“จากสูญถึงสิบ คือซีรีส์ที่โรซ่าเป็นผู้สนับสนุน แต่ไม่เคยได้รับบรีฟเรื่องจุดแข็งของสินค้า โลโก้ขนาดเท่าไร ต้องเห็นขวดโรซ่ากี่ฉาก ในฐานะคนทำนี่เป็นซีรีส์ที่เราอยากทำมาก แต่ไม่มีแบรนด์ไหนสนใจ”
“หรือต้องบอกว่าไม่มีใครกล้าทำแบบนี้ดีกว่า (หัวเราะ)”
จากสูญถึงสิบ คือซีรีส์ความยาว 4 ตอน ที่โรซ่า และทีวี ธันเดอร์ จับมือเป็นพาร์ตเนอร์ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานขับเคลื่อนสังคมผ่านเรื่องราวบนโต๊ะอาหาร บนพื้นฐานความเชื่อ ‘ถ้าครอบครัวแข็งแรง สังคมก็แข็งแรง’ ผ่าน Brand Attitude ของโรซ่าที่ว่า ‘เชื่อมรสชาติความสุขของครอบครัว’
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ สุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และ จารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิต บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อถอดรหัส ‘สูตรรสชาติ’ แห่งความสุข แล้วชวนทุกคนไปรับชมเรื่องราวและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แสนธรรมดา แต่มีจุดร่วมที่ทุกคนสัมผัสได้
และลองเล่นเกมสนุกๆ ช่วยกันนับว่าตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะมองเห็นขวดโรซ่าอยู่บนโต๊ะอาหารกี่ครั้ง!
50 ปี โรซ่า มากกว่าการเฉลิมฉลอง คือการทบทวนตัวเอง
สุวิทย์: โรซ่าเป็นแบรนด์หนึ่งที่ผ่านการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานมา 50 ปี แต่เราคุยกันว่าเรื่องพวกนี้เอาไว้คุยกันในบริษัท เล่าให้พนักงานฟังให้เขาภูมิใจว่าอยู่ในบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเราจะเดินต่อไปด้วยกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือการกลับมาทบทวนตัวเองว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ก่อนหน้านี้เราทำแคมเปญ Product Attribute มาเยอะ ตั้งแต่บอกว่าเป็นเจ้าแรกที่ปลูกมะเขือเทศในเมืองไทย, พัฒนาซอสมะเขือเทศที่เทยากมาเป็นใส่ขวดบีบได้ปลอดภัย, เป็นเจ้าแรกที่ทำปลากระป๋องแบบมีฝาเปิดได้, เป็นเจ้าแรกที่เอาผักกาดดองมาใส่ในซองฉีกกินได้เลย เราพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายในช่วง 50 ปี แต่ถามว่าพอไหม ผมบอกได้เลยว่าไม่พอ
เรื่องหนึ่งที่เราต้องเริ่มทำจริงๆ คือการพูดถึงแอตติจูดของแบรนด์ หรือสิ่งที่เราจะยืนหยัดเพื่อสิ่งนี้ตลอดไป ซึ่งผมพูดกับพนักงานเสมอว่า จะทำอาหารอะไรให้คนกิน เราต้องภูมิใจที่จะกินมันก่อน ทุกบาททุกสตางค์ที่ผู้บริโภคจ่ายต้องคุ้มค่ากับสิ่งที่เขาได้รับ เราเลยนึกถึงคำว่า Family Food เราจะเข้าไปอยู่ในมื้ออาหารของครอบครัว เวลาเดินไปในบ้านต้องมีโรซ่าอยู่ในนั้น
คำถามต่อมาคือ เราจะเข้าไปในบ้านเขาทำไม เราเข้าไปเพราะเชื่อว่าเราสามารถเชื่อมรสชาติความสุขครอบครัวเขาได้ เราเข้าไปในบ้านเพื่อทำให้เขามีความสุข ซึ่งความสุขเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร
เราทำงานวิจัยร่วมกับกรมสุขภาพจิต พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การกินอาหารร่วมกันในบ้านคือกิจกรรมที่แต่ละคนทำร่วมกันมากที่สุดถึง 95.67% คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 24.62 ครั้งต่อเดือน มันมีข้อมูลที่ซัพพอร์ตความเชื่อของเราว่า เมื่อไรที่ครอบครัวแข็งแรง สังคมก็จะแข็งแรงตามไปด้วย
พอเอาทุกอย่างมารวมกัน บวกกับผมเป็นหนึ่งคนที่ชอบดูซีรีส์แล้วเชื่อเหมือนหลายคนว่าทีมงานคนไทยมีคุณภาพสามารถสร้างผลงานดีๆ ที่ทำให้สังคมแข็งแรงออกมาได้ แล้วให้โรซ่าเป็นพลเมืองเล็กๆ ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้บ้าง แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ก็ยังดี ก็เลยเกิดเป็นซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมา
จารุพร: ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพจะคล้ายๆ ยุคเรเนสซองส์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14) ที่พ่อค้า คหบดี เศรษฐี ฯลฯ เป็นคนเข้ามาสนับสนุนให้งานศิลปะงอกเงย วันนี้ถึงจุดที่แบรนด์ลงทุนกับเรา ช่วยกันสร้างซีรีส์ต้นทุนเกินสิบล้าน เพื่อสร้างซีรีส์ที่ถ้าเราเอาไปเสนอตามปกติจะไม่มีคนตอบรับ
สิ่งที่คุณสุวิทย์และแบรนด์โรซ่าทำตลอดการทำงานคือ ไม่เคยบรีฟเรื่องคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ ไม่เคยบอกว่าต้องเห็นขวดบนโต๊ะอาหารกี่ฉาก โลโก้ควรขนาดเท่าไร ทุกวันนี้ยังไม่ได้ส่งไฟล์โลโก้มาให้เลยด้วยซ้ำ (หัวเราะ) ไม่มีบอกว่าสูตรเด็ดคืออะไร ดีกว่าแบรนด์อื่นอย่างไร พูดแค่เรื่องเดียวคือความเชื่อและทัศนคติของแบรนด์ มันเป็นกลยุทธ์การทำซีรีส์ที่เลยจุดนั้นไปแล้ว ซึ่งเราอยากทำแบบนี้มาก แต่ไม่มีแบรนด์ไหนสนใจ
สุวิทย์: “หรือต้องบอกว่าไม่มีใครกล้าทำแบบนี้ดีกว่า (หัวเราะ)” ผมรู้สึกสนใจซีรีส์เรื่องนี้ ตรงที่มันไม่ใช่การสนับสนุนของแบรนด์ที่เรียกว่า Product Tie-in แต่มองว่าเป็นงานแบบ Attitude Tie-in ที่อยากให้คนรู้จักตัวตนของแบรนด์จริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวสินค้า
Contemporary Drama เรื่องเล่าที่จับใจและเชื่อมโยงชีวิตผู้คน
จารุพร: มีประเด็นที่ทีวี ธันเดอร์ อยากพัฒนามากๆ คือ Contemporary Drama การพูดถึงมิติต่างๆ ในสังคมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เมื่อบริบทเมืองเปลี่ยนไป ความเป็นซีรีส์ก็ควรเปลี่ยนไปเหมือนกัน แล้วเราก็คิดกันอยู่เสมอว่าทำไมซีรีส์ไทยทำอย่างอื่นไม่ได้ ทำไมบางเรื่องรีเมกแล้วรีเมกอีก ทั้งที่มีประเด็นให้เล่าเยอะมากๆ
โดยเฉพาะเรื่องครอบครัวที่มีมิติเยอะมาก แต่เรามักจะพูดอยู่แค่ 2 ฝั่ง คือดีมากๆ ครอบครัวอบอุ่น กับฝั่งที่ครอบครัวต้องแตกหัก ชีวิตรันทดมากๆ ซึ่งบางครั้งมันอาจจะไม่สัมพันธ์กับชีวิตคนดู เพราะคนดูก็ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมแบบนั้นเสมอไป ทำไมไม่ลองทำซีรีส์ครอบครัวที่มีปัญหาประมาณหนึ่ง มีชีวิตประมาณหนึ่ง ที่เราสามารถพบเจอได้ทั่วไป ให้คนดูรู้สึกว่านี่ล่ะคือสิ่งที่ตัวฉันเจอเหมือนกัน
จากสูญถึงสิบ เลยเลือกเล่าเรื่องครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว นำเสนอเรื่องความสมบูรณ์แบบที่ไม่สมบูรณ์แบบ เราใช้คำว่า Imperfectly Perfect ที่เล่าเรื่องคนธรรมดา ครอบครัวกลางๆ ไม่ต้องเป็นฮีโร่ ไม่ต้องเพอร์เฟกต์หรือล้มเหลวแตกหัก แต่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้
เหมือนที่คุณสุวิทย์บอกว่าอยากให้โรซ่ามีประโยชน์กับสังคม นี่คือความพยายามให้สังคมมีคอนเทนต์ที่ดี หวังว่ามันจะสัมผัสหัวใจผู้คน สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้เขามีกำลังใจ มีความหวัง มีทางเลือก รู้สึกว่า เฮ้ย ชีวิตมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ไปจนถึงความรู้สึกว่า ดูแล้วมันเติมเต็มจิตใจ ฉันอยากเป็นคนดี หนังหรือซีรีส์มันมีพลังชี้นำคนได้ขนาดนั้น เหมือนที่เราเห็นตัวอย่างจากซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่อง
จากสูญถึงสิบ, เท็น, แปลน, โรซ่า ‘มีของ แต่ถ่อมตน’
จารุพร: ซีรีส์เรื่องนี้เลยเล่าผ่านตัวละคร เท็น (แปลน-รัฐวิทย์ กิจวรลักษณ์) เด็กมัธยมธรรมดาที่แม่เสียชีวิตเลยต้องอยู่กับพ่อ ชอบเตะฟุตบอล มีความฝันเหมือนเด็กทั่วไป แล้ววันหนึ่งพ่อก็ตาย ยืนงงอยู่ในดงพวงหรีดได้สักพัก ชีวิตก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้า โดยไปอยู่กับครอบครัวเพื่อนสนิทของพ่อ 3 คน
แน่นอนว่าเท็นรู้สึกเสียใจที่พ่อตาย แต่ไม่ได้รู้สึกเศร้าขนาดนั้น แล้วเท็นไม่ได้ทำให้ชีวิตมีปัญหา แล้วเป็นเท็นนี่ล่ะที่ไปเปิดบทสนทนาในแต่ละบ้านให้เห็นทางออกของการแก้ปัญหา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พ่อสอนมาทั้งหมด ซึ่งพ่อก็เป็นคนธรรมดานะ ไม่ใช่ฮีโร่เลย ไปงานโรงเรียนก็สาย แต่สิ่งที่คนธรรมดาคนนี้มีคือเขาคุยกับลูกอยู่ตลอด
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเท็นกำลังส่งข้อความบอกคนดูว่า เราทำอะไร หรือใช้ชีวิตกับลูกอย่างไรในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกอยู่ได้ไหมถ้าวันหนึ่งเราจากไป ซึ่งเท็นอยู่ได้ อยู่ได้ดีด้วย
สุวิทย์: บุคลิกของเท็นกับโรซ่าแมตช์กันมากๆ เพราะอย่างที่บอกว่าโจทย์ของเราคือ เชื่อมรสชาติความสุขของครอบครัว ซึ่งความสุขของเท็นคือ เข้าไปอยู่ในบ้านแล้วช่วยแก้ปัญหา ความสุขของโรซ่าอยู่บนโต๊ะอาหาร ไปอยู่บ้านไหนก็อยากทำให้บ้านนั้นมีความสุข
ความคล้ายกันอีกอย่าง คือ ช่วงที่พ่อตายเท็นก็เหมือนกลับไปอยู่ที่จุด ‘สูญ’ โรซ่าก็เคยล้มละลาย นั่นก็ ‘สูญ’ จริงๆ แต่เราก้าวขึ้นมาได้เพราะอะไร เพราะทัศนคติที่ว่าเราสามารถทำได้ ซึ่งเท็นมีความเชื่อตรงนี้สูงมาก ซึ่งเขาได้สิ่งนี้มาจากพ่อ มาจากครอบครัวที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ แต่ความไม่เพอร์เฟกต์มันเป็นต้นทุนที่ปลูกฝังให้เด็กต่อยอดในอนาคต ให้เขาเติบโตมาพร้อมกับทัศนคติที่แข็งแรง ดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคมแบบมีความสุขได้
อีกเรื่องที่สำคัญคือ บุคลิกของเท็น และนักแสดงอย่างแปลนที่มารับบท ผมใช้คำว่า มีของ แต่ถ่อมตน ซึ่งเป็น Brand Personality ของโรซ่าเหมือนกัน เราบอกได้ว่าเรามีของ เพราะไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถอยู่ได้ถึง 50 ปี ซึ่งของของเราคือความชำนาญในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการของครัวเรือนไทย ขณะเดียวกันเราก็อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งตรงกับบุคลิกของเท็นมากๆ ผมยังคุยกับทีวี ธันเดอร์ อยู่เลยว่า ถ้าสร้างซีรีส์ภาคต่อ เท็นก็ต้องยังต้องเป็นแกนกลาง แล้วนักแสดงก็ต้องเป็นแปลนเหมือนเดิม
นานแค่ไหนแล้วนะ ที่เราไม่ได้ล้อมวงกินข้าวด้วยกัน?
จารุพร: เวลาพูดถึงความสำเร็จของชิ้นงาน ส่วนหนึ่งมาจากฟีดแบ็กและเอนเกจเมนต์ในโซเชียลมีเดีย จากสูญถึงสิบ ติดเทรนด์ Twitter อันดับท็อป 3 ตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างซีรีส์ ซึ่งจริงอยู่ว่าเรามีแปลนที่มีฐานแฟนคลับติดตามอยู่ แต่หลังจากซีรีส์ออนแอร์ไป 2 อีพี มีฟีดแบ็กที่ไม่ได้พูดถึงแค่นักแสดง แต่พูดถึงเมสเสจของซีรีส์ที่เราอยากจะสื่อ ซึ่งทั้งหมดมันแทบจะตรงกับวัตถุประสงค์ของซีรีส์ที่เราตั้งใจเอาไว้ทั้งหมดเลย
ตั้งแต่เรื่องบนโต๊ะอาหารที่ทำให้บางคนนึกขึ้นมาได้ว่า นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้ทำอาหารกินเอง นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้นั่งล้อมวงกินข้าวกับที่บ้าน บางคนบอกว่าดูแล้วอยากกินเฟรนช์ฟรายส์ สงสัยครั้งหน้าต้องเตรียมอาหารเอาไว้ด้วย เพราะดูไปหิวไป (หัวเราะ) บางคนน้ำตาซึมตอนได้เห็นฉากกินข้าวบนโต๊ะอาหารก็มี
ไปจนถึงเรื่องความรู้สึกที่บอกว่าดูเรื่องนี้แล้วช่วยปลดล็อกความรู้สึกหลายๆ อย่างกับครอบครัว บางคนบอกว่าเรื่องนี้อาจทำให้เข้มแข็งขึ้นจากสิ่งต่างๆ ที่เจอ บางคนมาแชร์ว่าถึงครอบครัวเราไม่อบอุ่นแต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
บางคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเท็นว่า ถึงจะเป็นผู้สูญเสีย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เราล้มเหลว หรือทำให้คนรอบข้างได้พลังลบ บางคนเชื่อว่าแต่ละคนมีปัญหาของตัวเอง แต่เพราะเท็นคือครอบครัว ทุกคนเลยอยากดูแลให้เด็กคนนี้เติบโตมาอย่างดีที่สุด
รวมถึงบางคนที่บอกว่า ต้องขอบคุณที่ผลิตซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมาให้ได้ดู ทั้งที่ปกติเขาไม่ดูละครไทย แต่อยากติดตามเรื่องนี้ต่อไป เป็นเสียงสะท้อนว่าเขาสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของคนทำงาน และสะท้อนกลับไปที่แบรนด์โรซ่าที่เป็นผู้สนับสนุน
เพราะฉะนั้นที่คุณสุวิทย์บอกว่า โรซ่าเชื่อมความสุขของครอบครัว จริงๆ มันไม่ได้เชื่อมแค่เอาขวดมาวางบนโต๊ะแล้วกินข้าวร่วมกัน แต่เป็นการที่วันนี้โรซ่ามาสร้างซีรีส์เรื่องหนึ่ง แล้วมันช่วยฮีลใจผู้คน อันนี้ล่ะที่เชื่อมความสุขของคนจริงๆ แล้วผลทั้งหมดมันจะกลับไปที่ตัวสินค้าและแบรนด์โดยไม่ต้องสงสัยเลย
สุวิทย์: ในแง่การชี้วัดความสำเร็จ ผมอยากให้ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จมากๆ ไม่ใช่เพราะคนจะได้ซื้อโรซ่าเยอะขึ้น แต่ผมคิดว่ามันจะสร้าง New Normal ในสังคมไทยขึ้นมาว่า ถ้าโรซ่าที่เป็นแบรนด์ขนาดกลางๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ แล้วซีรีส์ได้รับคำชื่นชม มีคนกล่าวขานถึงมากๆ
มันยังมีประเด็นอีกมากมายในสังคมที่เราเอามาผลิตเป็นซีรีส์น้ำดี คนดูฟีลกู๊ด ให้ความรู้สึกที่ดีต่อสังคม ผมคิดว่ามีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง มีแบรนด์เก่งๆ อีกจำนวนมาก ที่ถ้ามาทำซีรีส์แบบนี้ แล้วทำให้สังคมโดยรวมน่าอยู่ขึ้น ทุกคนแคร์สังคมมากขึ้น ผู้ผลิตก็จะมีงบประมาณสร้างผลงานที่มีคุณภาพออกมาตอบโจทย์ตรงนี้เยอะขึ้นด้วย
รับชมตัวอย่างซีรีส์ จากสูญถึงสิบ ได้ที่
- สามารถรับชมซีรีส์ จากสูญถึงสิบ ทั้ง 4 อีพี ย้อนหลังได้ที่ AIS PLAY