×

ผู้ร่วมก่อตั้งรวมไทย ยูไนเต็ด เสนอทำประชามติ กรณีมาตรา 112 ชี้เป็นทางออกตามวิถีประชาธิปไตย

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2021
  • LOADING...
วรนัยน์ วาณิชกะ

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) วรนัยน์ วาณิชกะ หรือ โก้ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรวมไทย ยูไนเต็ด ซึ่งได้มีการเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการก่อตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไ้ด้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการเสนอยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เมื่อสังคมเข้าสู่ทางตันในประเด็นมาตรา 112 ทางออกคือการทำประชามติในกระบวนการประชาธิปไตย ทางตันเพราะเราหากินบนความแตกแยก มีกลุ่มประชาชนที่ต้องการแก้ไข ยกเลิก และปกป้องมาตรา 112 ทุกกลุ่มเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเหมือนตน มีการใช้มาตรา 112 เพื่อข่มเหง กลั่นแกล้ง และปิดปากประชาชน มีนักการเมืองที่ห้อยโหน เพื่อหากิน หาเสียง เรียกไลก์ เรียกแชร์ บนความแตกแยกของสังคม

 

วรนัยน์ระบุอีกว่า สำหรับทางออก เมื่อประชาชนมีมติ สังคมย่อมขับเคลื่อนต่อไปได้ ทุกปัญหาในสังคมประชาธิปไตยมีทางออก นั่นคือการทำประชามติ เพราะในระบบประชาธิปไตยอํานาจอยู่ในมือของประชาชน

 

ปี 1999 ออสเตรเลียทำประชามติในประเด็นเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จากระบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขเข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐ วันนี้ประมุขของออสเตรเลียยังคงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปี 1995 รัฐควิเบกทำประชามติแยกดินแดนจากแคนาดา เพื่อเป็นประเทศเอกราช วันนี้ไม่มีประเทศควิเบกมีแต่รัฐควิเบก ปี 2014 สกอตแลนด์ทำประชามติแยกประเทศจากสหราชอาณาจักร วันนี้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังคงเป็นประมุขของสกอตแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ทำประชามติแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับกฎหมายในสถานการณ์โควิด

 

วรนัยน์ระบุด้วยว่า ประชามติคือทางออก การยกความคิดส่วนตัว ใช้อำนาจของคนส่วนน้อยหรือกระบอกปืนมาครอบงำ คือทางตันของสังคม หน้าที่นักการเมืองคือสนองมติของประชาชน ในฐานะนักการเมืองที่มีอายุในการทําการเมืองไม่ถึงเดือน ตนขออนุญาตแนะนํานักการเมืองทุกท่านที่นั่งอยู่ในสภาฯ ความรู้สึกของคุณที่มีต่อสถาบันฯ ไม่ว่าจะบวกหรือลบ มันคือความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจระหว่างคุณกับสถาบันฯ กฎหมายในรัฐธรรมนูญมาจากภาคประชาชน คนที่เลือกคุณเข้ามาและจ่ายเงินเดือนคุณคือประชาชน หน้าที่ของคุณคือรับใช้ประชาชน การทำประชามติคือทางออกของกระบวนการประชาธิปไตยที่ยึดโยงต่อประชาชน

 

“ไม่ว่าผลจะออกมาว่าห้ามแตะ ยกเลิก หรือแก้ และแก้อย่างไร นั่นคือมติของประชาชน หน้าที่ของสภาคือสนองมติของประชาชน เมื่อประชาชนมีมติ ผู้แทนประชาชนสนองมติ สังคมย่อมขับเคลื่อนต่อไปได้” วรนัยน์กล่าวในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising