เบื้องหลังถ้วยโถโอชามมากจริตที่เสิร์ฟนักชิมตามโรงแรมใหญ่ หรือร้านอาหารหรูดาวระยิบ ไม่มีใครรู้ว่ามากกว่าครึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จาก รอยัล ปอร์ซเลน (Royal Porcelain) แบรนด์สัญชาติไทยผู้ผลิตเครื่องถ้วยชามเซรามิกคุณภาพสูง และอยู่คู่ตลาดมานานกว่า 34 ปี สามารถตีตลาดแข่งกับแบรนด์อื่นอีก 60 ประเทศทั่วโลก
สำหรับตลาดต่างชาติ รอยัล ปอร์ซเลน ถือเป็นสินค้าคุณภาพที่มีภาพลักษณ์แข็งแกร่ง น่าเลือกซื้อหาจับจ่ายมาใช้ในครัวเรือน แต่ในตลาดบ้านเรา รอยัล ปอร์ซเลนถูกจัดให้อยู่ในหมวดสินค้าล้าสมัย และน้อยนักที่ผู้บริโภคจะเลือกหยิบจับจานชามราคาหลายร้อย (ถึงหลายพัน) ทั้งๆ ที่ความจริง มีจานชามดีไซน์โก้เก๋ให้เลือกสรรมากมาย และเราทุกคนต่างจ่ายเงินเพื่อซื้อถ้วยชาม น้อยครั้งกว่าซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่องเสียอีก
THE STANDARD ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมเยือนถึงถิ่น เปิดประสบการณ์ชมฐานทัพโรงงานผลิตภัณฑ์บนโต๊ะอาหารของรอยัล ปอร์ซเลน ถึง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยมีคุณธนะพงศ์ วามานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท รอยัล ปอร์ซเลน จำกัด (มหาชน) พาทัวร์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ
“ในเรื่องของการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ เราให้ความสำคัญกับรูปทรง ซึ่งส่งผลกับฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก และผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถตอบโจทย์สไตล์ความชอบของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้”
– คุณธนะพงศ์ วามานนท์ กล่าว
‘รอยัล ปอร์ซเลน’ การเดินทางกว่า 34 ปี
กว่าจะกลายเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่เยี่ยงในปัจจุบัน รอยัล ปอร์ซเลน เริ่มก่อร่างสร้างตัวเมื่อปี พ.ศ. 2526 จากโรงงานเล็กๆ ขนาดไม่ใหญ่นักในพื้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พัฒนาขึ้นเป็นบริษัทมหาชนในปี พ.ศ. 2543 ขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศทั่วโลก จนรั้งตำแหน่งผู้ผลิตเครื่องใช้เซรามิกบนโต๊ะอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉกเช่นปัจจุบัน
ที่นี่สามารถผลิตได้ทั้งเครื่องเซรามิกขาว (Whiteware) และเซรามิกประดับตกแต่ง (Decorated Ware) รับทั้งงานขึ้นแบบเอง และตามสั่งจากลูกค้า โดยนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดจากประเทศเยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น
คุณธนะพงศ์อธิบายให้เราฟังว่า ภาชนะเซรามิก แท้จริงแล้วมีหลายระดับ ตั้งแต่ เอิร์ธเทินแวร์ (Earthenware) ที่หยิบจับเอาดินเหนียวมาปั้นขึ้นรูป ประเภทนี้มีรูพรุนและแตกง่าย ป้องกันการดูดซึมน้ำไม่ได้เลย เช่น เครื่องปั้นเดินเผาบ้านเชียงหรือที่ปากเกร็ด จึงไม่เหมาะกับการใส่เป็นภาชนะอาหาร
ถัดมาเป็นแบบ สโตนแวร์ (Stoneware) เครื่องปั้นดินเผาที่พัฒนามาจากเนื้อดินขาวกับหินและทราย เผาในอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนได้เนื้อละเอียด ดูดซึมน้ำได้บ้างเล็กน้อย เช่น เครื่องถ้วยชามสังคโลก
แต่ถ้าซับซ้อนขึ้นไปอีกจะอยู่ในระดับ ปอร์ซเลน (Porcelain) เนื้อผลิตภัณฑ์คล้ายสโตนแวร์ แต่แข็งแกร่งกว่ามาก เนื้อแน่นละเอียด ไม่ดูดซึมน้ำ
สูงสุด คือ โบน ไชนา (Bone China) เครื่องเซรามิกที่พัฒนาขึ้นจากฝั่งยุโรป ด้วยวัตถุดิบพิเศษที่ผสมเถ้ากระดูกวัวลงไปด้วย และด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนกว่า ทำให้ได้เนื้อเซรามิกที่ละเอียดเงางามสีขาวนวล ไม่ดูดซึมน้ำ เบาบางกว่า แต่ยังคงแข็งแกร่ง และแน่นอนว่าราคาสูงกว่าปอร์ซเลนถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ลวดลายทองต่างๆ ที่เราเห็นตามขอบจาน หรือตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้ทองคำบริสุทธิ์แท้ 24 กะรัตประดับตกแต่ง ส่วนสีอื่นๆ ที่ใช้ก็ได้ตามมาตรฐาน ผ่านการทดสอบเป็นที่ยอมรับจากองค์การอาหารและยา (The United States Food and Drug Administration) หรือ FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกาว่าปลอดภัยจากสารตะกั่วและแคดเมียม พร้อมทั้งผ่านทุกมาตรฐานด้านความปลอดภัย ในทุกข้อกำหนดจากสหภาพยุโรป
ปัจจุบัน รอยัล ปอร์ซเลนมีการผลิตภาชนะเซรามิกราว 40 ล้านชิ้นต่อปี และมียอดขายจากต่างประเทศถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และ 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับในประเทศ โดยเป็นเจ้าแรกของประเทศที่ผลิตเซรามิกแบบโบน ไชนาในประเทศไทย และถือเป็นระดับชั้นสูงสุดของผลิตภัณฑ์เซรามิกบนโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิต ปอร์ซเลน จำพวก ฮาร์ด ปอร์ซเลน (Hard Porchelain) ซึ่งเผาด้วยอุณภูมิสูงกว่าปอร์ซเลนทั่วไป และรับเป็นผู้ผลิตเซรามิกให้กับแบรนด์ใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ภายใต้ข้อตกลงแบบ OEM ซึ่งไม่สามารถเผยชื่อฉลากให้ทราบได้
“ในเรื่องของการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ เราให้ความสำคัญกับรูปทรง ซึ่งส่งผลกับฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก และผนวกเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถตอบโจทย์สไตล์ความชอบของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้” – คุณธนะพงศ์ วามานนท์ กล่าว
ผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
จากการทำวิจัยและสำรวจตลาดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของรอยัล ปอร์ซเลนมีทั้งภาพลักษณ์เชิงบวกและเชิงลบ โดยเชิงบวก คือ แบรนด์หรูหรา มีคุณภาพ แต่เชิงลบ คือ ดูแก่และล้าสมัย รอยัล ปอร์ซเลนจึงจัดหมวดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสลัดภาพลักษณ์เดิมๆ ออกไป โดยแบ่งเป็น 4 ตัวหลัก ดังนี้
- Bone China: Let Glamour Define You ประติมากรรมแห่งงานศิลปะชั้นสูง กำหนดทุกนิยามความล้ำค่า
- Porcelain: Simply & Function ที่สุดของความเรียบง่าย และฟังก์ชันการใช้งาน
- Maxadura: The Power of Style เปิดนิยามใหม่ของประสบการณ์บนมื้ออาหาร
- Fine China: Fashion Icon on the Table เปลี่ยนโต๊ะอาหารให้เป็นเวทีแห่งแฟชั่นดีไซน์
ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีความพิเศษและราคาที่แตกต่างกันไปตามรสนิยม การใช้งาน และกลุ่มลูกค้า
นอกจากการเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตกันแบบถึงพริกถึงขิง คุณธนะพงศ์ยังพาเราไปเยี่ยมชมห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ ก่อนจานแต่ละใบจะออกสู่ท้องตลาดได้นั้น ทีมวิจัยจะสุ่มตรวจสภาพสินค้ากันทุกการผลิต ทดลอง ขูด ขีด ด้วยมีด ช้อน ส้อม กันนับสิบ ด้วยเครื่องทดสอบตามมาตรฐาน เมื่อมั่นใจแล้วว่าไม่ผิดพลาด จึงปล่อยออกสู่ท้องตลาด
กิจกรรมตระเวนบุกบ้านในครั้งนี้จบลงด้วยมื้ออาหารค่ำแบบ Chef’s Table โดยหัวหน้าเชฟจากโรงแรม Toscana Valley เป็นเมนูอิตาเลียนจำนวน 4 คอร์ส แน่นอนว่าจัดเสิร์ฟในภาชนะสวยๆ จากรอยัล ปอร์ซเลน ให้ทีมงาน THE STANDARD ได้ทดลองผลิตภัณฑ์จากประสบการณ์จริง ซึ่งก็สมคำอวดอ้าง รูปร่างสวย เบา แต่แข็งแรง และมีรสนิยม
- ‘OEM’ ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer หมายถึง การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด
- ‘รอยัล ปอร์ซเลน’ กำลังจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเดือนกันยายน ซึ่งออกแบบโดยศิลปินระดับโลก คุณธนะพงศ์แอบเผยเล็กๆ ว่า ซีรีส์นี้จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของฟังก์ชันการใช้งานและดีไซน์สร้างสรรค์ ซึ่งจะสมคำอวดอ้างหรือเปล่า ต้องรอดูกัน
- สำหรับใครที่เริ่มสนใจ ‘รอยัล ปอร์ซเลน’ บ้างแล้ว สามารถเลือกซื้อหาได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือตามช็อปที่ระบุใน www.royalporcelain.co.th