×

ม.รังสิต เปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ พบสารสกัดช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2019
  • LOADING...

มหาวิทยาลัยรังสิตแถลงข่าวเปิดตัวสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์เป็นแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อขยายขอบเขตการศึกษาวิจัยกัญชาให้กว้างขึ้น พร้อมเปิดตัว 4 นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา

 

วานนี้ (23 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยนักวิจัยของมหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัวสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ และเปิดเผยผลการวิจัยสาร CBN (Cannabinol) และ THC (Tetrahydrocannabinol) ที่สกัดจากกัญชา มีคุณสมบัติสามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดได้ในขั้นหนูทดลอง พร้อมกับเปิดตัว 4 นวัตกรรมต้นแบบ ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์สำหรับฉีดพ่นในช่องปาก

 

ดร.อาทิตย์กล่าวว่ามหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้ริเริ่มคิดนอกกรอบในการนำกัญชามาวิจัยตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ในสมัยที่กัญชายังไม่เป็นที่พูดถึงมากนักในสังคมไทย เพราะเล็งเห็นว่ากัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกัญชาในการรักษาโรคหลายชนิด และเป็นทรัพยากรของคนไทยที่ควรหวงแหนไว้ใช้ประโยชน์ โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยรังสิตมีนักวิจัยในเรื่องนี้กว่า 40 คน ใช้เงินลงทุนกว่า 40 ล้านบาทในการจัดหาเครื่องมือวิจัยที่ทันสมัยจนสามารถสกัดสารจากกัญชาได้เป็นที่แรกและผลิตตำรับยาออกมาได้หลายตำรับ อีกทั้งยังสามารถขออนุญาตเพาะปลูกกัญชาและทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นที่แรกในประเทศไทยอีกด้วย

 

ดร.อาทิตย์ยังได้ฝากถึงหน่วยงานรัฐและข้าราชการผู้มีอำนาจให้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน อย่าผูกขาดผลประโยชน์เฉพาะตัวหรือเอื้อต่อนายทุน เพราะมหาวิทยาลัยรังสิตต้องการที่จะปฏิวัติกัญชาในทุกด้าน และเชื่อว่ากัญชามีคุณประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย

 

สำหรับผลการวิจัยสารสกัดบริสุทธิ์จากกัญชา ได้แก่ CBN และ THC ที่สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดได้ในขั้นหนูทดลองและถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญนั้น ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่าทีมวิจัยเลือกศึกษามะเร็งปอด เพราะเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและมีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด โดยทีมวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบสารสกัดจากกัญชา 3 ชนิด ได้แก่ THC, CBD (Cannabidiol) และ CBN ในความเข้มข้นที่ต่างกัน และวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งภายหลังจากที่เติมสารต่างๆ ไปแล้ว 24 ชั่วโมงในหลอดทดลอง พบว่าตัวอย่างที่เติมสาร THC และ CBN ไปมีเซลล์มะเร็งรอดเพียง 20-30% ส่วนตัวอย่างที่เติมสาร CBD ไปมีเซลล์มะเร็งเหลือรอดถึง 75%

 

ดังนั้นทีมวิจัยจึงเลือกนำเฉพาะสาร THC และ CBN ไปศึกษาต่อกับหนูทดลอง โดยการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ไปยังหนูและเลี้ยงเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์จนเกิดเป็นก้อนมะเร็งขึ้นที่ตัวหนู ก่อนที่จะแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมที่ได้รับการฉีดน้ำเกลือ กลุ่มที่ได้รับการฉีดสาร THC และกลุ่มที่ได้รับการฉีดสาร CBN โดยหนูจะได้รับการฉีดสารต่างๆ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ พบว่าอัตราการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งที่เกิดขึ้นในหนูที่ได้รับสาร THC และ CBN นั้นต่ำกว่าและคงที่ ขณะที่หนูกลุ่มควบคุมนั้นโตขึ้น จึงสามารถสรุปได้ว่าสารทั้งสองชนิดสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

 

ในส่วนของนวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา ภก.เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัยยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา กล่าวว่าการวิจัยดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากคุณสมบัติของสารสกัดกัญชาที่สามารถดูดซึมได้ทางเยื่อบุช่องปากโดยไม่ต้องรับประทาน ซึ่งยาเม็ดเวเฟอร์มีลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างเปราะบางและมีรูพรุนคล้ายขนมเวเฟอร์ จึงทำให้สามารถแตกตัว ดูดซึม ออกฤทธิ์ในช่องปากได้เร็ว และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืน

 

ด้าน ผศ.ภญ.สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค ผู้วิจัยน้ำมันกัญชา กล่าวว่าการวิจัยควบคุมคุณภาพของน้ำมันกัญชาเป็นการควบคุมปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ THC, CBD และ CBN ให้มีความถูกต้องแน่นอนเพื่อประสิทธิผลในการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อน โลหะหนัก และความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย ซึ่งแตกต่างกับน้ำมันกัญชาที่มีการลักลอบใช้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีมาตรฐานและมีราคาแพง โดยน้ำมันกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น กระตุ้นความอยากอาหาร ลดการอักเสบของปลายประสาท และช่วยให้นอนหลับ

 

ด้าน ภญ.อภิรดา สุคนพันธ์ ผู้วิจัยแคนนาบินอลสเปรย์สำหรับฉีดพ่นในช่องปาก กล่าวว่าการวิจัยดังกล่าวต้องการที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสาร CBN และ THC ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเครียดสามารถคลายความวิตกกังวลและมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น จึงเกิดเป็นสเปรย์สำหรับฉีดพ่นในช่องปาก เพราะมีความสะดวกในการใช้งานและสามารถดูดซึมได้เร็วผ่านทางเยื่อบุช่องปาก แต่ปัญหาในการวิจัยคือการนำสาร CBN และ THC ที่มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำไปรวมกับตำรับยาที่ละลายน้ำได้ ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการใช้อนุภาคลิโปโซมที่สามารถกักเก็บตัวยาทั้งที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำได้ในตัว

 

ด้าน ภก.ณฐวรรธน์ จันคณา ผู้วิจัยตำรับยาไทยประสะกัญชา กล่าวว่าการวิจัยดังกล่าวต้องการที่จะจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของยาแผนไทยที่มีส่วนประกอบของกัญชาที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาเพื่อสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย โดยทีมวิจัยได้เลือกนำตำรับประสะกัญชาที่มีส่วนประกอบของกัญชามากถึง 50% ที่อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์จากสมัยรัชกาลที่ 5 มาทำการควบคุมคุณภาพส่วนประกอบที่เป็นสมุนไพรต่างๆ ให้มีความสม่ำเสมอและปลอดภัยต่อการนำไปใช้ตามหลักสากล โดยตำรับยาดังกล่าวมีคุณสมบัติในการชูกำลัง กระตุ้นการเจริญอาหาร และช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X