วันนี้ (26 กันยายน) พ.อ. วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ออกมาชี้แจงถึงโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธของ ทบ. ว่า ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้กำหนดความต้องการขั้นต่ำไว้จำนวน 31 เครื่อง ซึ่งในปีนั้นจึงได้รับอนุมัติให้จัดหาเข้ามาประจำการเป็นล็อตแรกก่อนจำนวน 8 เครื่อง
สำหรับครั้งนี้จึงเป็นล็อตที่ 2 ตามแผนรวมของการจัดหา ซึ่งได้ขออนุมัติจัดหาอีกจำนวน 8 เครื่อง รวมระบบอาวุธ, เครื่องควบคุมการยิง, กล้องตรวจการณ์, ชิ้นส่วนควบคู่สำหรับซ่อมบำรุง, ชิ้นส่วนซ่อมสำหรับการส่งกำลัง (ASL) เป็นระยะเวลา 2 ปี, รวมถึงการก่อสร้างโรงเก็บอากาศยาน พร้อมด้วยเครื่องช่วยฝึก (Simulator) และหลักสูตรการฝึกอบรมในวงเงิน 4,226 ล้านบาท
สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน กรณีสำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง หรือ Defense Security Cooperation Agency (DSCA) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้แจ้งต่อสภาคองเกรสว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติการขายเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธเบาแบบ AH-6i จำนวน 8 ลำพร้อมอาวุธ อะไหล่ และการสนับสนุนอื่นๆ ให้กับกองทัพบกไทยในมูลค่าโครงการราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวเป็นไปตามกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกา กรณีจะมีการซื้อขายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหารให้กับประเทศอื่น
ส่วนมูลค่ายุทโธปกรณ์ที่สภาฯ สหรัฐฯ กำหนดกรอบอนุมัติไว้จำนวนราว 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นลักษณะเปิดกรอบการจัดหาให้ไทยไว้แบบเต็มระบบ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบอาวุธ
แต่ในแผนการจัดหาครั้งนี้ ทางกองทัพบกไทยต้องการจัดหาใบแบบเฉพาะรายการตามความจำเป็นภายใต้วงเงินประมาณ 4,226 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับการจัดหาเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-6i ระหว่างกองทัพบกไทยและสหรัฐอเมริกานี้ จะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคของทั้งสองประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ AH-6i เป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กมีความคล่องตัวสูง สามารถทำภารกิจได้หลากหลายมิติ ทั้งการลาดตระเวนและสนับสนุนการโจมตีทางอากาศ โดย AH-6i ที่ ทบ. ไทยจัดหา เป็นรุ่นที่พัฒนาขีดความสามารถ สอดรับสภาพแวดล้อมสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นสเปกแบบ US Army ผลิตโดย Boeing โดยจะประจำการที่กรมบินศูนย์การบินทหารบก (Aviation Regiment Aviation Center)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า