วันนี้ (25 สิงหาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ตนส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, รองประธานกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งควรเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่ และตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแพทองธารยังเป็นกรรมการทั้ง 3 แห่งอยู่หรือไม่
เรืองไกรกล่าวว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้ มีข่าวปรากฏทั่วไปตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 แต่ต้องรอให้พ้น 30 วันก่อน รวมทั้งให้เลยกำหนดการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ เพื่อให้นำเอกสารหรือพยานหลักฐานทางบัญชีและแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรวจสอบได้ ข้อเท็จจริงบางส่วนนำมาจากข่าวของเว็บไซต์มติชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 หัวข้อ ‘ทักษิณ ยกครอบครัว เที่ยวแรนโชชาญวีร์ รีสอร์ทหรู ของอนุทิน จับไมค์ร้องเพลงชื่นมื่น’ และของเว็บไซต์ประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 หัวข้อ ‘อนุทิน ลั่น ก๊วนกอล์ฟเขาใหญ่ ไม่มีการเมือง-ไม่ลับๆ ล่อๆ เผย ทักษิณ แต้มเยอะสุด’
เรืองไกรกล่าวว่า พ.ร.ป. ป.ป.ช. มาตรา 128 วรรคหนึ่ง ส่วนแรก บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย…”
เรืองไกรกล่าวว่า บทบัญญัติในมาตรา 128 ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะรับเป็นจำนวนเท่าใดก็ห้ามมิให้รับ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2558 ที่วินิจฉัยไว้บางส่วนว่า “เจ้าพนักงานตำรวจรับค่าเบี้ยเลี้ยงในการเดินทาง ค่าอาหารกินอยู่บนเรือวันละ 500 บาทต่อคนต่อวัน เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149”
เรืองไกรกล่าวว่า ข้อเท็จจริงตามข่าวดังกล่าว ซึ่งมีภาพการตีกอล์ฟร่วมกันหลายคน มีทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่นที่เป็นข้าราชการ ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง สารัชถ์ รัตนาวะดี ด้วย และยังร่วมรับประทานอาหารและร้องเพลง ซึ่งมีแพทองธารรวมอยู่ด้วย
จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า การตีกอล์ฟดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ใด มีการจ่ายค่ากรีนฟี แคดดี้ฟี ค่ารถกอล์ฟ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นจำนวนเท่าใด ใครเป็นผู้จ่าย ทั้งนี้ ควรสอบปากคำบุคคลตามภาพ เช่น สารัชถ์ รัตนาวะดี ประกอบด้วย สำหรับการรับประทานอาหารและร้องเพลงก็ควรตรวจสอบว่าเกิดขึ้นวันที่ใด มีการจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มเท่าใด ใครจ่าย และยังมีเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 128 อีกหรือไม่
เรืองไกรกล่าวอีกว่า ตามข้อเท็จจริงในข่าวที่ระบุว่า แรนโชชาญวีร์ รีสอร์ตหรูของอนุทิน เมื่อไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ อนุทิน ชาญวีรกูล กลับไม่พบข้อมูลของแรนโชชาญวีร์แต่อย่างใด แต่เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติ จึงควรตรวจสอบเพิ่มเติมจากอนุทินว่า แรนโชชาญวีร์เป็นของใคร และผู้ที่โพสต์ว่า แรนโชชาญวีร์ รีสอร์ตหรู เป็นของอนุทิน ในสื่อสังคมออนไลน์นั้น จะเข้าข่ายนำข้อมูลเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่
เรืองไกรสรุปว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 128 กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบแพทองธาร ซึ่งควรถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามมาตรา 4 ว่ามีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามข้อเท็จจริงดังกล่าว อันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 128 หรือไม่ และตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันแพทองธารยังเป็นกรรมการทั้ง 3 แห่งอยู่หรือไม่