมจอดข้างทางเพื่อเปลี่ยนล้ออะไหล่ กลับเลือกจะขับบดถนนไปแบบนั้น และตอนนี้ยางก็แทบไม่เหลือแล้ว
2. การแก้ปัญหา
ต่อเนื่องจากเรื่องของความดื้อดึงในระบบการเล่น สิ่งที่หลายคนเริ่มกังขาคือ อโมริมไม่ได้แค่ดื้อ แต่เหมือนจะบื้อด้วย
เพราะเห็นได้ชัดในหลายนัดที่ทีมตกเป็นรองทางแท็กติก ก็ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้อะไรมันดีขึ้นในระหว่างเกมการแข่งขัน ปล่อยให้ลูกทีมเล่นกันไปแบบนั้นตามมีตามเกิด และหวังว่าจะมีจังหวะสักจังหวะที่ทุกอย่างมันเข้าทาง
มันอาจจะได้ผลในบางนัด เช่น ในเกมใหญ่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือลิเวอร์พูล แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้ผล โดยเฉพาะในวันที่สมควรจะต้องหวังผลให้ได้
โค้ชที่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ในเกมให้กับทีมได้ แบบนี้ถือว่าฝีมือดีแล้วจริงๆ ใช่ไหม?
3. การบริหารคน
แฟนบอลยูไนเต็ดฝั่งหนึ่งจะเห็นใจอโมริมที่รับช่วงทำทีมต่อจากเทน ฮาก โดยที่ไม่ได้มีนักเตะที่เป็น ‘คนของเขา’ อยู่ในทีมเลย ในรอบตลาดฤดูหนาวที่เป็นโอกาสในการซื้อผู้เล่นเข้ามาเสริมทัพก็ได้แค่ พาทริก ดอร์กู วิงแบ็กดาวรุ่งทีมชาติเดนมาร์กแค่คนเดียว
แต่เรื่องนี้หากมองอีกด้าน การตกลงยอมรับงานแปลว่า ‘ยอมรับเงื่อนไขในการทำงาน’ มาก่อนแล้ว
อโมริมกลับไม่สามารถหาทางดึงหรือรีดศักยภาพของผู้เล่นในทีมออกมาได้ ซ้ำยังมีปัญหากับผู้เล่นเองด้วย โดยเฉพาะในรายของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่เปิดศึกกันตั้งแต่แรกๆ ด้วยการตัดออกจากทีม และสุดท้ายก็ปล่อยตัวออกไปให้แอสตัน วิลลาใช้งาน
นอกจากแรชฟอร์ดยังมีแอนโทนีที่โดนปล่อยตัวไปให้เรอัล เบติสยืมใช้งานเช่นกัน โดยพูดกันตรงๆ คือไม่ถูกใจ ไม่ชอบ ไม่ยอมรับ
ความเจ็บปวดคือทั้งสองคนดันกลับมาเล่นได้ดีเฉยเลยหลังย้ายทีม แอนโทนี คว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำเกม 3 นัดติดต่อกันให้เบติส โดยฟอร์มการเล่นนั้นดูดีแตกต่างจากครั้งใส่เสื้อแมนฯ ยูไนเต็ดมาก ขณะที่แรชฟอร์ด ทำให้หลายคนประหลาดใจเพราะยอมวิ่งไล่ วิ่งเพรสใส่คู่แข่ง
การจะเป็นนายคนเรื่องการบริหารคน (Man Management) เป็นเรื่องสำคัญ อโมริมดูจะมีปัญหาเรื่องนี้ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด
4. เจ้าหนูทดลอง
มีหลายนัดที่เกมของแมนฯ ยูไนเต็ด เหมือนถูกใช้เป็นสนามทดลองความคิดของอโมริม
ยกตัวอย่างชัดๆ เช่น เราได้เห็น ค็อบบี ไมนู ค่อยๆ ถูกดันจากกองกลางตัวรับคู่ (Double Pivot) ไปสู่การยืนเป็นตัวทำเกมด้านบน ไปจนถึงการเล่นเป็น False 9 เพียงเพราะอโมริมหวังว่าทักษะความสามารถเฉพาะตัวในการพักบอล พลิกบอล ผ่านบอล และการยิงประตูที่คมของกองกลางดาวรุ่งจะเปลี่ยนทีมได้
(โดยไม่ได้คิดถึงหัวอกของคนที่เป็นศูนย์หน้าอาชีพอย่าง ราสมุส ฮอยลุนด์ หรือกองหน้าที่ซื้อมาค่าตัวแพงอย่าง โจชัว เซิร์กเซ เลยว่าจะรู้สึกอย่างไร)
พาทริก ดอร์กู ที่ตีตราว่าเป็นวิงแบ็กซ้าย ถูกส่งลงสนามเกมแรกในฐานะวิงแบ็กขวา โดยอโมริมพยายามชี้แจงว่า ‘เล่นได้สองฝั่ง’
การทดลองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่จะทำตลอดและจะทำในแทบทุกนัด
ถ้าวันนี้ที่ผ่าน 3 เดือนแรกมาแล้วเรายังมีคำถามว่าตกลงแล้วอโมริมรู้จัก 11 คนแรกที่ดีที่สุดของเขาหรือยัง?
ไม่น่าใช่เรื่องดีเท่าไร
ทั้งหมดนี้คือเรื่อง ‘ในสนาม’ อย่างเดียวโดยไม่ได้แตะกันในเรื่อง ‘นอกสนาม’ ซึ่งอาการหนักและสาหัสกว่าอีก
ในความคาดหวังที่มีต่อหนึ่งในโค้ชคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูเบน อโมริม สอบตกแบบน่าเกลียด แม้จะพยายามมองว่าในรายละเอียดของเกมบางอย่างก็เริ่มดีขึ้นแล้ว หลายครั้งเป็นความผิดพลาดส่วนบุคคล (เช่น ผู้รักษาประตูหรือกองหลัง) แต่ผลงานต้องยอมรับแบบแมนๆ ว่าขี้เหร่จัด
ผลงานของเขาทำให้ความรู้สึกที่มีต่อเอริค เทน ฮาก เปลี่ยนไปในทางชื่นชมพอสมควร จนเพลง คิดถึงฉันไหมเวลาที่เธอ ดังขึ้นมาในหัว
ให้ความยุติธรรมสุดท้าย อโมริมยังประกาศว่าเขายังไม่ละ ‘ความเชื่อ’ ของตัวเอง
ทุกอย่างคือการเรียนรู้ที่เขาจะไม่หันหน้าหนีเด็ดขาด และหวังว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์
แต่มองถึงสภาพทีม ฟอร์มการเล่นของทีม และผลงานส่วนตัวของเขาตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแล้ว
คนที่น่าเห็นใจที่สุดคือแฟนปีศาจแดงทุกคน
ทำใจดีๆ กันไว้นะ…
อ้างอิง
- https://www.bbc.com/sport/football/articles/cwyjy5v9nd4o
- https://www.thetimes.com/sport/football/article/ruben-amorim-ange-postecoglou-man-united-spurs-maddison-roy-keane-vzbg65hk5
- https://www.skysports.com/football/news/11662/13308346/man-utd-ruben-amorims-first-three-months-marked-by-attacking-drop-off-and-threat-of-unwanted-records
- https://www.theguardian.com/football/2025/feb/16/amorim-vows-to-stick-with-beliefs-after-manchester-uniteds-loss-at-tottenham
- https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-14403891/Manchester-United-Ruben-Amorim-Tottenham-Premier-League-CHRIS-WHEELER.html
- https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/manchester-united-player-failed-what-31016880