เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ เดินทางมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสอง
เรืองไกรระบุว่า จากกรณีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นั้น เห็นว่าการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 159 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสอง กำหนดให้การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับนำมาทำในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมี 250 ส.ว. นั่งร่วมอยู่ด้วย
เรืองไกรระบุด้วยว่า กรณีดังกล่าวปรากฏชัดเจนในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2559 ระบุชัดเจนว่า ‘การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการแบ่งขั้นตอนของการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน เนื่องจากต้องการให้การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องดำเนินการให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก่อน แต่ไม่ทำ ทั้งที่มีการทักท้วงแล้ว และมีการรวบขั้นตอนไปทำในที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส. + ส.ว.) ซึ่งมีหลักฐานคือบันทึกการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและบันทึกการประชุมรัฐสภา
เรืองไกรกล่าวด้วยว่า วันนี้จึงมายื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำของ ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา กรณีการเสนอชื่อและให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้การให้ความเห็นชอบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นโมฆะด้วยหรือไม่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า