หากจะต้องอ้างอิงจากการเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ประชาคมโลกในปัจจุบันประกอบไปด้วย 193 ประเทศ และ 2 ประเทศผู้สังเกตการณ์อย่างนครรัฐวาติกันและปาเลสไตน์ ซึ่งมีรูปแบบการปกครองและการบริหารประเทศแตกต่างกันไป
หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการปกครองพื้นที่ ดินแดน หรือแว่นแคว้นใดแว่นแคว้นหนึ่งนับตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะพัฒนากลายมาเป็นประเทศในปัจจุบันคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งในขณะนี้มีทั้งหมด 27 ราชวงศ์ ปกครองประเทศต่างๆ 42 ประเทศทั่วโลก
โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเป็นพระประมุขของประเทศต่างๆ มากที่สุดถึง 16 ประเทศ ซึ่งนับรวมออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และประเทศที่สร้างแชมป์โลกปอดเหล็กด้านการวิ่งทั้งระยะสั้นและระยะไกลอย่างจาเมกา ซึ่งราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรนี้เพิ่งจะต้อนรับสมาชิกใหม่ของราชวงศ์ไปเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ THE STANDARD จึงได้รวบรวมพระฉายาลักษณ์ของบรรดาเจ้าหญิงและเจ้าชายรัชทายาทพระองค์น้อยจาก 14 ราชวงศ์ทั่วโลก ผู้ที่จะเติบโตขึ้นและมีโอกาสปกครองประเทศ รวมถึงมีอิทธิพลต่อโลกใบนี้ในอนาคต
สามพี่น้องแห่งราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์ (Prince George of Cambridge)
ประสูติ: 22 กรกฎาคม 2013 (4 ชันษา)
พระนามเต็ม: จอร์จ อเล็กซานเดอร์ หลุยส์ (George Alexander Louis)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ของสหราชอาณาจักร ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตในเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าหญิงแคทเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พร้อมทั้งได้รับการขนานพระนามว่าเป็นพระโอรสผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก
Photo: Duchess of Cambridge
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเคมบริดจ์ (Princess Charlotte of Cambridge)
ประสูติ: 2 พฤษภาคม 2015 (3 ชันษา)
พระนามเต็ม: ชาร์ลอตต์ เอลิซาเบธ ไดอานา (Charlotte Elizabeth Diana)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 4 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ทรงเป็นพระธิดาในดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ซึ่งหากพระองค์สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศได้ พระองค์จะทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
เจ้าชายหลุยส์แห่งเคมบริดจ์ (Prince Louis of Cambridge)
ประสูติ: 23 เมษายน 2018
พระนามเต็ม: หลุยส์ อาเธอร์ ชาร์ลส์ (Louis Arthur Charles)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 5 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ทรงเป็นพระโอรสพระองค์น้อยในดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ สมาชิกใหม่ของราชวงศ์วินด์เซอร์ หลังจากที่มีพระประสูติกาล การเรียกขานพระนามของรัชทายาทพระองค์ใหม่ดูจะเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อย ก่อนที่จะมีการชี้แจงให้ออกเสียงว่า ‘/ˈluːi/ LOO-ee’ หรือ ‘ลู-อี’ ในภาษาฝรั่งเศส โดย Louis เป็นหนึ่งในพระนามกลางของทั้งเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายจอร์จแห่งเคมบริดจ์ รวมถึงพระนามต้นของเจ้าชายหลุยส์แห่งบัทเทนแบร์ก อุปราชแห่งอินเดียและเอิร์ลแห่งเมียนมา ผู้เป็นเสด็จปู่ของเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชบัลลังก์อังกฤษอีกด้วย
Photo:web.facebook.com/KingJigmeKhesar
เจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน (Crown Prince Jigme Namgyel Wangchuck)
ประสูติ: 5 กุมภาพันธ์ 2016 (2 ชันษา)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และสมเด็จพระราชินีเจตซุน เพมา วังชุก พระองค์ถูกคาดหมายว่าจะสืบทอดราชบัลลังก์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ต่อจากพระราชบิดา
Photo: www.dailymail.co.uk
เจ้าชายฌัก รัชทายาทแห่งโมนาโก (Prince Jacques, Hereditary Prince of Monaco)
ประสูติ: 10 ธันวาคม 2014 (3 ชันษา)
พระนามเต็ม: ฌัก ออนอเร แรนีเย กรีมัลดี (Jacques Honoré Rainier Grimaldi)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์กรีมัลดีของโมนาโก ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โตในเจ้าชายอาลแบร์ที่ 2 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก และเจ้าหญิงชาร์ลีนแห่งโมนาโก โดยเจ้าชายฌักทรงมีพระขนิษฐาฝาแฝด (น้องสาว) อีกหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงกาเบรียลา เคาน์เตสแห่งการ์ลาแดส (Princess Gabriella, Countess of Carladès) ซึ่งทรงเป็นผู้สืบราชสมบัติลำดับที่ 2 แห่งโมนาโก
Photo: royalcentral.co.uk
เจ้าหญิงเลโอนอร์ เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส (Princess Leonor, Princess of Asturias)
ประสูติ: 31 ตุลาคม 2005 (12 ชันษา)
พระนามเต็ม: เลโอนอร์ เด โตโดส โลส ซานโตส เด บอร์บอน อี ออร์ติซ (Leonor de Todos los Santos de Borbón y Ortiz)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์บูร์บงของสเปน ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปน และสมเด็จพระราชินีเลตีเซียแห่งสเปน
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ (Prince Dipangkorn Rasmijoti)
ประสูติ: 29 เมษายน 2005 (13 ชันษา)
ฐานันดรศักดิ์: พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กับท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี พระองค์ถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีลำดับต่อไปต่อจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ผู้เป็นพระราชบิดา
(พระองค์ขวาสุด)
เจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ (Princesses Catharina-Amalia, Princess of Orange)
ประสูติ: 7 ธันวาคม 2003 (14 ชันษา)
พระนามเต็ม: คาทารีนา-อะมาเลีย เบียทริกซ์ คาร์เมน วิกตอเรีย (Catharina-Amalia Beatrix Carmen Victoria)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาของเนเธอร์แลนด์ ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ โดยเจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลียถูกคาดหมายว่าพระองค์จะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีพระองค์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (ที่ประกอบไปด้วย เนเธอร์แลนด์ อารูบา กือราเซา และเซนต์มาติน) ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ซึ่งเป็นสมเด็จย่าของพระองค์ในอนาคต
(พระองค์ซ้ายสุด)
เจ้าชายมูลัย ฮะซัน มกุฎราชกุมารแห่งโมร็อกโก (Crown Prince Moulay Hassan of Morocco)
ประสูติ: 8 พฤษภาคม 2003 (14 ชันษา)
พระนามเต็ม: ฮะซัน อิบนุ มุฮัมหมัด อเลาอัว (Hassan ibn Mohammed Al-Alaoui)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์อเลาอัว ซึ่งถูกคาดหมายจะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 3 แห่งโมร็อกโก หลังจากที่พระราชบิดาสละราชสมบัติในอนาคต
(พระองค์ที่ 3 จากซ้ายมือ)
เจ้าหญิงเอลีซาแบ็ต ดัชเชสแห่งบราบันต์ (Princess Elisabeth, Duchess of Brabant)
ประสูติ: 25 ตุลาคม 2001 (16 ชันษา)
พระนามเต็ม: เอลีซาแบ็ต เทเรเซีย มาเรีย เฮเลนา (Elisabeth Theresia Maria Helena)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทาของเบลเยียม ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิปแห่งเบลเยียม และสมเด็จพระราชินีมาตีลด์แห่งเบลเยียม โดยพระองค์ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมสายพระโลหิตอีก 3 พระองค์คือ เจ้าชายกาบรีแยล เจ้าชายแอมานุแอล และเจ้าหญิงเอเลออนอร์ รัชทายาทลำดับที่ 2, 3 และ 4 แห่งราชบัลลังก์เบลเยียม
Photo: www.pinterest.com
เจ้าชายเตาฟาอาเฮา มานูมาตาองโก (Prince Taufaʻahau Manumataongo)
ประสูติ: 10 พฤษภาคม 2013 (4 ชันษา)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์ตูโปอูของตองกา ต่อจากเจ้าชายตูโปอูโตอา อูลูกาลาลา มกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบัน ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาของพระองค์
(พระองค์ที่ 2 จากซ้ายมือ)
Photo: royalcentral.co.uk
เจ้าหญิงเอสเตลล์ ดัชเชสแห่งเวสเตร์เยิตลันด์ (Princess Estelle, Duchess of Östergötland)
ประสูติ: 22 กุมภาพันธ์ 2012 (6 ชันษา)
พระนามเต็ม: เอสเตลล์ ซิลเวีย เอวา มารี (Estelle Silvia Ewa Mary)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ของสวีเดน ทรงเป็นพระธิดาพระองค์โตในเจ้าชายดาเนียล ดยุกแห่งเวสเตร์เยิตลันด์ และเจ้าหญิงวิกตอเรีย มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน โดยพระองค์ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดนต่อจากพระมารดาในอนาคต
(พระองค์ขวาสุด)
Photo: mediapermata.com.bn
เจ้าชายอับดุล มุนตากิมแห่งบรูไน (Pengiran Muda Abdul Muntaqim)
ประสูติ: 17 มีนาคม 2007 (11 ชันษา)
พระนามเต็ม: อับดุล มุนตากิม อิบนุ อัลมุห์ตาดี บิลละห์ (Abdul Muntaqim ibn Al-Muhtadee Billah)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์บลกียะห์ของบรูไน ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าชายอัลมุห์ตาดี บิลละห์ มกุฎราชกุมารแห่งบรูไน และเจ้าหญิงซาระห์แห่งบรูไน
Photo: www.pinterest.com
เจ้าชายคริสเตียนแห่งเดนมาร์ก เคานต์แห่งมงเปอซา (Prince Christian of Denmark, Count of Monpezat)
ประสูติ: 15 ตุลาคม 2005 (12 ชันษา)
พระนามเต็ม: คริสเตียน วัลเดมาร์ เฮนรี จอห์น (Christian Valdemar Henri John)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์กลึคส์บูร์กของเดนมาร์ก ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตในเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก และเจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก
(พระองค์ขวา)
Photo: www.newmyroyals.com
เจ้าหญิงอิงกริด อเล็กซานดราแห่งนอร์เวย์ (Princess Ingrid Alexandra of Norway)
ประสูติ: 21 มกราคม 2004 (14 ชันษา)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์กลึคส์บูร์กของนอร์เวย์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์โตในเจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ และเจ้าหญิงเมตเต-มาริต มกุฎราชกุมารีแห่งนอร์เวย์ ภายหลังจากที่มีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 1990 ที่อนุญาตให้บุตรคนโต ไม่ว่าเพศใดก็สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ โดยเจ้าหญิงอิงกริดถูกคาดหมายว่าจะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีพระองค์ที่ 2 ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 ที่ปกครองประเทศในช่วงศตวรรษที่ 15
Photo: www.huffingtonpost.com
เจ้าชายฮิซาฮิโตะ แห่งอากิชิโนะ (Prince Hisahito of Akishino)
ประสูติ: 6 กันยายน 2006 (11 ชันษา)
ฐานันดรศักดิ์: รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์ยามาโตะของญี่ปุ่น ต่อจากเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น (พระปิตุลา: ลุง) และเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอากิชิโนะ ผู้เป็นพระบิดา ซึ่งเจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวของราชวงศ์แห่งดอกเบญจมาศนี้ นับตั้งแต่เจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอากิชิโนะ ประสูติเมื่อปี 1965
อ้างอิง:
- www.thisisinsider.com/royal-children-around-the-world-2017-1/#2-year-old-twins-prince-jacques-and-princess-gabriella-are-first-and-second-in-line-to-lead-the-monarchy-of-monaco-5
- www.bbc.com/news/uk-43922335
- www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2013/07/22/meet-the-worlds-other-25-royal-families/?utm_term=.a2e66b111f37
- www.bbc.com/news/uk-43922335
- บรรดาราชวงศ์ที่ถูกหยิบยกมาทั้งหมดข้างต้นล้วนแต่มีการสืบราชสันตติวงศ์ตามสายพระโลหิต ซึ่งยังมีราชวงศ์อีกจำนวนไม่น้อยที่อาจจะใช้การเลือกตั้ง (Elective) มาเป็นเครื่องชี้วัดบุคคลที่จะขึ้นมาปกครองและบริหารประเทศในอนาคต อาทิ มาเลเซีย เป็นต้น
- ประเทศที่ราชวงศ์ใช้วิธีทั้งทางสายเลือดและการเลือกตั้ง (Hereditary and Elective) กำหนดผู้นำประเทศในอนาคต: กัมพูชา, จอร์แดน, คูเวต, เลโซโท, ซาอุดีอาระเบีย, สวาซิแลนด์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์